"คุกคามทางเพศ" ไทย น่าห่วง ไม่เว้นการเมือง จี้ นักการเมืองกำหนดจริยธรรม

เสวนา ปัญหาคุกคามทางเพศในไทยยังน่าห่วง ก้าวไม่พ้นทัศนคติชายเป็นใหญ่ ปิดปากผู้หญิง นำสู่วงจรคุกคามทุกระดับยันสถาบันทางการเมือง ช่วยเหลือเน้นไกล่เกลี่ย ไม่คืนเป็นธรรม จี้ นักการเมืองกำหนดจริยธรรมให้ชัดเมื่อเกิดปัญหา ตั้งมั่นไม่ใช้อำนาจคุกคามทางเพศ

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยฯ เขตพญาไท มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว และแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถี ได้จัดเสวนาหัวข้อ “คุกคามทางเพศ กับนักการเมือง ผู้นำและอำนาจ”

นางสาวธารารัตน์ ปัญญา นักกิจกรรมทางการเมืองและความเสมอภาคระหว่างเพศ กล่าวว่า การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน และเกิดขึ้นบ่อยมากในสังคมไทย ทั้งในสถานศึกษา สถานที่ทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ไม่เคยมีการให้ความสำคัญในการทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการไกล่เกลี่ย เพื่อให้เรื่องจบลงโดยเร็วที่สุด โดยที่ผู้เสียหายยังไม่รู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมเลย แต่ที่ต้องยอมเพราะเกิดการกดดันจากทั้งผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและสังคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติ การไม่เข้าใจปัญหา หรือสร้างพลังให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแต่อย่างใด แต่ก็ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันในชั้นของพนักงานสอบสวน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ทำให้เหยื่อไม่กล้าที่จะเล่าปัญหาการถูกคุกคามทางเพศให้ฟัง ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ประกอบกับทัศนคติที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้อย่างแท้จริง จึงทำให้การเขียนสำนวนอ่อนหรือมีช่องโหว่ เมื่อส่งไปยังอัยการ อัยการจึงไม่ส่งฟ้อง ทำให้ปัญหาไม่ถูกแก้ไข และยังพบมากในสังคมไทย และผู้เสียหายก็เลือกที่จะเงียบ อย่างไรก็ตาม ขอให้กล้าที่จะออกมาพูด มาบอกเพื่อทวงความยุติธรรมให้กับตนเอง และการส่งเสียงของเราอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่การแก้ไขป้องกัน

...

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องที่มีมานานในสังคมไทย แต่ถูกเพิกเฉยและมองข้ามมาเป็นเวลานาน ทั้งในพื้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและพื้นที่สื่อ เพราะสังคมไทยไม่ได้สอนให้มีการสื่อสารเรื่องเพศ การเคารพในสิทธิเนื้อตัวของผู้อื่นเนื่องจากมองว่า เป็นเรื่องน่าละอาย โดยเฉพาะผู้หญิงหากพูดเรื่องนี้จะถูกมองเป็นหญิงไม่ดี ขณะเดียวกันก็ให้บทบาทและอำนาจกับผู้ชายในการเป็นผู้สื่อสารเรื่องเพศ จัดว่าเป็นการสื่อสารไม่เท่าเทียม ทำให้กลายเป็นทัศนคติชายเป็นใหญ่ รู้แค่ความต้องการของตัวเอง โดยไม่สนการยินยอมของฝ่ายหญิงหรือไม่ นำมาสู่ผลลัพธ์ปลายทางคือการคุกคามทางเพศในพื้นที่ต่างๆ และสะท้อนออกมาผ่านสื่อ เพราะคนทำสื่อก็เติบโตมาจากความคิดเช่นเดียวกันนี้ โดยเฉพาะละคร นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังไม่ค่อยมีการให้เสียงของผู้หญิงในการปฏิเสธอย่างเป็นธรรมชาติ ตัวเลขการคุกคามทางเพศถึงไม่เคยลดลง ดังนั้นการแก้ไข ต้องสร้างการเรียนรู้เรื่องนี้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลให้รู้จักการหวงแหนเนื้อตัวของตัวเอง ไม่ไปละเมิดเนื้อตัวผู้อื่น ซึ่งหากเด็กรู้จักหวงแหนตัวเองตั้งแต่ต้น จะทำให้เขาปฏิเสธผู้ใหญ่ที่จะเข้ามาแตะต้องเนื้อตัว และจะค่อยๆ ช่วยปรับพฤติกรรมของผู้ใหญ่ได้ และเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีการเคารพสิทธิเนื้อตัว และเรื่องทางเพศของผู้อื่นมากขึ้น

“ที่สำคัญความผิดปกติอย่างหนึ่งในสังคมไทย เรามักจะเข้าใจว่าถ้าเรายินยอมไปแล้ว 1 ครั้ง หมายความว่าจะเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะสามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศได้ตลอดไป นี่ก็เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่ต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง ความสัมพันธ์ทางเพศสามารถที่จะบอกความต้องการหรือปฏิเสธได้ตลอดเวลา จะ Yes หรือ No เมื่อไหร่ก็ได้” ดร.ชเนตตี กล่าว

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า กรณีมีร้องเรียนการคุกคามทางเพศโดยผู้มีตำแหน่งทางการเมืองหลายกรณีต่อเนื่องกันในช่วงนี้ สะท้อนว่าสำนึกเรื่องความเป็นธรรมทางเพศของคนในสังคมจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมผู้เสียหายไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวและดำเนินการใดๆ เพราะความอับอายและเกรงกลัวอิทธิพลของผู้กระทำ ทำให้คนที่ทำผิดลอยนวล และมีแนวโน้มจะไปคุกคามเหยื่อรายอื่นอีก แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีสำนึกเรื่องการปกป้องสิทธิตัวเองมากขึ้น ไม่ยอมรับการคุกคามทางเพศ และไม่ยอมนิ่งเงียบอีกต่อไป แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีคนอีกส่วนหนึ่งที่คิดว่า พฤติกรรมคุกคามทางเพศเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องหมาหยอกไก่ ใครๆ ก็ทำกัน ไม่ผิดอะไร พอคนสองกลุ่มนี้มาเจอกัน ปัญหามันก็ปะทุขึ้น ยิ่งเป็นนักการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนมอบความไว้วางใจ ยิ่งต้องถูกตรวจสอบโดยสาธารณะ จะถือเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ได้

“จริงๆ ปัญหาการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นในทุกวงการ พรรคการเมืองอื่นก็มีกรณีแบบนี้ แต่เป็นข่าวบ้าง ไม่เป็นข่าวบ้าง ในกรณีพรรคก้าวไกล พรรคเป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ และพรรคเคยแสดงจุดยืนว่าไม่ยอมรับเรื่องแบบนี้ พอเกิดเรื่องขึ้น คนที่ประสบเหตุเขาก็เห็นเป็นช่องทางที่จะร้องเรียน ถ้าร้องเรียนแล้วรู้สึกว่าไม่ได้รับการตอบสนองที่ดี ก็อาจหันไปเรียกร้องความเป็นธรรมผ่านช่องทางอื่น อย่างโซเชียลมีเดีย ก็จะทำให้ภาพของพรรคยิ่งดูแย่ลง ดังนั้น พรรคก้าวไกล รวมทั้งพรรคการเมืองทุกพรรค บรรดาผู้นำและองค์กรหน่วยงานต่างๆ ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ต้องเร่งสร้างกลไกตอบสนองต่อปัญหาการคุกคามทางเพศอย่างมีประสิทธิภาพ ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของผู้เสียหาย รวดเร็วและเป็นธรรม และต้องทำงานเชิงป้องกันเพื่อให้คนรับรู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนที่เป็นปัญหา ไม่ควรทำ และสร้างสำนึกใหม่เรื่องการเคารพซึ่งกันและกันควบคู่ไปด้วย” ดร.วราภรณ์ กล่าว

นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ปี 2564 พบข่าวความรุนแรงทางเพศถึง 98 ข่าว แบ่งเป็นข่าวข่มขืน 38.8% ความรุนแรงทางเพศในครอบครัว 30.6% ข่าวอนาจาร 11.2% ข่าวการคุกคามทางเพศทางออนไลน์, พูดจาแทะโลม 11.2% ข่าวความรุนแรงทางเพศกรณีชายกระทำต่อชาย 5.1% ข่าวพรากผู้เยาว์ 3.1% สำหรับผู้กระทำคือ คนรู้จักคุ้นเคย เช่น ครู เพื่อนบ้าน อดีตแฟน เพื่อนในวงเหล้า เป็นต้น 46.4% คนในครอบครัว เช่น พ่อเลี้ยง, พ่อกระทำลูก, ลุง เป็นต้น 30.9% บุคคลแปลกหน้า 20.6% และถูกกระทำจากคนรู้จักผ่านโซเชียล 2.1% สำหรับผู้ถูกกระทำมีทั้งหมด 132 ราย อายุ 11-15 ปี 50.5% อายุ 16-20 ปี 16.5% อายุ 21-25 ปี 11.4% อายุ 6-10 ปี 9.3% ทั้งนี้ผู้ถูกกระทำอายุน้อยที่สุด เป็นเด็กหญิงวัย 4 ขวบ ถูกพ่อข่มขืน อายุมากสุดคือ 83 ปี ถูกชายแปลกหน้าข่มขืน ที่สำคัญคือพบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ก่อเหตุถึง 38.3% ยาเสพติด 19.2% อ้างความต้องการทางเพศ 10.6% และพื้นที่ที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ 13.5% ชลบุรีและนครราชสีมา 7.2% เชียงใหม่ 6.2% สมุทรปราการ 5.2%

“ทั้งนี้ คนที่ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งถูกกระทำจากคนรู้จักคุ้นเคย คนในครอบครัว สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำอย่างชัดเจน ภายใต้โครงสร้างสังคมแบบชายเป็นใหญ่ และข้อมูลที่ร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ พบว่าผู้เสียหายถูกกระทำจากครู อาจารย์เพิ่มขึ้น รวมถึงเริ่มถูกคุกคามทางเพศจากผู้นำ นักการเมืองท้องถิ่นด้วย จึงถึงเวลาที่เราควรให้ความสำคัญกับการเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของกันและกัน ทั้งในครอบครัว โรงเรียน องค์กรการเมือง เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ หยุดใช้อำนาจเหนือ และไม่มองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นต้องมีทางเลือกที่เหมาะสมแก่ผู้เสียหาย ไม่กล่าวโทษผู้เสียหาย มีระบบให้คำปรึกษาที่ชัดเจน เป็นมิตร ลดความหวาดกลัว ฟื้นฟูอารมณ์จิตใจ ที่สำคัญการเมืองทุกระดับต้องมีการกำหนดจริยธรรมทางเพศให้ชัดเจน และมีระบบการตรวจสอบเข้มข้น ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะไม่ใช้อำนาจเอาเปรียบทางเพศหรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อผู้อื่น เป็นต้น.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...