‘พิธา’ บรรยายฮาร์วาร์ด ชี้ประชาธิปไตยทั่วโลกถดถอย เสนอออกแบบโครงสร้างใหม่

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2566 ที่สหรัฐอเมริกา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่กำลังเดินสายเยือนสหรัฐอเมริกาอยู่ในขณะนี้ ได้รับเชิญจากศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้เป็นผู้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Moving Forward : Thailand, ASEAN & Beyond” (ก้าวไปข้างหน้า : ประเทศไทย อาเซียน และโลก) ท่ามกลางนักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายจำนวนมาก

นายพิธา เริ่มต้นบรรยายว่า ในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตนเคยนั่งอยู่ตรงนั้นเหมือนทุกคน และสิ่งที่ตนได้รับการศึกษาจากที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการเมืองเปรียบเทียบ พรรคการเมือง ฯลฯ คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จของตน จากการเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในตำราให้เป็นความจริง ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ จากจุดเริ่มต้นที่ตนเคยเป็นเพียงแค่ผู้นำอ่อนหัดของพรรคการเมืองที่มีอายุเพียง 3 ปี ในเกมที่ออกแบบมาเพื่อให้เราแพ้ การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบพิศดาร กติกาในรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นคุณกับเรา แต่เราก็ชนะมาได้ 

ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนกำลังศึกษาอยู่ที่นี่ สามารถกลายเป็นความจริงได้ เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการรณรงค์ทางการเมืองของทุกคนในอนาคตได้ โจทย์ต่างๆ ที่ทุกคนได้รับจากชั้นเรียนที่ฮาร์วาร์ดนี้ ทั้งการเตรียมพาวเวอร์พอยนต์นำเสนอ การประชุมกลุ่ม ฯลฯ ล้วนแต่มีความหมายจริงๆ และวันหนึ่งอาจนำพาให้ทุกคนได้มาเป็นผู้บรรยายที่นี่เหมือนกับตนก็เป็นได้ นี่เป็นเพราะสิ่งที่ตนได้เรียนรู้จากที่ฮาร์วาร์ดนี่เอง ที่ร่วมก่อรูปความคิดและนโยบายการรณรงค์ของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเอาทหารออกจากการเมือง การทลายทุนผูกขาด และการกระจายอำนาจ นโยบายเหล่านี้คือที่มาของชัยชนะของตนและพรรคก้าวไกล แต่ก็เป็นเหตุผลเดียวกันที่ทำให้ตน ที่เป็นผู้ชนะจากการเลือกตั้งปี 2566 ด้วยความเห็นชอบของคน 14.1 ล้านเสียง หรือ 36% ไม่ได้เข้าไปมีอำนาจบริหาร และถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุผลด้านเทคนิค

นี่คือการต่อสู้ระหว่างการเมืองของผู้ได้รับการเลือกตั้งและผู้ได้รับการแต่งตั้ง ในประเทศไทยสมาชิกรัฐสภามีทั้งหมด 750 คน มาจากการเลือกตั้ง 500 คน และมาจากการแต่งตั้งโดยทหาร 250 คน ทุกคนคำนวณได้ว่าเราต้องการ 376 เสียง แต่เราได้เพียง 324 เสียง ทั้งที่เราสามารถรวบรวมเสียงพรรคการเมืองที่สะท้อนเจตจำนงการปฏิรูปและความหวังของประเทศได้สำเร็จแล้ว แต่เราก็ยังแพ้ด้วยตัวเลขจาก สว. แต่งตั้ง 

องค์ประชุมวันนั้นจึงเอาชนะแคนดิเดตนายกที่มาจากการเลือกของประชาชนได้ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่ปรากฏการณ์เฉพาะ แต่กำลังเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่ประชาธิปไตยกำลังถูกคุมคาม และสันติภาพของโลกกำลังเปราะบาง ในปีแรกที่ตนมาถึงที่นี่ในปี 2006 Freedom House เคยออกผลสำรวจพบว่าประชากร 48% ของโลกอยู่ในสังคมเสรี แต่ตัวเลขวันนี้ตกมาอยู่ที่ 20% แล้ว นี่คือสิ่งที่สะท้อนสภาวะถดถอยของประชาธิปไตย ซึ่งแม้แต่ในประเทศที่ประชาธิปไตยตั้งมั่นที่สุดแล้ว ก็กำลังเผชิญกับการลดน้อยถอยลงเช่นกัน
    
“เหตุใดประชาธิปไตยจึงถดถอยทั่วโลก สำหรับผมแล้วต้นตอของเรื่องนี้ย้อนกลับไปในยุคสงครามเย็น ระหว่างที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันมันก็นำพามาซึ่งโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม-เสรีนิยมใหม่ ที่เป็นการรวมศูนย์ความมั่งคั่งไว้ที่คนหมู่น้อย ในเวลาที่เกิดมาความห่างระหว่างผู้มั่งคั่ง 1% บนสุดของโลกกับที่เหลือ ห่างกัน 8 เท่า วันนี้ความห่างนั้นถ่างไปถึง 16 เท่าแล้ว เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่ 1% ของผู้ที่มั่งคั่งที่สุดในสังคมไทย กำลังครอบครองความมั่งคั่ง 60% ของทั้งประเทศอยู่” นายพิธา กล่าว

ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากตั้งคำถามกับประชาธิปไตย ขณะที่ประชาธิปไตยคือการจัดสรรอำนาจอย่างเป็นธรรม แต่ในขณะเดียวกันมันก็นำพามาซึ่งโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่รวมศูนย์ความมั่งคั่ง และต่อมากลายเป็นสิ่งที่ซ้ำเติมให้เกิดความล่มสลายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดคือหลังวิกฤติโควิด

“โจทย์สำคัญจากนี้ คือเราจำทะอย่างไรเพื่อรักษาโครงสร้างสังคม ที่ทั้งสามารถจัดสรรอำนาจอย่างเป็นธรรม และจัดสรรความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรมไปพร้อมๆ กันได้ ให้การเติบโตกระจายดอกผลไปอย่างทั่วถึง ประเทศต้องไม่จดจ้องอยู่ที่แค่การทำกำไร แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวเล้อม สิทธิในที่ดินทำกิน การกระจายที่ดิน การสร้างรัฐสวัสดิการที่ดูแลคนทำงานของเรา หรือสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย ซึ่งหลายท่านในที่นี้อาจจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่สิ่งที่เสนอ คือมันถึงเวลาแล้ว ที่เราทุกคนต้องกลับมาคิดถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมในการก้าวไปข้างหน้า” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวว่า สิ่งที่ตนคิดมาตลอดในการทำงานทางการเมืองที่ผ่านมา คือเมื่อใดก็ตามที่ตนและพรรคก้าวไกลสามารถจัดการปัญหาในประเทศได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเอาทหารออกจากการเมือง การทลายทุนผูกขาด และการกระจายอำนาจ เมื่อนั้นเราจะยังเหลือการเปลี่ยนแปลงสุดท้าย ซึ่งไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ แต่คือการเปลี่ยนแปลงโลกผ่านนโยบายต่างประเทศ 

ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า นั่นคือการออกไปบอกกับทั่วโลกว่าประเทศไทยกลับมาแล้ว และเราจริงจัง เราเป็นอำนาจกลาง เราไม่ใช่ประเทศเล็กๆ เราเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในอาเซียน และด้วยการทำงานร่วมกันกับประเทศอาเซียน แม้จะไม่ใช่ทุกประเทศที่สามารถทำงานร่วมกันได้ แต่อย่างน้อยที่สุดด้วยการทำงานร่วมกันกับประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ถ้าเรารวมกันได้ นั่นคือตัวเลขทางเศรษฐกิจ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และประชากร 670 ล้านคน ประเทศใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจหรือไม่ก็ไม่อาจปฏิเสธเราได้

นายพิธา กล่าวอีกว่า แต่ตราบใดที่เราที่ยังไม่สามารถจัดการปัญหาในประเทศของเราเองได้ ไทยจะมีความน่าเชื่อถืออะไรไปเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้ ในการทำให้อาเซียนมีความหมายขึ้นมา เราต้องเข้าไปมีบทบาทต่อโลกและมีความน่าเชื่อถือเป็นหัวใจหลัก ไม่ว่าจะต่อปัญหาเมียนมา, รัสเซีย-ยูเครน, อิสราเอล-ฮามาส สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นห่างออกไปจากประเทศไทยแต่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศไทยทั้งสิ้น

“เราต้องมองออกไปข้างนอก เพื่อให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกอย่างแท้จริง และด้วยความร่วมมือกับสมาชิกอาเซียน เราสามารถบอกกับโลกได้ว่าความชอบธรรมคืออำนาจ ไม่ใช่อำนาจคือความชอบธรรม บอกกับโลกได้ว่าเรากำลังจะกลับมาเป็นอำนาจกลาง ที่จะมีส่วนฟื้นระเบียบโลก ประเทศไทยกลับมาแล้ว เราเอาจริง และเราจะทบทวนนโยบายต่างประเทศของเราอีกครั้ง หลังจากที่เราหายไปจากเวทีโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของกองทัพ” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวด้วยว่า เราต้องการสร้างสมดุลให้โลกอีกครั้ง และในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเลือกข้าง แต่คือการยืนหยัดในหลักการ เราต้องวิจารณ์เพื่อนเราได้ และก็ต้องงพูดคุยกับคู่แข่งของเราได้ด้วย ในฐานะอำนาจกลาง เราสามารถกำหนดตัวชี้วัดใหม่ในนโยบายต่างประเทศของประเทศไทยได้ มากกว่าแค่เรื่องของการค้าการลงทุนและพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกา ให้มีเรื่องของสิ่งแดล้อม สภาวะโลกร้อน การควบคุมอาวุธปืน แบ่งปันทุกข์ เรียนรู้ร่วมกัน และหาทางออกร่วมกันได้

“นี่คือสิ่งที่เราทำร่วมกันได้เพื่อบรรลุสิ่งที่ดูจะเป็นไปไมไ่ด้ เปลี่ยนการต่อสู้ให้เป็นพลัง เปลี่ยนความเจ็บปวดให้เป็นความมั่งคั่ง เปลี่ยนคุณค่าให้เป็นชัยชนะร่วมกัน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับพวกเราทั้งหมด ถ้าทุกคนทำร่วมกันโดยที่เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในนั้น เราจะหายไปจากการออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการสร้างสันติภาพ นี่คือบทบาทที่เราทำร่วมกันได้ ในการทำให้โลกเป็นสถานที่ที่ดีกว่านี้ โดยที่มีประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในนั้น ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ผมยังคงยังคงคาดหวังที่จะได้เป็นสะพานเชื่อมผู้คนกับผู้คน สภากับสภา ภาครัฐกับภาครัฐ ภาคเอกชนกับภาคเอกชน และรัฐบาลกับรัฐบาลด้วยกัน” นายพิธา กล่าว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...