50 ปี 14 ตุลา เราจะไปทางไหนกัน? | วิทยากร เชียงกูล

บทเรียนที่สำคัญคือ ชนชั้นผู้ปกครองไทยหัวเก่า เห็นแก่อำนาจประโยชน์ส่วนตนมากเกินไป ขณะที่นักศึกษาประชาชน 14 ตุลาคม มองเรื่องประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในแง่ดีหรือแง่อุดมคติที่บรรลุได้อย่างไม่สมจริง

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ หลังจากที่ชนชั้นผู้ปกครองควบคุมอำนาจทางการเมืองและทางทหารตำรวจได้มั่นคงขึ้น พวกเขาเริ่มใช้กลยุทธ์ “ต่อหน้าประชาธิปไตยลับหลังเผด็จการฟาสซิสต์” เพื่อลดบทบาทและทำลายขบวนการนักศึกษาประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามขบวนการนักศึกษาอย่างรุนแรงในวันที่ 6 ต.ค.2519

เหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 เกิดจากการที่ชนชั้นนำผู้ปกครองที่เป็นพวกจารีตนิยมสุดโต่งกลัว “ขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา” จนเกินความจริง (กลัวว่าจะเป็นพวกคอมมิวนิสต์แบบจีนและเวียดนาม) พวกเขาตั้งใจปราบปรามขบวนการนักศึกษาอยู่แล้ว เพียงแต่ขบวนการนักศึกษาอาจเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงไปเข้าทางข้ออ้างของพวกเขาได้เร็วขึ้นเท่านั้น 

ถึง “6 ตุลา 19” จะเป็นความผิดพลาดของชนชั้นผู้ปกครอง เรื่องทั้งหมดน่าจะเป็นบทเรียนบทหนึ่งสำหรับคนรุ่นหลังที่สนใจจะเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในยุคต่อไป

คนที่เป็นตัวการทำให้ประเทศไทยถอยหลังจากสังคมประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่เริ่มต้นจะมีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมอยู่บ้าง คือ กลุ่มชนชั้นผู้ปกครองไทยที่มีแนวคิดจารีตนิยม ห่วงอำนาจและผลประโยชน์ระยะสั้น ไม่มีวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม ทำให้ประเทศไทยซึ่งตอนนั้นเจริญทางเศรษฐกิจสังคมมากกว่าเกาหลีใต้ ต้องถอยหลังถูกประเทศอื่นๆ แซงหน้าไปในปัจจุบัน

ขนาดคนอย่าง ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตเสรีไทย ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นนักเศรษฐศาสตร์แนวตลาดเสรีและนักปฏิรูปแนวสันติวิธี และเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงปี 2517-2519 ยังถูกชนชั้นสูงและฝ่ายขวาทั้งหลายโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนต้องลี้ภัยไปประเทศอังกฤษ นักวิชาการ นักปฏิรูปแนวก้าวหน้าคนอื่นๆ ก็ถูกลดความสำคัญ ลดบทบาทลง

บทเรียนสำหรับเหตุการณ์ 3 ปีช่วง 14 ต.ค. 2516 ถึง 6 ต.ค. 2519 คือ ทั้งความคิดขวาสุดโต่งของชนชั้นนำและซ้ายสุดโต่งของแกนนำบางส่วนของขบวนการนักศึกษาล้มเหลวทั้งคู่ นำไปสู่การปราบปรามขบวนการนักศึกษาประชาชน ที่รวมทั้งนักเสรีประชาธิปไตยส่วนใหญ่

ความคิด “ขวาจัดสุดโต่ง” เป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดการฆ่าฟันและการปราบปรามขบวนการนักศึกษาอย่างรุนแรงมากกว่า ขณะที่พวกนักศึกษาคนหนุ่มสาวยังอ่อนวัย ขาดประสบการณ์และขาดโอกาสที่จะเผยแพร่และสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงอาจคิดไปในแนวทางเปลี่ยนแปลงประเทศที่ก้าวหน้าไปในแนวทางสังคมนิยม

การโดนรัฐบาลฝ่ายขวาขัดขวางและปราบปรามอย่างไม่เป็นธรรม ยิ่งทำให้พวกนักศึกษาและคนหนุ่มสาวหัวรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก

ในด้านหนึ่ง ในช่วงปี 2516-2519 พวกนักศึกษา ปัญญาชน ผู้นำแรงงาน ผู้นำชาวนาพยายามส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มองค์กรประชาชน แต่พวกเขาทำได้ไม่มากนักเนื่องจากมีกำลังคนน้อยและเวลาน้อยไป รวมทั้งมีการลอบสังหารผู้นำชาวนา ผู้นำนักศึกษาปัญญาชน ผู้นำแรงงาน นักการเมืองฝ่ายก้าวหน้า

การปราบปรามนักศึกษาอย่างรุนแรงเกินเหตุในวันที่ 6 ต.ค. 2519 และการจับกุมผู้ชุมนุมราว 3 พันคน ทำให้นักศึกษาประชาชนหลายพันคนเลือกเข้าป่าไปร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เพราะพวกเขาถูกบีบบังคับไม่ให้เหลือทางเลือกอื่น ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้นิยมและไม่ได้รู้จัก พคท. ที่เป็นองค์กรเล็กๆ ทำงานแบบใต้ดินอย่างระมัดระวังตัวมากนัก

ในอีก 4-5 ปีต่อมา ขบวนการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมของไทยในเขตชนบทพ่ายแพ้ ด้วยปัจจัยความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสากลและภายในประเทศ ประเทศไทยจึงพัฒนาไปตามแนวทางเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบพึ่งพาบรรษัทข้ามชาติเพิ่มขึ้น

เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมบางอย่าง เช่น เด็กเยาวชน ประชาชนได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น ได้รับส่วนแบ่งจากการพัฒนาเศรษฐกิจจนเติบโตเป็นชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ชนชั้นกลางมีอำนาจและปากเสียงเพิ่มขึ้นบ้าง แต่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง การกระจายผลการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม ความขัดแย้งและปัญหาทางสังคมเพิ่มขึ้น

แต่ประชาชนส่วนใหญ่ถูกแบ่งแยกและปกครองเป็นกลุ่ม ที่นิยมชนชั้นนำและพรรคการเมือง มีลักษณะกระจัดกระจาย อ่อนแอ ถูกครอบงำทางอุดมการณ์, ความเชื่อจากชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ เพิ่มขึ้น

เมื่อเทียบกับยุค 14 ต.ค.2516 ถึง 6 ต.ค.2519 ซึ่งขบวนการนักศึกษา สหภาพแรงงาน สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ และกลุ่มนักวิชาการ นักวิชาชีพต่างๆ ในยุคนั้นเคยเข้มแข็ง เป็นตัวของตัวเอง และสามารถผนึกกำลังเรียกร้องต่อรองกับชนชั้นผู้ปกครองในยุคนั้นได้ในมากกว่ายุคอื่นๆ

6 ต.ค. 2519 ไม่ใช่เป็นเรื่องแค่โศกนาฏกรรม แต่เป็นการตัดโอกาสที่ประเทศไทยจะปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ หากไม่เกิด 6 ต.ค. และเราเลือกแนวทางสายกลางที่ปฏิรูปเพื่อสิทธิเสรีภาพความเป็นธรรม เช่น แนวคิดของ อ.ป๋วย (เรื่องสันติประชาธรรมและอื่นๆ) เราจะก้าวไปไกลกว่าเกาหลีใต้ ซึ่งในตอน 50 ปีที่แล้วยังล้าหลังเราอยู่

ทางเลือกในปัจจุบัน คือ เราต้องค้นคว้าและเผยแพร่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองสังคมในแนวเสรีนิยมที่ก้าวหน้า ใช้ระบบผสมระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและสังคมนิยมแบบประชาธิปไตย การกระจายอำนาจการบริหารและทรัพยากรที่ประชาชนในจังหวัดและท้องถิ่นระดับต่างๆ จัดการตนเองได้มากขึ้น 

ประชาชนที่ตื่นตัวรู้ปัญหาควรสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มองค์กรประชาชน เช่น สหภาพแรงงาน สมาคมชาวไร่ สมาคมอาชีพต่างๆ สหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภคและสหกรณ์ประเภทต่างๆ ฯลฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และทำให้เป็นองค์กรที่มีความรู้ มีกำลังที่เข้มแข็ง

ประชาชนส่วนใหญ่จึงจะมีความรู้และอำนาจที่จะไปต่อรองกับชนชั้นนำ สามารถสร้างสังคมให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ มีสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคทางโอกาส ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การรักษาพยาบาล บริการทางสังคมด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นได้

ไม่ใช่แค่สิทธิในการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นเพียงสิทธิขั้นต่ำและยังเป็นระบบที่ขาดประสิทธิภาพ ถ้ายังไม่ได้ปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมทั้งระบบอย่างแท้จริง

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...