ส่องความลับกระเป๋ายิงนิวเคลียร์ของ 'ปูติน' ที่พกไปจีนด้วย

ตอนนี้ทั่วโลกกำลังพุ่งความสนใจไปที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ซึ่งเดินทางไปร่วมประชุมข้อริเริ่มสายแถบ และเส้นทางหรือ BRF ที่ประเทศจีน ทว่าความสนใจไม่ได้อยู่ที่การประชุม หรือการหารือนอกรอบเรื่องสงครามในอิสราเอล แต่เป็นกระเป๋าเอกสารทรงเจมส์บอนด์ หรือ "กระเป๋าสั่งยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์" ที่อยู่ข้างกายปูตินต่างหาก

เพราะนี่เป็นครั้งแรกก็ว่าได้ที่สื่อสามารถจับภาพกระเป๋ายิงนุกของรัสเซียได้อย่างชัดเจนเต็มตา ระหว่างที่ปูตินกำลังจะไปร่วมการประชุมเวทีหนึ่ง และเห็นภาพนายทหารเรือรัสเซีย 2 นายเดินถือกระเป๋า 2 ใบตามมา โดยโฟกัสอยู่ที่กระเป๋าสั่งยิงขีปนาวุธที่รัสเซียใช้ชื่อว่า "เชเกต" (Cheget) ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามชื่อของภูเขาในเทือกเขาคอเคซัสทางตอนเหนือของรัสเซีย

  • เรารู้ได้อย่างไรว่านี่คือ กระเป๋าสั่งยิงนิวเคลียร์?  

เพราะจากข้อมูลที่เคยมีการเปิดเผยออกมาแม้กระทั่งจากฝั่งรัสเซียเอง ระบุว่า ประธานาธิบดีรัสเซียจะมีกระเป๋าสั่งยิงนิวเคลียร์เอาไว้ในครอบครองอยู่ใกล้ตัวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนก็ตาม เพื่อให้สามารถใช้ออกคำสั่งโจมตีด้วยนิวเคลียร์ได้ตลอดเวลา 

กระเป๋าสั่งยิงนิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านนิวเคลียร์ของรัสเซีย ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากยุค "สงครามเย็น" (ปี ค.ศ.1947 - 1991) ที่รัสเซีย (ยุคนั้นคือ สหภาพโซเวียต) แข่งขันกันสะสมอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐ หลังสิ้นสุดสงครามโลก โดยเริ่มมีการพัฒนากระเป๋าเชเกตเป็นครั้งแรกในยุคของประธานาธิบดี ยูริ แอนโดรปอฟ ช่วงต้นทศวรรษ 80 เริ่มใช้ในสมัยประธานาธิบดี มิคาอิล กอร์บาชอฟ และต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงรัสเซียในยุคปัจจุบันของวลาดิมีร์ ปูติน 

  • มีอะไรอยู่ข้างในกระเป๋า และมีกลไกทำงานอย่างไร

แม้โลกจะรู้ว่ามันมีอยู่จริงแต่ก็ไม่เคยเห็นชัดๆ จนกระทั่งมีสกู๊ปข่าวเกี่ยวกับกระเป๋าเชเกตออกมาเป็นครั้งแรกในปี 2019 ในช่องข่าวทีวี Zvezda ซึ่งเป็นช่องข่าวของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย (คล้ายๆ ช่อง 5) 

รายงานดังกล่าวทำให้โลกได้เห็นภาพข้างในของกระเป๋ายิงนิวเคลียร์จากรัสเซียเป็นครั้งแรก โดยมีหน้าตาเป็นเครื่องสีขาวที่ชวนให้นึกถึงเครื่องเล่นเกมอาตาริในอดีต มีปุ่มสีขาวที่เป็นปุ่มคำสั่งปล่อยนิวเคลียร์ และปุ่มสีแดงที่เป็นปุ่มยกเลิกคำสั่ง โดยจะทำงานด้วยแฟลชการ์ดที่ประธานาธิบดีเป็นผู้เก็บเอาไว้

ภาพของกระเป๋าเชเกตถูกเผยแพร่อีกครั้งในปี 2022 คราวนี้เป็นเครื่องสีดำในขนาดกะทัดรัดขึ้นเล็กน้อย มีปุ่ม 5-6 ปุ่ม และที่ใส่แฟลชการ์ดให้เครื่องทำงาน โดยเป็นกระเป๋าของอดีตประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน ซึ่งถูกจัดแสดงเป็นสิ่งของทางประวัติศาสตร์ในยุคสงครามเย็น อยู่ที่สำนักงานประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน ในเมืองเยกาเตรินเบิร์ก ทางตอนเหนือของรัสเซีย 

  • กดปุ่มเดียวสะเทือนทั้งโลกจริงหรือ 

แม้จะฟังดูเหมือนเป็นปุ่มกดมหาภัยที่กดปุ๊บก็สั่งยิงนิวเคลียร์ได้ปั๊บ แต่ที่จริงแล้วรอยเตอร์สเคยรายงานไว้ก่อนหน้านี้ว่า กลไกการทำงานที่แท้จริงของกระเป๋านี้คือ เป็นเครื่องมือที่เอาไว้ใช้สื่อสารระหว่างประธานาธิบดีกับผู้นำระดับสูงในกองทัพ

การกดปุ่มยิงไม่ใช่การยิงนิวเคลียร์โดยตรงจากประธานาธิบดี แต่เป็นการออกคำสั่ง "รหัสลับ" ที่ใช้เครือข่ายการควบคุม และสั่งการอิเล็กทรอนิกส์ "Kazbek" ไปถึงผู้นำกองทัพให้ดำเนินการตาม เป็นที่คาดว่าคนที่มีกระเป๋าสั่งยิงนิวเคลียร์แบบนี้ในรัสเซีย มีอยู่ 3 คนด้วยกันคือ ประธานาธิบดี (ปูติน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (Sergei Shoigu) และประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมรัสเซีย (Valery Gerasimov)

แม้ว่าในเชิงการสั่งการจะใช้การบาลานซ์ถึง 3 คน เพื่อความรอบคอบ แต่ในด้านความรุนแรงหากกดปุ่มยิงขึ้นมานั้นยังไม่มีใครบอกรายละเอียดได้ เพราะไม่เคยมีการกดปุ่มยิงได้สำเร็จ ก่อนหน้านี้ "รัสเซียเคยมีการกดปุ่ม/ออกคำสั่งมาแล้วครั้งหนึ่ง" ในยุคของอดีตประธานาธิบดี สตานิสลาฟ เปทรอฟ ในปี 1983 หลังเข้าใจผิดว่าสหรัฐยิงขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICMB) เข้ามา แต่มีการยกเลิกคำสั่งได้ทันเมื่อพบว่าไม่ใช่ภัยคุกคาม และเป็นเพียงการซ้อมรบของนาโต  

 

  • นอกจากรัสเซีย ใครมีกระเป๋ายิงนิวเคลียร์อีกบ้าง

"สหรัฐ" ซึ่งเป็นคู่แข่งสะสมนิวเคลียร์กันมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นคือ อีกประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์เชิงกลยุทธ์แบบนี้ โดยใช้ชื่อว่า "นิวเคลียร์ ฟุตบอล" (Nuclear Football) เป็นกระเป๋ารูปทรงคล้ายกัน น้ำหนักประมาณ 45 ปอนด์ โดยคนที่ถือกระเป๋าใบนี้ตามประธานาธิบดีสหรัฐไปตลอดทุกที่คือ ที่ปรึกษาด้านการทหารของทำเนียบขาว 1 ใน 5 คน

สหรัฐเริ่มใช้กระเป๋ายิงนิวเคลียร์หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา และเริ่มมีภาพกระเป๋าใบนี้ปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรกในยุคของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี ในปี 1963 

ทั้งนี้ มีรายงานว่าสหรัฐมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ประมาณ 200 ลูก ประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ในยุโรป อาทิ ระเบิด B61 ขนาด 12 ฟุต มีแรงระเบิดตั้งแต่ 0.3 - 170 กิโลตัน (ระเบิดที่ฮิโรชิมา มีแรงระเบิดขนาด 15 กิโลตัน) ซึ่งถูกกระจายอยู่ตามฐานทัพอากาศ 6 แห่งในอิตาลี เยอรมนี ตุรกี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ 

 

 

 

 

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...