สภาโหวตคว่ำร่างก้าวไกล ชงตั้ง กมธ.ศึกษาเด็กไร้สัญชาติ ให้ กมธ.ศึกษาฯ ดูแทน

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่เห็นด้วย 245 ต่อ 164 เสียง โหวตคว่ำญัตติ “ก้าวไกล” เสนอตั้ง กมธ.วิสามัญแก้ปัญหาการศึกษาเด็กไร้สัญชาติกว่า 2 แสนคน วิปรัฐบาลชิงส่งเรื่องให้ กมธ.การศึกษาพิจารณาแทน 

วันที่ 18 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาญัตติเรื่อง ขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย หรือ “เด็กรหัส G” ซึ่งมีการเสนอญัตติและอภิปรายต่อเนื่องมาจากการประชุมครั้งก่อน

ในที่ประชุมวันนี้มี สส.พรรคก้าวไกลหลายคนร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าว เช่น นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อสัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ระบุว่า ปัจจุบันมีเด็กไร้สัญชาติที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระบบรวมกันกว่า 2 แสนคน เนื่องจากในประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีสงครามและมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้คนส่วนหนึ่งจำเป็นต้องเข้ามาแสวงหาโอกาสเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย 

ดังนั้น สังคมไทยจึงต้องเปิดใจโอบรับพี่น้องแรงงานข้ามชาติ โดยมองพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่ลูกหลานของพวกเขา ในอนาคตคนกลุ่มนี้จะเป็นคนทำงานที่มีฝีมือ เป็นผู้บริโภค และเป็นผู้เสียภาษี ย้อนกลับมาเป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งสิ้น

การจัดการศึกษาให้กลุ่มคนเหล่านี้จึงไม่ได้เป็นภาระของสังคมไทย การใช้งบประมาณ 300-500 ล้านบาทต่อปี ไม่เกินศักยภาพที่รัฐบาลไทยจะทำได้ และถ้าหากรัฐบาลไทยมีระบบการบริหารจัดการที่ดี ก็มีโอกาสขอรับเงินช่วยเหลือจากองค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้ด้วย

...

ขณะที่ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เป็นผู้สรุปญัตติหลังจบการอภิปราย โดยระบุว่า เด็กทุกคนในประเทศนี้มีความคาดหวังว่าสภาแห่งนี้จะตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาไม่ให้มีเด็กคนใดตกหล่นไปจากระบบการศึกษาของประเทศนี้อีก ทุกคนน่าจะเคยอ่านหนังสือเรื่อง “เจ้าชายน้อย” มาก่อน ประโยคสำคัญของเรื่องบอกไว้ว่า เวลาเราจะคิดหรือทำอะไรในเรื่องของเด็ก ท่านจะใช้สายตาหรือใช้หัวใจในการมอง 

การลงมติในญัตตินี้จึงสำคัญมาก ท่านจะตัดสินโดยใช้สายตาที่แต่ละคนสั้นหรือยาวไม่เท่ากัน มีกรอบวิธีคิดที่แตกต่างกัน หรือจะใช้หัวใจในการตัดสินใจว่าทุกคนที่เป็นเด็กในประเทศนี้คือลูกหลานของเรา 

จากสถิติเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 มีเด็กที่ไร้ทะเบียนราษฎรหรือไร้สัญชาติไทยอยู่ในโรงเรียนกว่า 3 แสนคน แต่ได้รับการยืนยันว่ามีตัวตนเพียง 1.1 แสนคน ส่วนอีกเกือบ 2 แสนคนไม่มีการลงรหัสยืนยันตัวตน นอกจากนี้ ประเด็นเด็กไร้สัญชาติไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับการลงรายการสถานะบุคคลของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งปัจจุบันมีเด็กไร้สัญชาติที่ได้รับการลงเลข 13 หลักเพียง 8.9 หมื่นคน ตกหล่นและอยู่ระหว่างการสอบประวัติอีกกว่า 4 หมื่นคน เรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการแล้ว และไม่อยู่ในขอบเขตที่กรรมาธิการคณะใดคณะหนึ่งจะทำการศึกษาได้

ที่สำคัญกว่านั้น ประเทศไทยกำลังจะถูกตั้งคำถามอย่างรุนแรงจากนานาอารยประเทศในที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติปลายปีนี้ รวมถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กรณีการพยายามส่งตัวเด็กไร้สัญชาติ 126 คนกลับไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในประเด็นนี้ คณะกรรมาธิการการศึกษาเพียงคณะเดียวจะสามารถตอบคำถามนี้ได้หรือไม่

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เพราะเรื่องนี้ครอบคลุมใน 4 มิติ ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ แรงงาน และสิทธิความเป็นพลเมืองหรือความเป็นมนุษย์ ซึ่งนายณัฐวุฒิย้ำว่าเวลาพูดถึงสิทธิเด็ก เด็กพูดด้วยตัวเองไม่ได้ สภาแห่งนี้จึงต้องเป็นศูนย์กลางในการยืนยันเรื่องนี้

“เรากำลังพูดถึงเด็กหลายแสนคนในประเทศไทยที่ไม่มีแม้แต่โอกาสในการเดินเข้าโรงเรียน ผมอยากวิงวอนเชิญชวนให้ทุกท่านอ่านเจ้าชายน้อย และใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจอย่างเป็นอิสระ กล้าที่จะใช้หัวใจของท่านในการลงมติแทนการใช้สายตาแต่เพียงอย่างเดียว ไม่มีเหตุผลอื่นใดที่จะส่งให้คณะกรรมาธิการคณะใดคณะหนึ่งไปดำเนินการ พรรคก้าวไกลขอยืนยันให้สภาแห่งนี้ลงมติสนับสนุนการจัดตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ไม่ใช่เพื่อพรรคก้าวไกล เพื่อฝ่ายค้าน หรือสภาแห่งนี้ แต่เพื่อเด็กๆ ทุกคนในประเทศนี้” นายณัฐวุฒิกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนการลงมติ วิปรัฐบาลได้ประสานมายังพรรคก้าวไกลว่าจะลงมติไม่เห็นชอบกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว โดยมองว่าประเด็นนี้สามารถมอบให้คณะกรรมาธิการการศึกษาไปพิจารณาเพียงคณะเดียวได้ ทำให้ผลการลงมติออกมาที่เห็นด้วย 164 เสียง และไม่เห็นด้วย 245 เสียง การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้นจึงไม่เกิดขึ้น โดยคณะกรรมาธิการการศึกษาจะรับไปดำเนินการต่อ และใช้กรอบเวลา 90 วันในการดำเนินการให้แล้วเสร็จ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...