ก้าวไกล เสนอตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ไขกฎหมายประมงไทยทั้งระบบ พร้อมทำข้อแนะรัฐบาล

"ณัฐพงษ์" สส.สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล เสนอญัตติตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ไขกฎหมายประมงไทยทั้งระบบ หวังหาฉันทามติ แก้ไขให้เหมาะสมยุคสมัย-ลดผลกระทบต่อทุกฝ่าย-สอดรับพันธกรณีระหว่างประเทศ พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล

วันที่ 18 ต.ค. 66 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส.สมุทรสาคร เขต 1 พรรคก้าวไกล เสนอญัตติขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงทั้งระบบให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมงและกิจการต่อเนื่อง และสอดรับกับพันธกรณีระหว่างประเทศ

โดยนายณัฐพงษ์กล่าวว่า เนื่องจากผู้ประกอบกิจการประมงในประเทศไทย รวมทั้งชาวประมงพาณิชย์ที่ประกอบกิจการประมงนอกน่านน้ำไทย และผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจการประมง ได้รับความเดือดร้อนจากการตรากฎหมายประมงอย่างเร่งด่วนของรัฐบาล คสช. โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 และปราศจากการกลั่นกรองจากรัฐสภาก่อนการประกาศใช้ โดยให้เหตุผลเพียงต้องการจะแก้ไขปัญหาการประมงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) ตามความเข้าใจของรัฐบาลในขณะนั้น

สำหรับสถานการณ์ภายหลังประเทศไทยได้รับใบแจ้งเตือนจากสหภาพยุโรป และเร่งตรากฎหมายดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อทั้งผู้ที่ถูกกฎหมายบังคับใช้โดยตรงอย่างไม่เป็นธรรม และส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนทรัพยากรสัตว์น้ำ คิดเป็นมูลค่ากว่าปีละ 2 แสนล้านบาท เป็นเวลานานกว่า 8 ปี ผู้ประกอบการหลายรายไม่สามารถประกอบอาชีพหรือมีรายได้เลี้ยงครอบครัวต่อไปได้

ตนจึงต้องการนำประเด็นปัญหาในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งการประมง เรือและการเดินเรือ ตลอดจนการใช้แรงงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมง ที่บังคับใช้กับกิจการประมงทั้งระบบมาพิจารณาศึกษา และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล รวมทั้งการยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรม เสนอต่อรัฐสภา เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง เป็นกรอบในการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความยั่งยืนภายใต้บริบทของไทยและกรอบพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย

นายณัฐพงษ์ ยังได้ยกเหตุผล 2 ประการเกี่ยวกับความจำเป็นในการตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ดังกล่าว ประการแรก มีกฎหมายกว่า 10 ฉบับ ในระดับ พ.ร.บ. และ พ.ร.ก. ทั้งที่เกี่ยวกับทรัพยากร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การประมงทะเล การประกอบกิจการประมง การประกอบกิจการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แรงงาน เรือ การเดินเรือ เป็นต้น หลายฉบับเป็นกฎหมายเก่าที่ควรมีการปรับปรุงให้เหมาะสมทันสมัย เนื่องจากหลักคิดและสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งบางฉบับก็ตราขึ้นด้วยความเร่งรีบ ไม่ได้รับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด

ความจำเป็นประการต่อมา ชาวประมงและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ต้องประสบปัญหาในการค้นคว้าและค้นหากฎหมายที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก บางครั้งต้องกลายเป็นผู้กระทำผิดด้วยเหตุของการไม่รู้กฎหมายโดยไม่รู้ตัว จึงควรมีการทำให้เป็นระบบ ค้นคว้าทำความเข้าใจได้โดยสะดวก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชาวประมงและผู้ประกอบการในการปฏิบัติให้ถูกต้อง และหากประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย จะเป็นกรณีศึกษาสำหรับการปรับปรุงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในภาคส่วนอื่นๆ ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐอย่างน้อย 5 กระทรวง ซึ่งถือว่ามีเป็นจำนวนมาก และเกี่ยวข้องกับภาคเอกชนกว่า 10 องค์กร จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจอย่างถี่ถ้วน

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนติดตามเรื่องนี้ ตระหนักเป็นอย่างดีว่า ทุกพรรคการเมืองต้องการแก้ไขเรื่องประมง แต่ในแต่ละกลุ่มประมงเองก็มีความเห็นไม่ตรงกันต่อแนวทางการแก้ไขปัญหา จึงมองว่า กมธ.วิสามัญชุดนี้ จะเป็นโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามาศึกษากฎหมายทั้งระบบร่วมกันให้ตกผลึก หาฉันทามติ ก่อนจะพิจารณาแก้ไขกฎหมายฉบับใดหรือมาตราใด อย่างรอบคอบชัดเจน ใช้รัฐสภาเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกัน

สำหรับ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงทั้งระบบฯ จะมีกรอบระยะเวลาในการศึกษา 60 วัน โดยสัดส่วนกรรมาธิการจากพรรคก้าวไกล มีองค์ประกอบที่หลากหลายจากภาคส่วนต่างๆ ดังนี้

...

(1) ณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส.สมุทรสาคร เขต 1 พรรคก้าวไกล

(2) วรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
(3) พงศธร ศรเพชรนรินทร์ สส.ระยอง เขต 3 พรรคก้าวไกล
(4) วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการประมงนอกน่านน้ำไทย
(5) ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
(6) นิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล นายกสมาคมยุติธรรมประมงไทย
(7) มงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร
และ (8) นัฐวุฒิ กาเซ็ม มูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (EJF)

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...