จีนเปิดประชุม 'แถบและเส้นทาง' วันนี้ ครบ 10 ปียุทธศาสตร์ BRI มีไฮไลต์อะไรบ้าง

ในสัปดาห์นี้จีนกำลังจะเป็นเจ้าภาพเปิดการประชุมที่สำคัญที่สุดเวทีหนึ่งของจีนกับ "การประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง" (Belt and Road Initiative Forum: BRF) ซึ่งจะมีผู้นำและผู้แทนจากกว่า 130 ประเทศเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดระหว่างวันที่ 17-18 ต.ค. 

การประชุม BRF ปีนี้นับเป็นครั้งที่ 3 หลังจากที่มีขึ้นครั้งแรกในปี 2017 โดยมีผู้นำจาก 30 ประเทศเข้าร่วม และเว้นไปสองปี ก่อนที่สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้ต้องเว้นช่วงยาวมาจนถึงปัจจุบัน 

นอกจากเวทีนี้จะเป็นการประชุมของจีนที่มี "ประเทศมากกว่าครึ่งโลก" มาร่วมประชุมแล้ว ปี 2023 ยังถือเป็นโอกาสครบรอบ 10 ปี ที่จีนประกาศใช้ยุทธศาสตร์ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง หรือ BRI ที่มีชื่อเดิมว่า หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) อีกด้วย 

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจสรุป 4 ประเด็นไฮไลต์ที่น่าสนใจก่อนเปิดม่านการประชุมมาให้ ดังนี้   

  • BRI ภายใต้บรรยากาศสงคราม 'อิสราเอล-ฮามาส'

การประชุมสุดยอด BRI จะอยู่ภายใต้บรรยากาศคุกรุ่นของสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะเมื่อมองจากบทบาทของจีน ทั้งในแง่ "การเมือง" ในฐานะสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตะวันออกกลาง หรือในแง่ "เศรษฐกิจ" กับบทบาทนักลงทุน ผูู้ซื้อน้ำมัน และพันธมิตร BRI ที่เข้าไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในหลายประเทศ  

ในปี 2020 จีนได้ผงาดขึ้นแทนที่สหภาพยุโรป (อียู) ในฐานะประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดกับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) ไปเรียบร้อยแล้ว และยังกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด (ไม่รวมน้ำมัน) กับซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (UAE) 

แม้จีนจะเป็นลูกค้ารายใหญ่ด้านพลังงานของตะวันออกกลางมานานแล้ว แต่บทบาทของจีนในภูมิภาคนี้เริ่มชัดเจนและเป็นที่สนใจมากขึ้นหลังจากที่ "ซาอุดิอาระเบีย" เริ่มมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับสหรัฐจากรณีการสังหารนักข่าว จามาล คาช็อกจี จนทำให้ซาอุฯ หันไปกระชับความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น และถึงขั้นที่จีนกลายเป็นคนกลางในความพยายามฟื้นสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง "ซาอุดิอาระเบีย-อิหร่าน" เมื่อต้นปีนี้มาแล้ว

อิทธิพลเช่นนี้เองที่ทำให้จีนถูกจับตามากขึ้นในสงครามอิสราเอล-ฮามาส โดยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐกับจีนได้โทรศัพท์สายตรงพูดคุยกันครั้งแรกเกี่ยวกับสงครามนี้ โดยแอนโทนี บลิงเคน เรียกร้องให้จีนใช้อิทธิพลของตนเองให้มากขึ้น ในการป้องกันไม่ให้ประเทศหรือกลุ่มต่างๆ เข้าโจมตีอิสราเอลหรือยกระดับสงครามให้ขยายวงขึ้น แต่จีนเองก็เรียกร้องให้สหรัฐเป็นฝ่ายแสดงบทบาทต่อสันติภาพในตะวันออกกลางให้มากขึ้น พร้อมย้ำว่าการปกป้องความมั่นคงของประเทศหนึ่งไม่ควรต้องแลกมาซึ่งการทำร้ายพลเรือนผู้บริสุทธิ์ 

ทั้งนี้ ไจ๋ จุน ผู้แทนพิเศษของจีนจะเดินทางเยือนตะวันออกกลางในสัปดาห์นี้เพื่อผลักดันเรื่องการหยุดยิง (Ceasefire) ในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส และสนับสนุนให้เกิดการเจรจาสันติภาพขึ้น 

 

  •  'ปูติน' ปรากฎตัวเวทีระหว่างประเทศครั้งแรก

หนึ่งในไฮไลต์ที่ทุกฝ่ายต้องจับตามองการประชุมครั้งนี้ก็คือ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย จะมาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย และเป็นครั้งแรกที่ปูตินจะปรากฎตัวในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ นับตั้งแต่เริ่มมีการทำสงครามบุกยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. 2021 (ไม่รวมการเยือนคีร์กีซสถานและโอลิมปิกส์ฤดูหนาว)

ก่อนหน้านี้ ปูตินได้ให้สัมภาษณ์กับไชน่า มีเดีย คอร์ปอเรชันว่า ข้อได้เปรียบหลักของแนวคิดความร่วมมือที่เสนอโดยจีนก็คือ ภายในกรอบของความร่วมมือกันนั้น ไม่มีใครกำหนดสิ่งใดกับผู้อื่น และลักษณะเฉพาะของจีนในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ในปัจจุบันก็คือ "ไม่มีใครสั่งหรือบังคับอะไรกับใคร พวกเขาแค่ยื่นโอกาสให้เท่านั้น"

"นี่คือความแตกต่างระหว่างโครงการข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กับโครงการอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยประเทศที่มีรสนิยมชอบล่าอาณานิคม" ปูติน กล่าว

หลี่ หมิงเจียง รองศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยนันยาง เทคโนโลยี เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า การเข้าร่วมครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่สำคัญมากของปูตินในการกลับเข้าสู่เวทีโลก และแสดงให้เห็นว่ารัสเซียยังคงเป็นมิตรที่เหนียวแน่นกับจีนอยู่ หลังจากก่อนหน้านี้จีนต้องพยายามบาลานซ์ความสัมพันธ์เพื่อไม่ให้ถูกชาติตะวันตกกดดันมากจนเกินไป

ส่วนจีนเองนั้น การได้บุคคลที่มีความสำคัญและได้สปอตไลท์จากทั่วโลกอย่างปูตินมาร่วมเวที BRF ก็เป็นสิ่งที่สำคัญในเชิงการเมืองเช่นกัน เพราะคาดว่าเวทีประชุมจะมีแต่ผู้นำจากประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศรายได้ปานกลางเข้าร่วม โดยไม่มีผู้นำชาติมหาอำนาจเข้าร่วมแต่อย่างใด

 

  • 'เศรษฐา' ร่วมถกเส้นทางสายไหมสีเขียว ดึงนักท่องเที่ยวจีนมาไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหนึ่งในผู้นำประเทศกลุ่มอาเซียนนอกจากกัมพูชา ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่จะเข้าร่วมการประชุม BRF ครั้งนี้ด้วย พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงและผู้แทนบริษัทขนาดใหญ่ของไทยมากกว่า 20 แห่ง โดยจะเป็นการร่วมประชุมและเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 16-19 ต.ค.นี้ ซึ่งจะมีการหารือการค้าการลงทุนไทย-จีน กระชับความสัมพันธ์ทางการทูต พร้อมสร้างความเชื่อมั่นดึงนักท่องเที่ยวจีนให้เข้ามาเที่ยวไทยด้วย

การประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งในปีนี้ มีการประชุมระดับสูง 3 หัวข้อ โดยนายกฯ จะเข้าร่วมประชุมและกล่าวแถลงในหัวข้อ “เส้นทางสายไหมสีเขียวเพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ” เน้นกล่าวถึงบทบาทไทยในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น กลไกระดมทุนสีเขียว การเปลี่ยนผ่านสีเขียวของเศรษฐกิจ เป็นต้น โดยนายกฯ มีกำหนดเข้าพบประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน และหารือกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงด้วย

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทยจะเข้าร่วมในหัวข้อความเชื่อมโยง (Connectivity) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะเข้าร่วมในหัวข้อเศรษฐกิจดิจิทัล 

การประชุมบีอาร์เอฟครั้งนี้ ยังช่วยให้เกิดการสนับสนุนผู้ประกอบทั้งคนไทยที่ลงทุนในจีน และคนจีนที่ลงทุนไทย โดยจะร่วมหารือกันในการประชุมรอบพิเศษ 3 รอบ ซึ่งรอบแรกจะเป็นการพูดคุยระหว่างนักธุรกิจไทยและจีน นำโดยมาริษ เสงี่ยมพงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรับฟังโอกาส ข้อจำกัด ข้อแนะนำ และปัญหาสำคัญของไทย เพื่อขยายการลงทุนให้มากกว่าที่เป็นอยู่

รอบที่ 2 เป็นการพูดคุยแบบตัวต่อตัว (one-on-one) กับนักลงทุนจีน และจะผลักดันการค้าการลงทุนของจีนในไทย โดยการประชุมรอบนี้จะมีขึ้นเกือบทั้งวัน ในวันที่ 17 ต.ค. สำหรับการประชุมรอบที่ 3 จะพูดคุยเกี่ยวกับการจัด Investment Forum โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 19 ต.ค.

นอกจากนี้  ไทยจะมีการทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) หลายฉบับ แต่ยังไม่สามารถระบุหัวข้อเอ็มโอยูได้ เนื่องจากบางฉบับยังรอมติจากคณะรัฐมนตรีอยู่ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการลงนามเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจะเผยแพร่ให้ทราบทันที 

กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ เสริมว่า เนื่องจากไทย-จีน จะมีการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต ครบรอบ 50 ปี ในปี 2568 การเยือนนี้ครั้งนี้ เสมือนเป็นการเปิดฉากความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น และเพื่อย้ำว่าประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีน และรับประกันว่าไทยจะทำทุกอย่างเพื่อดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวชาวจีน

 

  • 'สี จิ้นผิง' เตรียมโชว์วิสัยทัศน์ครบรอบ 10 ปี BRI

สำหรับเจ้าภาพแล้ว ความสำคัญที่สุดของการประชุมครั้งนี้อาจเป็นการครบรอบปีที่ 10 ของยุทธศาสตร์ BRI ซึ่งคาดว่าจีนจะประกาศความสำเร็จทั้งในเชิงการลงทุนที่เป็นรูปธรรม และความร่วมมือเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก 

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เผยแนวคิดเรื่อง BRI เป็นครั้งแรกระหว่างการเดินทางเยือนคาซัคสถานในปี 2013 โดยต้องการเปิดระเบียงเศรษฐกิจไปตามเส้นทางสายไหมที่เคยรุ่งเรืองด้านการค้าในอดีต จากนั้นก็เริ่มมีการขยายวงไปถึงแผน "เส้นทางสายไหมทางทะเล" ระหว่างการเยือนอินโดนีเซียในปีต่อมา และนำไปสู่การรวมเส้นทางบกและทะเลพร้อมขยายจุดหมายไปถึงแอฟริกา  

ส่วนพัฒนาการในด้านเงินทุนของโครงการนี้ เริ่มจากการจัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหมวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ก่อนจะยกระดับไปสู่การจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) ในปี 2016 ซึ่งจากเดิมที่มีสมาชิก 57 ประเทศนั้น ปัจจุบันขยายวงไปไกลถึง 109 ประเทศ มีการปล่อยเงินกู้ลงทุนไปแล้ว 202 โครงการ ใน 33 ประเทศ รวมเป็นมูลค่า 3.88 หมื่นล้านดอลลาร์ 
  
ทว่าสื่อตะวันตกบางสำนักเช่น ซีเอ็นเอ็น วิเคราะห์ไปไกลกว่านั้นว่า การที่ผู้นำจีนจัดประชุมใหญ่ในรอบ 3 ปี และเชิญผู้นำจากทั่วโลกมาร่วมประชุมในครั้งนี้ก็เพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ เชิดชูบทบาทของจีนในการช่วยสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และปูทางสู่เป้าหมายที่ขยับขึ้นไปอีกขั้นในฐานะ "ผู้นำทางเลือกของโลก" นอกเหนือไปจากสหรัฐ  

เครก ซิงเกิลตัน นักวิชาการจากสถาบันคลังสมองดีเฟนส์ ออฟ เดโมเครซี ในวอชิงตัน กล่าวว่า สารจากผู้นำจีนนั้นชัดเจนว่าปัจจุบัน สหรัฐล้มเหลวทั้งการนำพาสันติภาพหรือความเจริญมั่งคั่งมาสู่ประเทศกำลังพัฒนา ระเบียบใหม่คือสิ่งที่จำเป็นเพื่อรับมือกับปัญหาในปัจจุบันและความท้าทายในอนาคต

ขณะที่บลูมเบิร์กรายงานอ้างตัวเลขการประเมินจากศูนย์การพัฒนาและการเงินสีเขียวว่า จีนได้ลงทุนถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ไปกับยุทธศาสตร์ BRI ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นโปรเจกต์แห่งศตวรรษ ทว่าหนทางหลังจากนี้อาจเต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งจากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบโครงการต่างๆ ไปก่อนหน้านี้ ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจในจีนเองที่อาจทำให้จีนต้องผ่อนเครื่องยนต์ลงทุนบีอาร์ไอลง และจากพันธมิตรบางรายที่อาจถอนตัวไป เช่น อิตาลี 

หยุน ซัน ผู้อำนวยการฝ่ายจีนจากสถาบันคลังสมองสติมสัน เซ็นเตอร์ มองว่าหากพิจารณาจากท่าทีของคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติของจีน (NDRC) ที่ส่งสัญญาณเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ก้าวต่อไปของ BRI คือการเดินหน้าก่อสร้างโครงการ "คุณภาพสูงที่ให้ประโยชน์กับประเทศพันธมิตรได้ดีกว่า" ก็อาจเป็นการสื่อได้ว่า การลงทุนของจีนใน BRI หลังจากนี้จะไม่ใช่การหว่านเงินไปกับเมกะโปรเจกต์เหมือนที่ผ่านๆ มา แต่จะเป็นการ "คัด" และ "คำนวณ" มากขึ้นถึงประโยชน์ที่จะได้จากการลงทุน เพื่อรับกับความเป็นจริงในปัจจุบันที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงด้วย  

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...