คว่ำบาตร ‘อิสราเอล’ นโยบายที่ ‘โลกมุสลิม’ ช่วยเหลือ ‘ปาเลสไตน์’

Key Points: 

  • สันนิบาตอาหรับมีบทบาทสำคัญในการคว่ำบาตรอิสราเอล ด้วยการโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจ พร้อมกีดกันไม่ให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสนับสนุนอิสราเอล
  • ปัจจุบันมีถึง 13 ประเทศที่ห้ามไม่ให้ผู้ที่ถือพาสปอร์ตอิสราเอลเดินทางเข้าประเทศ
  • ชาวปาเลสไตน์ ก่อตั้งขบวนการ BDS สนับสนุนการคว่ำบาตร ลดการลงทุนและลงโทษทางเศรษฐกิจต่อประเทศอิสราเอล

 

สถานการณ์ความรุนแรงระหว่าง “อิสราเอล” กับ “กลุ่มฮามาส” ยังคงตึงเครียดอย่างหนัก กองทัพอิสราเอลโจมตีตอบโต้อย่างหนัก และปิดล้อมพื้นที่ฉนวนกาซา ขณะที่กลุ่มฮามาสออกมาขู่จะสังหารตัวประกัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งในอิสราเอลและปาเลสไตน์มากกว่าพันคน และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การต่อสู้ระหว่างอิสราเอลและ “ปาเลสไตน์” เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ที่ชาวยิวประกาศเอกราชของรัฐของตนเองขึ้น ตามพื้นที่ที่สหประชาชาติแบ่งให้ ในวันที่ 14 พ.ค. 2491 โดยตั้งชื่อประเทศว่าอิสราเอล ซึ่งทำให้ชาวปาเลสไตน์ไม่พอใจ เพราะพวกเขาอยู่ในแผ่นดินนี้มายาวนานนับร้อยปี จู่ ๆ มาแบ่งประเทศให้กับชาวยิวที่มาทีหลัง ทำให้กลุ่มสมาชิกสันนิบาตอาหรับ รวมถึงประเทศในโลกมุสลิมอื่น ๆ ไม่ยอมรับและทำการ “คว่ำบาตร” อิสราเอลมาจนถึงปัจจุบัน

  • โลกมุสลิมคว่ำบาตรอิสราเอล

สันนิบาตอาหรับ เป็นองค์กรของกลุ่มประเทศโลกอาหรับ มีเป้าหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและประสานความร่วมมือ เพื่อปกป้องเอกราชและอธิปไตย และพิจารณากิจการและผลประโยชน์ของประเทศอาหรับในแนวทางทั่วไป

ทั้งนี้ สันนิบาตอาหรับ ก่อตั้งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนอิสราเอลตั้งประเทศไม่นาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการคว่ำบาตรอิสราเอล ด้วยการโดดเดี่ยวอิสราเอล ไม่ให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมกีดกันไม่ให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสนับสนุน เพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการทหารของอิสราเอล

เนื่องจากอิสราเอลรายล้อมไปด้วยประเทศที่เป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับ ทำให้อิสราเอลไม่สามารถสร้างระบบคมนาคมเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เครื่องบินของอิสราเอล หรือเที่ยวบินตรงสู่อิสราเอลไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านน่านฟ้าของประเทศสมาชิกสันนิบาตอาหรับ 

นอกจากนี้ องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศของรัฐมุสลิม ยังเรียกร้องให้สมาชิกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับ ได้แก่ อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ บรูไน ชาด อินโดนีเซีย อิหร่าน มาเลเซีย มาลี ไนเจอร์ และปากีสถาน เข้าร่วมการคว่ำบาตรทางการทูตกับอิสราเอล พร้อมห้ามนำเข้าสินค้าที่ผลิตโดยชาวยิวหรือมีชาวยิวเป็นเจ้าของ

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อตกลงสันติภาพออสโล กลุ่มประเทศสภาความร่วมมือสำหรับรัฐอาหรับแห่งอ่าวเปอร์เซีย (GCC) ซึ่งประกอบไปด้วย บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ยุติการมีส่วนร่วมในการคว่ำบาตรอิสราเอล สันติภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่ก็ยังมีหลายประเทศที่บอยคอตอิสราเอลทั้งทางการทูตและทางการค้าอยู่จนถึงปัจจุบัน

  • ชาติมุสลิมรุมสกัดเข้าประเทศ

Henley and Partners บริษัทให้บริการลงทุนเพื่อขอวีซ่าถาวรหรือสัญชาติ จัดให้อิสราเอลเป็นประเทศที่มีพาสปอร์ตทรงอิทธิพลที่สุดในอันดับที่ 20 ของโลก ซึ่งสามารถเข้าได้ 160 ประเทศหรือดินแดน โดยต้องขอวีซ่าหรือวีซ่าเมื่อเดินทางมาถึง (VOA) 

ในจำนวน 160 ประเทศนี้ มีถึง 13 ประเทศที่ห้ามไม่ให้ผู้ที่ถือพาสปอร์ตอิสราเอลเดินทางเข้าประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย บรูไน อิหร่าน อิรัก คูเวต เลบานอน ลิเบีย มาเลเซีย ปากีสถาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย และเยเมน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับสนับสนุนและส่งความช่วยเหลือให้แก่ปาเลสไตน์ทั้งสิ้น 

อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศใน 13 ประเทศข้างต้นที่พลเมืองอิสราเอลไปเยือนได้ หากมีใบอนุญาตที่ออกโดยกระทรวงมหาดไทยของอิสราเอล โดยรัฐมนตรีว่ามหาดไทยประกาศว่า พลเมืองอิสราเอลทั้งชาวมุสลิมและชาวยิวสามารถเดินทางไปซาอุดีอาระเบียในกรณีที่มีวัตถุประสงค์ทางศาสนาและธุรกิจได้ 

ขณะที่มาเลเซียกำหนดให้บุคคลสัญชาติอิสราเอลต้องลงตราวีซ่าและต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยก่อนล่วงหน้า นอกจากนี้ ชาวอิสราเอลสามารถเดินทางไปเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรักได้เช่นกัน

ส่วนอิหร่าน คูเวต เลบานอน ลิเบีย ซีเรีย และเยเมน ไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีหลักฐานการเดินทางไปอิสราเอล หรือมีวีซ่าอิสราเอลที่ใช้แล้วหรือยังไม่ได้ใช้ เข้าประเทศของตน

เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดดังกล่าว หลายประเทศจึงออกพาสปอร์ตเล่มที่สองให้กับพลเมืองของตน ชาวอิสราเอลเองก็พยายามถือสองสัญชาติเพื่อหลีกเลี่ยงการห้ามเดินทางข้างต้น

ด้านทางการอิสราเอลพยายามแก้ปัญหาด้วยการยกเลิกประทับตราทั้งขาเข้าและขาออกในหนังสือเดินทาง เมื่อเดินทางเข้าสู่อิสราเอลจะได้รับเป็นบัตรสีฟ้าใช้แทนพาสปอร์ต ดังนั้นผู้ที่เข้าประเทศจะต้องเก็บรักษาบัตรนี้ไว้ให้ดี เพราะในสถานที่สาธารณะหลายแห่ง เช่น โรงแรม มักจะขอตรวจก่อนเข้าพัก และเมื่อจะเดินทางออกจากประเทศ จะได้รับบัตรสีชมพูสำหรับให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ

ตามกฎหมายป้องกันการแทรกซึมของอิสราเอล 2497 (Prevention of Infiltration Law) กำหนดให้ เลบานอน ซีเรีย ซาอุดีอาระเบีย อิรัก เยเมน ถูกกำหนดให้เป็น "รัฐศัตรู" (Enemy States) ส่วนอิหร่านเพิ่งเพิ่มเข้ามาเมื่อเดือน ม.ค. 2563 หลังเกิดการปฏิวัติอิหร่านในปี 2522 โดยกลุ่มประเทศทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคู่ขัดแย้งกับอิสราเอลสิ้น

เดิมทีอียิปต์และจอร์แดน เคยอยู่ในลิสต์รัฐศัตรูของอิสราเอลด้วยเช่นกัน แต่ในปี 2521 และ 2537 อิสราเอลได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับทั้ง 2 ประเทศ 

 

  • ปาเลสไตน์งัดกลยุทธ์คว่ำบาตร

ปี 2548 โอมาร์ บาร์กูติ และ รามี ชาอัต ชาวปาเลสไตน์ ก่อตั้งขบวนการ BDS ซึ่งย่อมาจาก Boycott, Divestment and Sanctions (คว่ำบาตร ลดการลงทุน และลงโทษ) สนับสนุนการคว่ำบาตร ลดการลงทุนและลงโทษทางเศรษฐกิจต่อประเทศอิสราเอล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกดดันอิสราเอลถอนตัวออกจากดินแดนยึดครองในช่วงสงคราม 6 วัน รื้อถอนกำแพงแบ่งแยกดินแดนในเขตเวสต์แบงก์ มอบความเสมอภาคสมบูรณ์สำหรับพลเมืองอิสราเอลเชื้อสายอาหรับ-ปาเลสไตน์ ตลอดให้ความเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิของผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในการกลับสู่บ้านเกิดของพวกเขา

BDS รณรงค์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงซื้อสินค้าหรือลงทุนในบริษัทของอิสราเอล พร้อมถอนการลงทุนในธนาคาร กองทุน บริษัทต่างชาติ เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นถอนการลงทุนในอิสราเอล และกดดันให้รัฐบาลของตนเองยุติการซื้อขายอาวุธทางทหารและข้อตกลงการค้าเสรีกับอิสราเอล พร้อมระงับการเป็นสมาชิกของอิสราเอลในเวทีระหว่างประเทศ

หนึ่งในแคมเปญของ BDS ที่มีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันคือ สัปดาห์การแบ่งแยกสีผิวอิสราเอล หรือ IAW (Israel Apartheid Week) จัดในช่วงเดือน ก.พ. หรือ มี.ค. ของทุกปี มุ่งหวังที่จะเพิ่มความตระหนักรู้ประวัติศาสตร์ของชาวปาเลสไตน์ ที่ต้องเผชิญการกดขี่และการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ไม่ใช่เพียงแค่ความขัดแย้งระหว่างคนสองเชื้อชาติ

มาตรการคว่ำบาตรของโลกมุสลิมที่มีต่ออิสราเอลยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งในปัจจุบันอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออิสราเอลเท่าในอดีต แต่ถ้าหากสงครามครั้งนี้ยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก 

 

ที่มา: ABC, Aljazeera, Visa Guide

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...