'ชัยธวัช-พิธา' นำทีม สส.รำลึก 6 ตุลาฯ ชี้เพราะเหตุนี้จึงต้องชงนิรโทษกรรม

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2566 ที่ลานประติมานุสรณ์ 6 ต.ค. 2519 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แกนนำพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตลอดจน สส.ก้าวไกล หลายคน ได้เดินทางมาร่วมงานรำลึกครบรอบ 47 ปี เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 พร้อมวางพวงมาลาและช่อดอกไม้ไว้อาลัยให้กับผู้สูญเสียในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยก่อนพิธีการจะเริ่มต้น ทั้งสองได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนถึงประเด็นต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 และสถานการณ์ทางการเมืองทั่วไปในปัจจุบัน

โดยนายพิธา กล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 เป็นบทเรียนที่เราไม่ควรลืมว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 47 ปีที่แล้วเป็นความรุนแรงที่ไปไกลเกินกว่าที่ใครควรจะรับได้ ที่คนในรุ่นปัจจุบันควรต้องถอดบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมศึกษาและทำความเข้าใจจากหลักฐานที่มีมากขึ้นในวันนี้ ให้เห็นถึงมุมองที่แตกต่าง ว่ามีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ต้องการทำให้เราลืมเหตุการณ์ในครั้งนี้เพื่อทดแทนด้วยความว่างเปล่า หลายปีที่ผ่านมามีความพยายามสะสางประวัติศาสตร์ข้อเท็จจริงมาโดยตลอด แม้จะยังไม่มีผลสรุปว่าใครต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 47 ปีที่แล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็เห็นได้ว่าคนรุ่นนี้เข้าถึงความจริงที่มีคนพยายามปกปิดมาตลอดมากกว่าคนรุ่นตนมากแล้ว

นายพิธา กล่าวด้วยว่า นี่คือเหตุผลว่าทำไมพรรคก้าวไกลจึงพยายามทำงานเพื่อทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 47 ปีที่แล้วไม่เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย ด้วยการยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เมื่อวานนี้ (5 ตุลาคม) ให้เป็นการถอนฟืนออกจากกองไฟ ไม่ให้เกิดความแตกแยกที่ไม่จบสิ้น ให้เกิดการสืบหาข้อเท็จจริง เกิดความยุติธรรม และให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้

ขณะที่นายชัยธวัช กล่าวว่า ในวาระ 47 ปี เราไม่ควรพูดถึงเพียงแค่การรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตเท่านั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตยังคงสะท้อนปัญหาทางการเมืองในสังคมไทยที่ยังเป็นโจทย์ตกค้างมาถึงปัจจุบันหลายเรื่อง เช่น สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกทางการเมือง ระบบกฎหมายและอำนาจรัฐต้องเคารพชีวิตและร่างกายของประชาชน ไม่ให้อำนาจใดมาพรากชีวิตและร่างกายของประชาชน ยังไม่นับว่าในสถานการณ์ปัจจุบันยังมีคนถูกดำเนินคดีอย่างรุนแรง จำคุก และละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เพียงเพราะความคิดเห็นทางการเมืองหลายพันคน 

"นั่นคือเหตุผลที่ทำให้พรรคก้าวไกลตัดสินใจยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้กับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดสืบเนื่องจากความเห็นทางการเมือง นับตั้งแต่วันแรกที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมมาจนถึงปัจจุบัน ที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยังยืดเยื้อไม่จบสิ้น ต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองเจตนาดี แสดงความคิดเห็นและชุมนุมเพื่อสร้างสังคมที่ดีในมุมของตัวเอง แต่เกิดความขัดแย้งมาจนไม่มีทางออกขนาดนี้ ประตูบานแรกที่จะนำไปสู่การหันหน้ามาคุยกัน ตั้งต้นใหม่ทางการเมืองตามเป้าหมายของรัฐบาลในการสร้างความปรองดอง ก็คือการคืนความยุติธรรม ทำให้ทุกฝ่ายลดกำแพงมาพูดคุยกัน ใช้กระบวนการประชาธิปไตยแสวงหากติกาการเมืองแบบใหม่ที่เรายอมรับที่จะอยู่ร่วมกัน" นายชัยธวัช กล่าว

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเชื่อว่ากระบวนการนิติบัญญัติในสภาจะเป็นพื้นที่ให้เราเอาความเห็นที่ไม่ตรงกัน มาออกแบบร่วมกันด้วยความรอบคอบ รอบด้าน มีวุฒิภาวะ และมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ที่พรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน รวมทั้ง สว. มีความเห็นที่เป็นจุดร่วมกันได้ ดังนั้น ตนจึงขอเชิญชวนให้ทุกฝ่ายมาพิจารณาร่วมกัน เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในฉบับของตัวเองขึ้นมาด้วยก็ได้ ผ่านวาระหนึ่งแล้วค่อยไปว่ากันในรายละเอียดที่เห็นต่างกันในวาระที่ 2 และ 3 ได้

เมื่อถามถึงความพึงพอใจของพรรคก้าวไกล ต่อคำตอบของภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต่อการตั้งกระทู้ถามสดในกรณีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อวานนี้ นายพิธา กล่าวว่า จากคำตอบที่ได้ ตนกลัวว่าสิ่งที่ทุกฝ่ายได้มีการศึกษามาตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนมีหลักการที่ออกมาตรงกันแล้วว่าต้องมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะถูกย้อนหลักการกลับ รวมถึงอาจเป็นการประวิงเวลา ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยต้องการ

ส่วนนายชัยธวัช กล่าวว่า จากคำตอบที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ยังไม่มีผลให้ สส. ส่วนใหญ่ในพรรคมีความเห็นที่แตกต่างไปจากมติเดิมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการดังกล่าว พรรคก้าวไกลมีจุดยืนที่ชัดเจนที่ต้องการให้เกิดการทำประชามติ ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจาก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง แต่แม้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้ร่วมเป็นกรรมการ พรรคก้าวไกลก็ยังคงยินดีที่จะเสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการในทางต่างๆ ที่ทำได้ 

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า เห็นว่าสิ่งที่พึงระวังสำหรับรัฐบาล ก็คือท่ามกลางความขัดแย้งแตกต่างทางความคิดหลายขั้ว ถ้าจัดการไม่ดีอาจมีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรงได้ในอนาคต เมื่อรัฐบาลมีอำนาจแล้วต้องใช้อย่างระมัดระวัง ควรเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายทุกความคิดได้มีพื้นที่ปลอดภัยในการเอาความคิดเห็นมาเสนอ สุดท้ายเสียงส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้เห็นด้วยทุกฝ่าย แต่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการจัดระบบทางการเมืองโดยไม่มีใครถูกกีดกัน

นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลอยู่บนพื้นฐานวิธีคิด ว่าการออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องไม่กีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไป ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยในทางการเมืองให้ทุกความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เสียงส่วนใหญ่ได้ข้อสรุปอย่างไรก็ต้องเห็นตามนั้น รัฐบาลไม่ควรมีท่าทีว่าใครที่ต้องการเสนอความคิดเห็นหรือจุดยืนทางการเมืองของตัวเองโดยยึดในหลักการที่ถูกต้อง คือคนที่เป็นชนวนความขัดแย้งหรือตัวปัญหา แบบที่มีท่าทีออกมาเมื่อวานนี้

“ถ้าพูดตามรัฐบาล ว่าใครก็ตามที่ยึดมั่นในหลักการมากเกินไประวังจะเป็นชนวนความขัดแย้ง เป็นเรื่องที่น่าเสียใจมาก เหมือนกับการพูดว่าเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาที่ยืนยันหลักการที่ถูกต้องคือคนที่เป็นชนวนปัญหาใช่หรือไม่ กระบวนการที่เปิดพื้นที่ให้ทุกความคิดเห็นต่างหากที่สำคัญ แม้ทุกคนจะไม่ได้ทุกอย่างที่ต้องการ อย่าผลักให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีพื้นที่ทางการเมือง อย่าผลักให้คนที่เสนอในหลักการที่ถูกต้องกลายเป็นคนที่เป็นชนวนของความขัดแย้ง” นายชัยธวัช กล่าว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...