สว.อนุพร ชี้ แก้ รธน.หากไม่แตะข้อห้าม ม.255 ก็ไม่ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง

สว.อนุพร ระบุ แก้ รธน.ต้องไม่แตะข้อห้าม ม.255 หากไม่ยุ่งก็ไม่จำเป็นทำประชามติถึง 3 ครั้ง บอกใช้กลไกยื่นญัตติสภาผ่านวาระ 3 ค่อยออกเสียงประชามติครั้งเดียว พร้อมตั้งข้อสังเกตถาม ครม.ใช้อำนาจใดคิดตั้งส.ส.ร. เชื่อ ประชาชนหวังรัฐบาลเร่งแก้เศรษฐกิจปากท้องก่อน 


วันที่ 2 ต.ค. นายอนุพร อรุณรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตที่ปรึกษานายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นที่คณะรัฐมนตรีเตรียมตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ ว่า หลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย่อมต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 255 และ 256 ซึ่งเป็นบทเฉพาะว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยต้องยึดหลักการใหญ่ที่บัญญัติไว้เป็นข้อห้ามเด็ดขาดในมาตรา 255 ว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ต้องไม่ทำลายหลักนิรันดรของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเป็นแนวป้องกันไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ซึ่งแม้ว่าในร่างแก้ไขจริงอาจจะไม่ได้ระบุข้อความตามข้อห้ามที่บัญญัติดังกล่าวไว้โดยตรงก็ตาม แต่หากปรากฏว่ามีเนื้อหาส่วนหนึ่งส่วนใดที่มีผลขัดหรือแย้งกับข้อห้ามดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการแก้ไขที่ขัดกับข้อห้ามตามบทบัญญัติมาตรา 255 ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะกระทำไม่ได้

...

ส่วนหลักการย่อยที่เกี่ยวกับวิธีการและเงื่อนไขในการแก้ไขนั้นเป็นไปตามที่บัญญัติในมาตรา 256 โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้มีการออกเสียงประชามตินั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับเป็นเงื่อนไขทั่วไปว่าจะต้องทำการออกเสียงประชามติเสียก่อน แต่บังคับให้กระทำในกรณีที่เข้าเงื่อนไขเฉพาะตาม (8) เท่านั้น คือเมื่อร่างแก้ไขนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับ หมวด 1 (บททั่วไป) หมวด 2 (พระมหากษัตริย์) หรือหมวด 15 (การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเกี่ยวกับเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างแก้ไขที่ผ่านความเห็นชอบในวาระสามแล้วขึ้นทูลเกล้าฯ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
 
ดังนั้น หากการแก้ไขที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาตามเงื่อนไขดังกล่าว ก็ไม่จำเป็นต้องทำประชามติแต่อย่างใด และหากจะต้องทำก็ไม่ใช่ทำก่อนการแก้ แต่ให้ทำหลังจากการแก้ได้ผ่านการให้ความเห็นชอบในวาระสามในสภาแล้ว
 
เมื่อถามว่า ทั้งนายกฯ และคนในรัฐบาลระบุชัดว่า ต้องทำประชามติถามประชาชนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงเลือก ส.ส.ร.มายกร่างใหม่ ตามรัฐธรรมนูญปี 60 นั้น สามารถทำได้หรือไม่? อย่างไร? สว.อนุพร กล่าวว่า ส่วนที่เกี่ยวกับการเลือก ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างนั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้มีการพูดถึงในเรื่องนี้ มีแต่ให้จัดทำร่างแก้ไขในรูปของญัตติเสนอต่อรัฐสภา โดยที่ญัตตินั้นจะต้องมาจาก 3 สายคือมาจาก ครม. มาจาก สส.ไม่น้อยกว่าหนี่งในห้าของสมาชิกสภาผู้แทนฯ หรือจาก สส.และ สว. ไม่น้อยกว่าหนี่งในห้าของสมาชิกทั้งสองสภา และมาจากประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน
 
เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ดังกล่าว เห็นว่ารัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ญัตติร่างแก้ไขฯ ต้องมาจาก 3 สายเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าต้องมาจาก ส.ส.ร.ด้วย ส่วนในทางปฏิบัติหากเจ้าของญัตติในสาย ครม. จะเลือก ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างให้แทน แม้ไม่มีข้อห้ามอยู่ในรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ก็มีข้อพิจารณาที่สำคัญด้วยเช่นกันว่า ครม.อาศัยอำนาจจากกฎหมายใดให้ทำการดังกล่าว เนื่องจากการใช้อำนาจใดๆ ของ ครม.จะต้องมีที่มาจากฐานของอาณัติกฎหมายรองรับด้วย ไม่สามารถอ้างเอาอาณัติการเมืองว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลมาใช้โดยลำพังได้

ที่สำคัญองค์กร ส.ส.ร. เองนั้น ทั้งสถานะและที่มาถือเป็นองค์กรการเมืองที่บทบาทและอำนาจหน้าที่ที่มีผลต่อการกำหนดสาระสำคัญของร่างแก้ไขอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งไม่มีหลักประกันทางกฎหมายในการกำกับควบคุมการทำหน้าที่ของ ส.ส.ร.ว่าเป็นการทำตามเหตุผล และความต้องการทางการเมืองขององค์กรที่ก่อตั้งตน หรือทำตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งโดยสัญญาประชาคม ซึ่งตั้งอยู่บนฐานเจตจำนงร่วมของส่วนรวมที่อยู่เหนือฝ่ายการเมืองใดหรือไม่ แม้จะอ้างว่าเป็นสิทธิของฝ่ายข้างมากก็ตาม แต่ไม่สามารถนำมาใช้กับกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ ใช้ได้แต่กับเฉพาะกฎหมายธรรมดาทั่วไปเท่านั้น

เมื่อถามว่า มองอย่างไรหากจะต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง มีความเหมาะสม เวลาความเร่งด่วน และงบประมาณ?

สว.อนุพร กล่าวว่า หากการทำประชามติมากถึง 3 ครั้งนั้น จะเป็นภาระงบประมาณที่กระทบกับการจัดสรรเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้ทันกับความต้องการของประเทศและประชาชนที่มีลำดับความสำคัญ และมีความเร่งด่วนอื่นที่มีอยู่อีกมาก โดยเฉพาะการเร่งรัดฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อปากท้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดใหญ่ของโควิด ปัญหาว่างงานจากการปิดกิจการ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น ปัญหาการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนที่ผู้ปกครองต้องล้มเลิกกิจการหรือสูญเสียอาชีพจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้สินล้นพ้นจนต้องถูกยึดบ้านยึดรถ และความขัดสนฝืดเคืองในการดำรงชีพของประชาชน ล้วนมีความสำคัญที่ควรได้รับการเยียวยาแก้ไขก่อน
 
ทั้งนี้ งบประมาณตามที่นายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์ ประมาณการไว้ที่ครั้งละ 4,000-5,000 ล้านบาท ถ้าทำ 3 ครั้งต้องใช้งบประมาณหมื่นกว่าล้านบาท เมื่อพิจารณาประกอบกับนโยบายเร่งด่วนที่ต้องใช้กับโครงการต่างๆ ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากอย่าง เช่น การแจกเงินดิจิทัล ก็ยังถกเถียงเรื่องที่มาของงบประมาณกันอยู่ หากมองถึงกรณีความเร่งด่วนอาจมองได้ทั้งมุมที่จัดลำดับไว้ในนโยบายของรัฐบาล และมุมที่เป็นปัญหาความต้องการที่ประชาชนมีความคาดหวัง 

สว.อนุพร ระบุด้วยว่า ถ้าหากจะถามความเห็นประชาชนว่าอยากเลือกอะไรก่อน ระหว่างเรื่องปากท้องทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ของประชาชนโดยตรง กับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นความต้องการและประโยชน์ทางการเมือง ก็พอจะคาดหมายได้ว่าประชาชนอยากได้อะไรก่อน อย่างไรก็ตาม สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น การทำประชามติ หากจำเป็นต้องทำจริงๆ กรณีที่การแก้ไขเข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) ก็สามารถทำเพียงครั้งเดียวได้ ไม่ต้องทำถึง 3 ครั้ง
 
นอกจากนี้ สว.อนุพร ยังมองว่า ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ภาคการเมือง โดยพรรคการเมืองต่างๆ ได้เสนอแก้ไขไว้จำนวนมากแล้ว จึงขอให้เพิ่มในส่วนที่เกี่ยวกับภาคประชาชนและสังคมให้มากขึ้น ซึ่งควรหยิบยกมาพิจารณาเพิ่มเติม เช่น ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สวัสดิการและสวัสดิภาพของผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การสร้างความเป็นธรรมในสังคม การศึกษา ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญเพื่อทำให้ความเป็นอยู่ที่ดีกับประชาชน แทนที่จะมุ่งแต่ในส่วนที่เป็นโครงสร้างทางการเมืองเป็นหลัก

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...