'ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง' กระแสลมสีเขียวจะเปลี่ยนทิศ?

อันเป็นสมัยที่สองของทรัมป์นี้ได้นำมาซึ่งคำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนหลายประการ โดยทรัมป์เจ้าของสโลแกนดังอย่าง  “Make America Great Again” แคมเปญหาเสียงเลือกตั้งในปี 2016 และได้ใช้มาอย่างต่อเนื่องตลอดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างปี 2017-2021 เป็นผู้นำที่มีภาพลักษณ์ที่มีจุดยืนที่อาจเรียกได้ว่า “ไม่สอดคล้อง” กับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเท่าใดนัก

เริ่มด้วยจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้การบริหารประเทศครั้งก่อน ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่ออกตัวสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างชัดเจน โดยในสมัยแรกที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2016-2020 การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นถึง 30 % และเราอาจได้เห็นการยกเลิกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนให้มีการผลิตน้ำมันมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ทรัมป์เคยนำสหรัฐฯ “ถอนตัว” จากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ก่อนจะกลับเข้ามาในข้อตกลงนี้อีกครั้งในสมัยอดีต ปธน. โจ ไบเดน ถ้าทรัมป์ยังคงจุดยืนเช่นเดิมอยู่ และต้องการนำสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีสอีกครั้ง นั่นหมายถึงการชะลอลงของการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือการปรับเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ทรัมป์อาจยกเลิกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่สำคัญ รวมถึงกฎการเปิดเผยข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ของสหรัฐฯ ที่กำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2026 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความโปร่งใสที่นักลงทุนใช้ในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ และการประเมินความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำได้ยากยิ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในด้านนโยบายสังคม รัฐบาลทรัมป์ในอดีตให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการคุ้มครองสิทธิแรงงานและยังต่อต้านกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งทรัมป์อาจลดข้อบังคับด้านสิทธิแรงงานและจำกัดการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารแรงงาน เช่น ความไม่พอใจของพนักงาน และอาจเพิ่มข้อพิพาททางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อแรงงานโดยไม่เป็นธรรม ยังไม่นับนโยบายเรื่องการรับผู้อพยพ โดยในสมัยแรก ทรัมป์มีนโยบาย “การสร้างกำแพง (Build the Wall)” อีกทั้งอาจดำเนินการปิดพรมแดนด้วยการสร้างกำแพงกันผู้ลักลอบเข้าเมืองจากเม็กซิโกให้แล้วเสร็จ พร้อมยกระดับการบังคับใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองให้เข้มงวดยิ่งกว่าเดิม

ในมิติด้านการกำกับดูแลและผลกระทบต่อการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ครั้งดำรงตำแหน่งสมัยแรกนั้น รัฐบาลทรัมป์ได้ออกคำสั่งที่ทำให้กองทุนเกษียณอายุต่างๆ ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการลงทุนด้าน ESG ทั้งยังต่อต้านแนวคิดด้านการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ซึ่งเปรียบเสมือนอีกหนึ่ง “เข็มทิศ” สู่ความยั่งยืน

โดยทรัมป์มีจุดยืนว่ากฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไปจะสร้างอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่เราจะเห็นการลดกฎระเบียบด้าน ESG ที่เกี่ยวข้อง ในมุมหนึ่งการลดกฎระเบียบเหล่านี้อาจช่วยลดภาระธุรกิจได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอาจเป็นอุปสรรคแก่ธุรกิจเองหรือไม่

สหรัฐอเมริกาคือประเทศมหาอำนาจที่กำหนดทิศทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก และการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์นำมาซึ่งความกังวลด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้ มีโอกาสไม่น้อยที่เราจะได้เห็นเชื้อเพลิงฟอสซิลกลับมามีบทบาทอีกครั้ง หรือแม้แต่กฎระเบียบด้าน ESG ที่ผ่อนปรนความเข้มงวดลง ความท้าทายจึงจะตกไปอยู่กับนักลงทุนและธุรกิจในประเทศต่างๆ รวมถึงในประเทศไทย ที่ได้พากเพียรสร้างผลลัพท์เชิงบวกมาเป็นเวลาหลายปี และคงไม่มีใครอยากเห็นความพยายามที่ผ่านมา “สูญเปล่า” ดังนั้น จับตามองอย่างใกล้ชิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะเราอาจจำต้องปรับตัวกับภูมิทัศน์ทางการเมืองสหรัฐที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้การเดินทางสู่ความยั่งยืนยังคงราบรื่นครับ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'จีน' ผ่านงบใหญ่ 10 ล้านล้านหยวน ลุยแก้หนี้แฝงรัฐบาลท้องถิ่น

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าในวันนี้ (8 พ.ย.67) ที่ประชุมคณะกรรมาธิการสภาประชาชนแห่งชาติของจีน มีมติ...

‘ทรัมป์’ เลือก ‘ซูซี่ ไวลส์’ เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว สตรีคนแรกรับตำแหน่งนี้

การแต่งตั้ง “ซูซี่ ไวลส์” ดำรงตำแหน่ง ‘แม่บ้านทำเนียบขาว’ เป็นเพียงการประกาศครั้งแรกจากการประกาศแต่ง...

ธนาคารและบริษัทโทรศัพท์ ต้องรับผิดชอบต่อการหลอกลวงออนไลน์

กฎหมายนี้จะเน้นไปที่การหลอกลวงแบบ Phishing เช่น เว็บไซต์ปลอม อีเมลปลอม หรือ SMS ปลอม ที่มิจฉาชีพปลอม...

‘ซาราห์ แม็คไบรด์’ หญิงข้ามเพศคนแรกในสภาสหรัฐ

“ซาราห์ แม็คไบรด์” สมาชิกวุฒิสภาสองสมัยจากรัฐเดลาแวร์ กลายเป็น “ผู้หญิงข้ามเพศคนแรก” ที่ชนะการเลือกต...