Google ปักหมุดอาเซียน วางรากฐานดิจิทัล, AI และพลังงานสะอาด

ภาพที่ปรากฏ ณ อาคารสำนักงานใหญ่ Google ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศสิงคโปร์ ไม่ได้สะท้อนเพียงความทันสมัยของออฟฟิศที่เต็มไปด้วยพนักงานเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์บัญชาการของแผนการณ์ที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าเทคโนโลยีทั้งภูมิภาค

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศเหล่านี้ผ่านงาน Google Cloud Gen AI Summit 2024 จึงได้สรุปประเด็นสำคัญไว้ดังต่อไปนี้ 

การแข่งขันบนสมรภูมิ ‘คลาวด์’

ช่วงที่ผ่านมา Google ได้ประกาศแผนการลงทุนครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์ในประเทศไทยเพื่อสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) แห่งแรกที่จังหวัดชลบุรี และ Cloud Region ที่กรุงเทพมหานคร 

ขณะเดียวกัน บริษัทได้ลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์ในมาเลเซีย และ 5 พันล้านดอลลาร์ในสิงคโปร์ เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การลงทุนนี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด

Google ได้สร้างพันธมิตรในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึง Gulf Edge เพื่อสร้างระบบคลาวด์ที่ทำให้แต่ละประเทศมีการควบคุมข้อมูลได้เต็มที่ เรียกได้ว่าเป็นคลาวด์แบบ “อธิปไตย” หรือ “Sovereign Cloud” ที่จะเก็บข้อมูลไว้อย่างปลอดภัยในประเทศนั้นๆ ทำให้หน่วยงานภาครัฐและธุรกิจที่ต้องการปกป้องข้อมูลในระดับสูงสามารถใช้ประโยชน์จากคลาวด์ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเข้าถึงข้อมูลจากต่างประเทศ 

นวัตกรรมเพื่อการทำงานยุคใหม่

นอกจากนี้ Google ได้กล่าวถึง การพัฒนาเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยทางบริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เขาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ “Workspace” โดยล่าสุดได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ชื่อ “Vids” ช่วยให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์วิดีโอได้ง่ายขึ้น 

ทางบริษัทอธิบายว่า ความสามารถด้านข้อมูลและการวิเคราะห์ของ Google Cloud ช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ Gemini เพื่อช่วยองค์กรปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มอย่าง Vertex ที่เปิดโอกาสให้ยูสเซอร์เลือกใช้โมเดล AI อื่นๆ รวมถึงการเลือกใช้โมเดลจากพาร์ทเนอร์อย่าง Anthropic หรือ Mistral เพื่อการใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพอีกด้วย 

Vertex AI รองรับการสร้างกระบวนการ RAG ในการดึงข้อมูล จัดอันดับเอกสาร และจัดการข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ AI ตอบคำถามได้ถูกต้อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น การแพทย์และการเงิน โดยยังเปิดให้เชื่อม Gen AI กับ Google Search ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้และมีความทันสมัย นอกจากนี้ Google Cloud ยังร่วมมือกับผู้ให้บริการข้อมูลชั้นนำ เช่น Moody’s, MSCI, Thomson Reuters และ Zoominfo เพื่อเพิ่มแหล่งข้อมูลภายนอกที่มีคุณภาพ

Google Cloud เชื่อว่า การเติบโตของคลาวด์จะยังคงดำเนินต่อไป พร้อมรองรับองค์กรที่ต้องการใช้โซลูชันแบบไฮบริด โดยบริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาแนวทางไฮบริดและมัลติคลาวด์ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการระบบงานได้อย่างยืดหยุ่นตามความต้องการ

“ขณะนี้ 75% ของผู้ให้บริการซอฟต์แวร์อิสระรายใหญ่ได้นำเทคโนโลยี AI ของ Google Cloud มาใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจแล้ว” อรรณพ ศิริติกุล Country Director, Google Cloud ประเทศไทย กล่าว

วิสัยทัศน์ด้านพลังงานสะอาด

อย่างไรก็ดี หนึ่งในประเด็นสำคัญอีกอย่างคงไม่พ้นด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยีอย่าง AI นั้นทำให้ใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นจากการประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

Google ฐานะที่เป็นหนึ่งในบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ ชี้แจงว่า พวกเขา “มีความมุ่งมั่น” ที่จะลดผลกระทบด้านพลังงานที่เกิดจากการพัฒนา AI 

บริษัทอธิบายว่า ศูนย์ข้อมูลของ Google ได้รับการออกแบบให้มีประสิทธิภาพสูงในการใช้พลังงาน โดยใช้พลังงานน้อยกว่าศูนย์ข้อมูลทั่วไปถึง 1.8 เท่า และมีค่า PUE (Power Usage Effectiveness) เพียง 1.10 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 1.58 นอกจากนี้ ยังใช้ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำที่ช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 10%

นอกจากนี้ ด้านการฝึกฝนโมเดลเอไอ Google ได้พัฒนา Gemini 1.5 Pro ที่ใช้พลังงานน้อยกว่าแต่ให้ผลลัพธ์ที่เทียบเท่า Gemini 1.0 Ultra และยังร่วมกับพันธมิตรสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลจากขยะในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งช่วยผลิตพลังงานได้มากกว่าพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 6 เท่าในขนาดที่เท่ากัน

Google ตั้งเป้าที่จะดำเนินการศูนย์ข้อมูลและคลาวด์ด้วยพลังงานสะอาด 100% ตลอด 24 ชั่วโมงภายในปี 2030 โดยได้ลงนามในสัญญาซื้อพลังงานสะอาดระยะยาวกว่า 275 เมกะวัตต์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และกำลังพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดรูปแบบต่างๆ เช่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานนิวเคลียร์รุ่นใหม่ และการกักเก็บพลังงานระยะยาว

เทคโนโลยี AI เพื่อธุรกิจท้องถิ่น

นอกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแต่ละประเทศแล้ว Google ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบนิเวศทางเทคโนโลยีในภูมิภาค ผ่านโปรแกรม Google for Startups Accelerator: AI First Singapore สนับสนุนสตาร์ตอัปที่ใช้ AI แก้ปัญหาท้องถิ่น โดยภายในงานมีการนำเสนอโซลูชันของสตาร์ตอัปแต่ละราย เช่น 

  1. Atlas : แพลตฟอร์มบริหารจัดการร้านอาหารแบบครบวงจร ที่ใช้ AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
  2. DiMuto : โซลูชันที่ใช้ AI ในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรและจัดการห่วงโซ่อุปทาน
  3. Eklipse : เครื่องมือที่ใช้ AI ช่วยสร้างคอนเทนต์วิดีโอสั้นสำหรับสตรีมเมอร์และผู้ขายออนไลน์
  4. Transparently.AI : ระบบ AI ที่ช่วยตรวจจับการทุจริตทางบัญชีและการเงิน

ท้ายที่สุดแล้ว หมุดหมายที่สำคัญของ Google คือ ตั้งเป้าที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ให้ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนผ่านการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัย ประหยัดพลังงาน และยั่งยืนในระยะยาว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ซูเปอร์ไต้ฝุ่น ‘กองเร็ย’ ถล่มไต้หวัน เสียชีวิตแล้ว 1 ราย บาดเจ็บ 73 ราย

สำนักอุตุนิยมวิทยากลาง รายงานว่า พายุไต้ฝุ่นกองเร็ย ที่มีความเร็วลมสูงสุด 184 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัด...

'BYD' โค่น 'Tesla' มีรายได้รายไตรมาสแซงหน้า Tesla ครั้งแรก

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “บีวานดี” (BYD) ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีน ก้าวขึ้นนำค่ายรถอีวีสหรัฐอย่าง “เทสล...

'ทรัมป์-แฮร์ริส' ลุยหาเสียงโค้งสุดท้ายรัฐสมรภูมิ

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถือโอกาสจัดฉากหาเสียงบนรถขยะในรัฐวิสคอนซิน เมื่อวันพุธ เพื่อตอกย้ำกระ...

‘จิล ไบเดน’ ใส่มาสคอต ‘แพนด้า’ ควงปธน.ร่วมงานฮาโลวีนที่ทำเนียบขาว

สำนักข่าวเซาท์ไชนา มอร์นิง โพสต์ รายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และจิล ไบเดน ภรรยาของเขา เป็นเจ้าภาพ...