'PwC ประเทศไทย' มอง 'เจนเอไอ' หัวใจของกลยุทธ์ทางธุรกิจยุคดิจิทัล
วันที่ส่ง: 31/10/2024 - ผู้เขียน: กรุงเทพธุรกิจ
ปัจจุบันหลายธุรกิจมีการขับเคลื่อนด้วย "เจเนอเรทีฟเอไอ" (Generative AI) หรือ "เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายขีดความสามารถใหม่ ๆ อีกทั้งช่วยองค์กรในการลดต้นทุนและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า หรือช่วยให้ธุรกิจเอาตัวรอดได้ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน
ดร. กษิภณ อภิมุขคุณานนท์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับทาง "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันองค์กรในไทยมากกว่า 50% เริ่มมองเห็นความสำคัญของการนำ เจนเอไอ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศก้าวสู่ยุคดิจิทัล (Digital Era) อย่างสมบูรณ์แบบ
ทั้งนี้ ดร. กษิภณ มองเห็นถึง 5 ประโยชน์สำคัญของการนำ เจนเอไอ มาใช้กับภาคธุรกิจ ดังต่อไปนี้
- เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยเอไอสามารถเข้ามาช่วยงานที่ซ้ำซาก จำเจ หรืองานที่ต้องใช้เวลานาน ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานได้รวดเร็วขึ้นและมีเวลาไปโฟกัสกับงานอื่น ๆ ที่ต้องการทักษะเฉพาะ อีกทั้งยังช่วยให้องค์กรนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ตลาดได้เร็วกว่าเดิม
- ตอบโจทย์ลูกค้าที่หลากหลาย เอไอสามารถปรับแต่งการบริการให้ตรงกับความต้องการของแต่ละบุคคลได้อย่างแม่นยำ ทำให้ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจและเกิดความภักดีต่อแบรนด์มากขึ้นและส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้น
- สร้างโอกาสการจ้างงานทักษะด้านเอไอใหม่ การนำเจนเอไอเข้ามาใช้ภายในองค์กรต้องอาศัยพนักงานที่สามารถคิดค้นและพัฒนากรณีศึกษาใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการจ้างงานใหม่ ๆ ที่มีคุณค่า
- สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ การนำเจนเอไอมาประยุกต์ใช้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโมเดลธุรกิจที่แตกต่างและสร้างรายได้ในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
- เพิ่มอัตรากำไร แน่นอนว่าการใช้เจนเอไอในการทำงานและการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ จะช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ ส่งผลให้มีอัตรากำไรที่ดีขึ้น
ดร. กษิภณ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีบริษัทไทยที่เป็นผู้เล่นหลักในการนำเทคโนโลยี เจนเอไอ มาใช้ภายในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้เริ่มมองเห็นภาพของการใช้เทคโนโลยีใหม่ในโครงการต่าง ๆ และในบางองค์กรก็กำลังอัปเกรดซอฟต์แวร์ของตนให้เป็น "SAP S/4HANA" ซึ่งเป็นระบบการวางแผนทรัพยากรขององค์กรที่รองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง เจนเอไอ เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจในยุคดิจิทัลเปลี่ยนเร็ว
อย่างไรก็ดี ทางลัดสู่ความสำเร็จนั้นสามารถเรียนรู้ได้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันเครือข่าย PwC ทั่วโลกมีกรณีศึกษาของการนำซอฟต์แวร์ SAP S/4HANA มาประยุกต์ใช้กับองค์กรมากกว่า 400 กรณี ซึ่งถึงแม้ว่ากรณีศึกษาเหล่านี้จะสามารถนำมาปรับแต่งฟังก์ชันการทำงานเพื่อใช้กับองค์กรได้ทันที แต่ในบางกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เช่น ในยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ก็อาจนำมาปรับใช้ในประเทศไทยได้เพียงประมาณ 50 ถึง 60% เท่านั้นด้วยความแตกต่างด้านวัฒนธรรม โครงสร้างพื้นฐาน และความพร้อมของเทคโนโลยี นี่จึงเป็นที่มาของการพัฒนา "การทดสอบความเป็นไปได้" (Proof of Concept) ร่วมกับผู้ใช้งาน เพื่อทดสอบและปรับแต่งเจนเอไอให้เหมาะสมก่อนที่จะนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้จริงกับองค์กร
นอกจากนี้ PwC ยังมีโมเดลการทำงานที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถทำงานร่วมกับเจนเอไอได้อย่างยั่งยืนโดยเริ่มจากการจัดตั้ง "ศูนย์ความเป็นเลิศ" (Center of Excellence) ภายในองค์กรที่ประกอบด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอจากภายนอกประมาณ 20 ถึง 30% และพนักงานขององค์กร โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอจะทำการถ่ายโอนความรู้ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนาความสามารถในการใช้เอไอ จนเมื่อสุดท้ายองค์กรเริ่มมีความชำนาญในการใช้เอไอมากขึ้น ก็จะสามารถพัฒนาและจัดการระบบเอไอของตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาที่ปรึกษาอีกต่อไป
ดร. กษิภณ ยังกล่าวต่อด้วยว่า ในปี 2566 PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ลงทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในอีกสามปีข้างหน้า เพื่อสร้างและพัฒนากรณีการใช้งานเจนเอไอที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพผ่านความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่าง SAP ไมโครซอฟต์ และอเมซอน
อย่างไรก็ดี ดร. กษิภณ ยอมรับว่า ไทยยังคงเป็น "ผู้ตาม" ในการประยุกต์เทคโนโลยีนี้ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ยังตามหลังประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ก็เชื่อมั่นว่าในอีกสองปีข้างหน้าผู้คนจะเริ่มถามหาเจนเอไอมากขึ้นจนได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างภายในระยะเวลาประมาณห้าปีต่อจากนี้
เทรนด์การใช้ GenAI ต้องเริ่มต้นที่ "ผู้นำ"
ดร. กษิภณ กล่าวว่า หากผู้นำองค์กรไม่อยาก "ล้มเหลว" ในการป้อนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับองค์กร ก็ควรเริ่มต้นเปลี่ยนผ่านการใช้เทคโนโลยีให้กับคนทีละกลุ่ม โดยอาจเริ่มต้นจากกลุ่มนักนวัตกร (innovators) ที่มีความสนใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นกลุ่มแรกผ่านการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเอไอและให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้งาน รวมถึงสื่อสารถึงประโยชน์ที่สามารถเกิดขึ้นจากการนำเอไอมาใช้ด้วย
"เมื่อไรที่ไทยเปิดรับการใช้งานเอไออย่างแพร่หลายมากกว่านี้ เราก็จะสามารถก้าวเข้าสู่ดิจิทัลอีร่าได้อย่างสมบูรณ์แบบหลังจากพูดถึงดิจิทัลกันมานานกว่าสิบปี เราน่าจะได้เห็นภาพขององค์กรที่มีรูปแบบการทำงานที่ทันสมัยมากขึ้นและพนักงานก็น่าจะมีสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวในแบบฉบับเวิร์ค ไลฟ์ บาลานซ์มากขึ้นเช่นกัน"
ถึงแม้ว่าไทยจะยังไม่สามารถก้าวสู่ยุคดิจิทัลได้ 100% ดร. กษิภณ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้นำธุรกิจจะค่อย ๆ สามารถเปลี่ยนผ่านองค์กรทีละก้าวจนเมื่อเริ่มนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเจนเอไอเข้ามาใช้แล้ว เจนเอไอ ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อน "เศรษฐกิจดิจิทัล" ในอนาคตต่อไป
คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ
ซูเปอร์ไต้ฝุ่น ‘กองเร็ย’ ถล่มไต้หวัน เสียชีวิตแล้ว 1 ราย บาดเจ็บ 73 ราย
สำนักอุตุนิยมวิทยากลาง รายงานว่า พายุไต้ฝุ่นกองเร็ย ที่มีความเร็วลมสูงสุด 184 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัด...
'BYD' โค่น 'Tesla' มีรายได้รายไตรมาสแซงหน้า Tesla ครั้งแรก
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “บีวานดี” (BYD) ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีน ก้าวขึ้นนำค่ายรถอีวีสหรัฐอย่าง “เทสล...
'ทรัมป์-แฮร์ริส' ลุยหาเสียงโค้งสุดท้ายรัฐสมรภูมิ
อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถือโอกาสจัดฉากหาเสียงบนรถขยะในรัฐวิสคอนซิน เมื่อวันพุธ เพื่อตอกย้ำกระ...
‘จิล ไบเดน’ ใส่มาสคอต ‘แพนด้า’ ควงปธน.ร่วมงานฮาโลวีนที่ทำเนียบขาว
สำนักข่าวเซาท์ไชนา มอร์นิง โพสต์ รายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และจิล ไบเดน ภรรยาของเขา เป็นเจ้าภาพ...
ยอดวิว