กฎหมายยึดอำนาจ 'กองทัพ' ดาบสองคม 'รัฐบาลเพื่อไทย'

ย้อนกลับไปก่อน พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 จะมีผลบังคับใช้ "กองทัพ" ตกอยู่ภายใต้ฝ่ายการเมืองแบบเบ็ดเสร็จ ส่งผลให้เกิดปัญหาภายใน ฝ่ายการเมืองใช้อำนาจโดยตรงล้วงลูกแต่งตั้งโยกย้าย มีการกลั่นแกล้งข้าราชการประจำ 

ขณะที่งานด้านความมั่นคง มีการตัดสินใจผิดพลาด ขาดความรอบคอบเรื่องสำคัญ เช่น ความมั่นคงตามแนวชายแดน  การนิ่งเฉยหลังประเทศเพื่อนบ้านสร้างถนนเข้ามายังพื้นที่พิพาท การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ การปราบปรามยาเสพติด เนื่องจากรัฐบาลมุ่งเน้นงานด้านการเมืองมากกว่าความมั่นคง

จึงเป็นที่มา พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 เพื่อรวมอำนาจทุกอย่าง ในการตัดสินใจงานด้านความมั่นคง รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายภายในกองทัพ เข้าสู่ที่ประชุมสภากลาโหม โดย มี รมว.กลาโหม และ รมช.กลาโหม เป็นผู้อนุมัติ ก่อนนำเรียน นายกฯ และ ครม.

แต่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ถูกฝ่ายการเมืองโจมตีมาตลอด เป็นการใช้อำนาจรัฐซ้อนรัฐ ลดบทบาทฝ่ายการเมือง รมว.กลาโหม ทำหน้าที่เพียง "ตรายาง" ต้องเห็นชอบตามที่ "สภากลาโหม" ที่เป็นฝ่ายข้าราชการประจำ เสนอเท่านั้น ไร้อำนาจตัดสินใจในเรื่องสำคัญ

จึงเป็นที่มาความพยายามปรับแก้ ยกร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ขึ้นมาใหม่ ด้วยเหตุผลให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่กำหนดให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน

ล่าสุดการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อ 22 ต.ค. ที่มี  "แพทองธาร ชินวัตร" เป็นประธาน มีมติยังไม่รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ฉบับพรรคประชาชน โดย เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กับ คณะ เป็นผู้เสนอ

โดยให้เหตุผลว่า ร่างฉบับดังกล่าวมีรายละเอียดและผลกระทบเป็นวงกว้างและขอให้รอ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ฉบับรัฐบาล ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล นำมาประกบเข้าสู่การพิจารณาคู่กัน

ภายหลัง กระทรวงกลาโหม คัดค้าน  ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ฉบับ พรรคประชาชน เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจน ทั้งกรณี การกำหนดหลักการที่ระบุว่า แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่กำหนดให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน

และการกำหนดเหตุผลในส่วนที่ระบุว่า โครงสร้างการบริหารจัดการและการใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย อีกทั้งยังตัดอำนาจสภากลาโหม เป็นเพียง "คณะที่ปรึกษา"
ส่งผลให้การพิจารณา รมว.กลาโหม ขาดความรอบคอบ ผลักภาระความรับผิดชอบให้ รมว.กลาโหม เพียงผู้เดียว

ทั้งนี้การลดบทบาท สมาชิกสภากลาโหม ไม่ให้มีอำนาจตัดสินใจ คัดค้าน หรือให้ความเห็นใดๆในเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและการปรับย้ายภายในเหล่าทัพได้  เพราะเป็นเพียง คณะที่ปรึกษา ซึ่งมักมีคำพูดล้อเลียนตำแหน่งนี้ว่า " หากเขาไม่ถาม ก็ไม่ต้องเสนอ"

ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งทหารชั้นนายพล โดยกระบวนการแต่งตั้งเดิมเป็นการพิจารณาร่วมกันฝ่ายการเมืองกับฝ่ายราชการประจำ ลักษณะเดียวกับข้าราชการพลเรือน เพียงแต่ไม่ต้องเข้า ครม. ทั้งนี้การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในเรื่องนี้ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับรัฐธรรนูญ เหตุ 
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับพรรคประชาชน ให้ยกเลิก บอร์ด 7 เสือ กลาโหม

นอกจากนี้  กอ.รมน. ศรชล. เห็นตรงกับเหตุผลของกระทรวงกลาโหม และยืนยันว่าไม่ควรรับหลักการ

เช่นเดียวกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  ที่มองว่า  พ.ร.บ.ดังกล่าวในบางมาตราที่ให้อำนาจสั่งการ อนุมัติ อนุญาตแก่บุคคล ยังไม่มีกลไกป้องกันการใช้ดุลพินิจไว้อย่างชัดเจน กรณีจึงจำเป็นต้องปรับปรุงบทบัญญัติหลายประเด็น

รวมถึงสำนักงบประมาณ (สงป.) ชี้ให้เห็นว่า การกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับงบประมาณตามร่าง พรบ.นี้ยังไม่มีความชัดเจน

และ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช ) ให้ความเห็นว่า หลักการในร่าง พ.ร.บ.นี้ในส่วนที่มีการปรับโครงสร้างกระทรวงกลาโหม จากการดำเนินการระบบคณะกรรมการ(สภากลาโหม) ไปเป็น รมว.กลาโหม เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย กรณีที่มีความจำเป็นต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบอย่างระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งต้องคำนึงผลกระทบทั้ง 2 ด้าน

ขณะที่ กระทรวงต่างประเทศ  ไม่ขัดข้องต่อการปรับแก้มาตรา 38 วรรคหนึ่งของ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทหารในการปฏิบัติภารกิจเพื่อสันติภาพ หากกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องนโยบายและผลประโยชน์ของไทย

สำหรับ ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ของกระทรวงกลาโหม หรือ ฉบับของรัฐบาล ยุค สุทิน คลังแสง เป็น รมว.กลาโหม ก่อน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ เข้ามารับไม้ต่อ

โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญ กำหนด เงื่อนไขการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ไม่ได้ยกเลิกบอร์ด 7 เสือกลาโหม เหมือนของพรรคประชาชน แต่ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ที่ได้รับแต่งตั้งไว้ 3 ประการ 

(1) ต้องไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพลหรือมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม (2) ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือประกอบธุรกิจหรือกิจการ (3) ไม่อยู่ในระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยหรือระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือความผิดลหุโทษ

แต่ที่น่าจับตา ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังให้อำนาจนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีคำสั่งให้พักราชการทันที เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้าราชการทหารผู้ใดที่ใช้กำลัง ทหารเพื่อยึด หรือควบคุม อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือ เพื่อก่อการกบฏ 

จนถูกตั้งข้อสังเกตุว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับรัฐบาลเป็นเพียงเชิงสัญลักษณ์ กองทัพอยู่ภายใต้ฝ่ายการเมือง  แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถสกัดยับยั้งการทำรัฐประหารได้จริง ที่สำคัญ นายกฯ และ ครม. จะกล้าใช้อำนาจนี้หรือไม่ 

รวมถึงข้อกังวลจะเกิดการกลั่นแกล้งภายในกองทัพ จนนำไปสู่คำสั่งพักราชการ เกิดการฟ้องร้อง ผลกระทบจะเกิดกับ นายกฯและ ครม.เสียเอง

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกรัฐบาล และ อดีตโฆษกกระทรวงกลาโหม ฝ่ายการเมือง ระบุว่า
พรรคประชาชนได้เสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม เข้าสู่สภา และ สภามีมติส่งให้ครม.พิจารณา ในยุคนายสุทิน ได้เห็นร่างดังกล่าวมองว่า ยังขัดหลายมาตรา จึงให้กระทรวงกลาโหมไปยกร่าง พ.ร.บ.มาอีก 1 ร่าง เป็นร่างของรัฐบาล  ยอมรับว่า เป็น ร่างเดียวกับ นายสุทิน เคยเสนอในขณะนั้น แต่ปัจจุบันต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเพราะมีความเห็นเพิ่มเติม 

"ส่วนประเด็นให้อำนาจนายกฯและ ครม.สั่งพักราชการ ทหารคิดทำการยึดอำนาจรัฐประหารนั้น ผมไม่แน่ใจว่า ในร่าง ของกระทรวงกลาโหม หรือ ร่างรัฐบาล มีหรือไม่ เพราะผมยังไม่เห็นรายละเอียด" 

แหล่งข่าวจาก กระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า กรมพระธรรมนูญ เป็นผู้รับผิดชอบในการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยเนื้อหาสาระสำคัญ เป็นไปตามนายสุทิน เคยระบุไว้ แต่ขณะนี้ต้องดูความเห็นของ นายภูมิธรรม ด้วย จะว่าดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นให้อำนาจ นายกฯ และ ครม. สั่งพักราชการทหารคิดยึดอำนาจรัฐประหาร ยอมรับว่า สุ่มเสี่ยง ทั้ง ตัวนายกฯ และ ครม. หากมีการตัดสินใจผิดพลาด หากรับข้อมูลไม่ครบถ้วน รวมถึงการกลั่นแกล้ง

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับรัฐบาล ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องสมาชิกสภากลาโหม ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจแต่งตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 5 คน จากเดิมกำหนดไว้เพียง 3 คน และยังมีการแก้ไขอีกหลายมาตรา

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ยังมีฉบับของภาคประชาชนอีก 1 ฉบับ ที่ต้องนำพิจารณาควบคู่กับ ร่างของ รัฐบาล และ พรรคประชาชน ยังไม่ชัดเจนว่าจะนำมามัดรวมกัน แล้วยึดร่างของใครเป็นหลัก หรืออาจแยกกันพิจารณา

แต่ที่แน่ชัด ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ฉบับรัฐบาลเพื่อไทย ดูซอฟท์สุดเมื่อเทียบกับร่างฉบับพรรคประชาชนและภาคประชาชน ซึ่งอาจถูกโจมตีจากฝ่ายค้านได้ว่า รัฐบาลแค่ปฏิลูบ ไม่ได้ ปฏิรูปกองทัพให้อยู่ภายใต้ฝ่ายการเมืองแท้จริง

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อิสราเอล’ เปิดฉากเอาคืน ถล่มฐานการทหารใน ‘อิหร่าน’

กองทัพอิสราเอล เผย ได้ปฏิบัการโจมตีเป้าหมายทางทหารในอิหร่านในช่วงเช้าวันนี้ เพื่อตอบโต้ที่อิหร่านที่...

สหรัฐชี้ อิสราเอลโจมตีอิหร่าน ‘ป้องกันตนเอง’

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน นายฌอน ซาเวตต์ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาวแถลงเมื่อกลางดึกวันศุกร์ (2...

สื่ออิสราเอลอ้าง กองทัพอิสราเอลโจมตีเป้าหมายในอิหร่าน 2 รอบเช้านี้

สื่ออิสราเอล The Times of Israel รายงานเช้านี้ว่า สถานีโทรทัศน์หลักทั้งสามแห่งของอิสราเอลรายงานการโจ...

'อิหร่าน' ระงับเที่ยวบินทั้งหมด หลังอิสราเอลเปิดฉากโจมตี

เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านการบินประกาศ อิหร่านระงับเที่ยวบินทั้งหมดจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม หลังอิสราเ...