115 เพื่อไทย แหกมติสภา คว่ำ "นิรโทษกรรม" ตีตกข้อสังเกต สกัดโยง "ม.112"

สภาฯหักดิบมีมติ 269 ต่อ 151 เสียง โหวตคว่ำไม่รับข้อสังเกตรายงานนิรโทษกรรม สส.เพื่อไทย 115 คนแหกมติพรรคที่ให้รับรองรายงาน มีลงเห็นชอบแค่ 11 คน ดับฝันออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้นักโทษคดีการเมือง “ชัยธวัช” ขออย่ามองคนเห็นต่างเป็นศัตรู "จาตุรนต์" ติงอย่าแข่งกันจงรักภักดี “จุรินทร์” ตอกเป็นหัวเชื้อจุดไฟขัดแย้งรอบใหม่ “นายกฯอิ๊งค์” ขอโทษคดีตากใบจะหมดอายุ รับจะไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีก เผยกฤษฎีกาชี้ตรา พ.ร.ก.ต่ออายุคดีไม่เข้าหลักเกณฑ์ ลั่นเป็นเรื่องประเทศชาติไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แบ่งรับแบ่งสู้เอาไว้ “พิศาล” กลับมาค่อยว่ากัน “นิพนธ์” สับยุติธรรมไทยล้มเหลว "สงคราม" โวยมีแก๊งรับงานมาล้มรัฐบาล

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรหักดิบ มีมติ 270 ต่อ 152 เสียง โหวตคว่ำไม่รับข้อสังเกตคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สส.พรรคเพื่อไทยเสียงแตก แหกมติพรรคดับฝันการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้กับนักโทษในคดีการเมือง

เครือข่ายนิรโทษจี้ผ่านรายงาน

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 24 ต.ค. ที่รัฐสภา นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พร้อมตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เข้ายื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เรียกร้องให้สภาฯโหวตรับรายงานผลการศึกษาของ กมธ. ที่จะมีการลงมติในวันนี้ มี น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน (ปชน.) กมธ.ศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นตัวแทนรับหนังสือ นายสมยศกล่าวว่า คนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นผลสืบเนื่องจากรัฐประหาร 2549 ผลมาจากการต่อสู้ปกป้องพรรคการเมือง ไม่ให้ถูกรัฐบาลเผด็จการยุบพรรค จึงเป็นโอกาสอันดีจะคืนความเป็นธรรมด้วยการนิรโทษกรรมโดยไม่ยกเว้นคดีใด โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 ปัจจุบันมีถึง 280 คนที่ถูกกล่าวหา ถูกจองจำถึง 42 คน ขอให้สภาฯรับรองรายงานของ กมธ. ไม่มีเหตุผลใดที่พรรคเพื่อไทยจะไม่รับรายงานฉบับนี้ และทุกพรรคก็อยู่ใน กมธ.ชุดนี้ ไม่มีเหตุผลใดจะคว่ำรายงานฉบับนี้

...

พท.สั่งหนุนรายงานนิรโทษกรรม

ก่อนหน้านี้เวลา 08.30 น. มีการประชุม สส.พรรคเพื่อไทย มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เลขาธิการพรรค นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ และประธาน สส.พรรค ร่วมเป็นประธานการประชุม มี สส.เข้าร่วมประชุมพร้อมเพรียง เพื่อหารือถึงการลงมติรับข้อสังเกตรายงาน กมธ.หรือไม่ หลังประชุมนายชูศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้เห็นชอบข้อสังเกตรายงานดังกล่าว เพราะเป็นรายงานที่พรรคเพื่อไทยเสนอ ถ้าไม่เห็นชอบจะผิดข้อเท็จจริง แต่หากสมาชิกจะเห็นต่างเราไม่ว่าอะไร ให้เป็นดุลพินิจแต่ละคน แต่โดยหลักเป็นไปตามแนวทางที่พรรคเห็นชอบ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอื่นจะเห็นชอบหรือไม่ขึ้นอยู่แต่ละพรรค การโหวตเป็นเอกสิทธิ์ไม่ว่ากัน

นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนชัดเจน ไม่มีนโนบายและไม่มีความคิดนิรโทษกรรมความผิดมาตรา 110 และมาตรา 112

วิปฝ่ายค้านหนุนเต็มที่ไม่มีกั๊ก

ขณะที่นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ประธานวิปฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมวิปฝ่ายค้านว่า มีการพูดคุยกันเรื่องการประชุมสภาฯที่มีวาระค้างการพิจารณาอยู่คือ รายงาน กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และวิปฝ่ายค้านมีมติให้ความเห็นชอบทั้งในส่วนรายงาน และข้อสังเกตของรายงาน ย้ำอีกครั้งรายงานไม่ใช่การตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นญัตติที่พรรค พท.เสนอเพื่อหาทางออกร่วมกัน หวังว่าจะได้เห็นพรรค พท.ยืนยันจุดยืนที่ให้ไว้ก่อนเลือกตั้ง

4 กมธ.พท.ล้างผิด 112 มีเงื่อนไข

ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าที่ประชุมสภาฯมีมติไม่รับรายงานจะเกิดอะไรขึ้น นายปกรณ์วุฒิตอบว่า ถ้าไม่ผ่านคงน่าเสียดาย เพราะตั้ง กมธ.มาหาทางออก ทุกฝ่ายน่าจะรับร่วมกันได้ จะได้เป็นแนวทางในการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งร่างของนายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) จ่ออยู่ในคิวที่ 6 ของสภาฯ คิดว่าถึงอย่างไรในสมัยประชุมหน้าคงต้องมีการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ อีกสิ่งที่คาดหวังคือหลังจากมีรายงานฉบับนี้ทางพรรค พท.เคยพูดหลายครั้งว่าน่าจะต้องมีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ส่งมาโดยพรรค พท.เอง แต่ถ้าเราไปดูในรายงาน กมธ.ฉบับนี้ ตัวแทนพรรค พท.ใน กมธ.มี 8 คน ถ้าจำไม่ผิดมี 4 คน ที่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 อย่างมีเงื่อนไข มี 2 คน ที่ไม่เห็นด้วยเลย และอีก 2 คน ไม่ให้ความเห็น และยังรอพรรค พท.ยกร่างกฎหมายมาประกบ

ปชน.ตื๊อรวมคดี 112 ได้อานิสงส์

จากนั้นเวลา 14.35 น. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาลงมติรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ค้างมาจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ก่อนการลงมตินายพิเชษฐ์เปิดโอกาสให้ กมธ.และ สส.อภิปรายเพิ่มเติม น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน อภิปรายสนับสนุนการนิรโทษกรรมทุกคดี ที่ผ่านมา กมธ.เชิญแกนนำทุกสีมาให้ข้อมูล ทุกคนเห็นด้วยให้นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ไม่อยากให้ถ่วงการก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยทิ้งใครไว้ข้างหลัง ความผิดมาตรา 112 มีเป็นพันคดี ไม่ใช่แค่หลักร้อย ให้เปิดใจให้โอกาสประชาชนที่มีคดีมาตรา 112 กลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนที่พวกท่านจับมือกันตั้งรัฐบาล

นายชัยธวัช ตุลาธน กมธ. อภิปรายว่า การยกเว้นนิรโทษกรรมเฉพาะคดีมาตรา 112 ต้องคิดให้รอบคอบ ไม่ให้เกิดความรู้สึกทางลบต่อสถาบัน การนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 จะฟื้นความสัมพันธ์อันดีของประชาชนต่อสถาบัน อย่างน้อยควรมีพื้นที่ให้ยอมรับได้คือนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข คือมีคณะกรรมการนิรโทษกรรมมาพิจารณารายละเอียดเป็นรายกรณี ไม่อยากให้คนเห็นต่าง ถูกมองเป็นศัตรู

“อ๋อย” ขออย่าแข่งกันจงรักภักดี

นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขอให้สภาตั้งสติการนิรโทษกรรม ควรตั้งคำถามคดีมาตรา 112 ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องความขัดแย้งการเมือง ต้องไปศึกษาจะมีกระบวนการทางกฎหมายอย่างไร วาระนี้ไม่ใช่วาระที่พรรคการเมืองจะมาแข่งแสดงความจงรักภักดี ที่ผ่านมาเคยนิรโทษกรรมเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ก็มีคดีมาตรา 112 อยู่ด้วย ที่นักศึกษาถูกกลั่นแกล้งใส่ร้าย จึงต้องนิรโทษกรรม ประชาชนไม่เคยทำผิดซ้ำหลังนิรโทษกรรม มีอยู่เรื่องเดียวที่ได้รับนิรโทษกรรมแล้วทำผิดซ้ำคือการรัฐประหาร สภาควรให้ความเห็นชอบข้อสังเกต กมธ.

ใส่กันยับสารตั้งต้นจุดไฟขัดแย้ง

ขณะที่นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า รายงานการพิจารณา แนวทางออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ กมธ. มีความสับสนในตัวรายงาน ข้อสังเกต กมธ.ไม่มีข้อยุติจะนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมคดีใดบ้าง ทุกอย่างไม่มีข้อสรุป

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า รายงานและข้อสังเกต กมธ. จะนำไปสู่ความแตกแยกครั้งใหญ่ รายงานฉบับนี้จะถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นออกกฎหมายนิรโทษกรรม นำไปสู่ความแตกแยกอีกครั้ง

ลงมติคว่ำข้อสังเกตนิรโทษกรรม

ทั้งนี้ในช่วงที่จะลงมติข้อสังเกตรายงาน กมธ. นายพิเชษฐ์ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ขอให้สมาชิก ที่ไม่เห็นด้วยกับการรับข้อสังเกตรายงานของ กมธ. เสนอเป็นญัตติขึ้นมาเพื่อให้มีการลงมติ ทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงด้วยน้ำเสียงฉุนเฉียว ชี้หน้าไปยังนายพิเชษฐ์ว่า ตามข้อบังคับ ไม่จำเป็นต้องมีการเสนอญัตติ แค่ให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเท่านั้น จะเสนอญัตติทำไม ถ้าทำไม่ได้ให้เปลี่ยนให้รองประธานสภาฯอีกคนมาทำหน้าที่แทน ทำให้นายพิเชษฐ์สวนกลับว่า “อย่าชี้หน้า อยากเป็นก็ให้ขึ้นมา” จากนั้นที่ประชุมลงมติ ปรากฏว่าเสียงข้างมากไม่เห็นชอบกับข้อสังเกต กมธ. ด้วยคะแนน 269 ต่อ 151 เสียง งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ทำให้ข้อสังเกตของ กมธ. ตกไป โดยสภาฯจะส่งเฉพาะตัวรายงานให้ ครม.เท่านั้น

สส.พท.แหกมติพรรค 115 เสียง

สำหรับผลการลงมติอย่างเป็นทางการตรวจสอบ พบว่าเสียงที่เห็นชอบ 151 เสียง เป็นของพรรคประชาชน 138 เสียง พรรคไทยก้าวหน้า 1 เสียง พรรคเป็นธรรม 1 เสียง ขณะที่พรรคเพื่อไทยมี สส.ลงมติเห็นชอบแค่ 11 เสียง จาก สส. 142 คน อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ นายสุธรรม แสงประทุม นายอดิศร เพียงเกษ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ ขณะที่ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ ลูกสาว พล.อ.ขัตติยะ สวัสดิผล งดออกเสียง มี สส.เพื่อไทยลงมติไม่เห็นชอบมากถึง 115 เสียง ไม่ปรากฏการลงคะแนน 12 เสียง ถือว่าขัดกับมติพรรคที่ออกมาช่วงเช้า ขณะที่เสียงพรรคร่วมรัฐบาลที่โหวตคว่ำ เป็นของพรรคภูมิใจไทย 65 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 26 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 27 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 13 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 5 เสียง พรรคประชาชาติ 6 เสียง พรรคกล้าธรรม 3 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง พรรคไทรวมพลัง 2 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 3 เสียง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง

“อิ๊งค์” ขอโทษคดีตากใบจะหมดอายุ

ที่บ้านพิษณุโลกเมื่อเวลา 10.00 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือข้อราชการร่วมกับคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษา นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา นายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษา และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ปรึกษา การพูดคุยวันนี้เน้นเรื่องการขับเคลื่อนการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงเรื่องกฎหมายสำคัญๆ ต่อมา น.ส. แพทองธารให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าคดีตากใบที่จะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.ว่า คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตั้งแต่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่างออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษกับเหตุการณ์นี้ รวมถึงแสดงความรับผิดชอบในส่วนที่ทำได้ มีการชดเชยจ่ายค่าเยียวยาไปแล้ว วันนี้ในฐานะนายกฯรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และต้องขอโทษในนามรัฐบาลด้วย จะทำให้ดีที่สุดไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

ตรา พ.ร.ก.ต่ออายุคดีไม่เข้าเกณฑ์

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ประเด็นเรื่องตัวกฎหมาย ไม่ได้นิ่งนอนใจ เช่น เรื่องการออก พ.ร.ก. สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าทำอะไรได้บ้าง คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่ากรณีนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการตรา พ.ร.ก. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 และมาตรา 174 เนื้อหาที่เป็นการต่ออายุความเฉพาะคดี เพื่อบังคับใช้แก่คดีดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ไม่ได้มุ่งขยายอายุความในคดีลักษณะเดียวกันเป็นการทั่วไป จึงไม่สอดคล้องกับมาตรา 26 วรรคสอง ทั้งยังอาจเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 27 วรรคสาม และหลักกฎหมายอาญาสากล สรุปคือไม่เข้าเกณฑ์ในการออก พ.ร.ก.ตามรัฐธรรมนูญ ขอให้ทุกคนตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น ขอให้ทุกคนพยายามอย่างเต็มที่ในเรื่องนี้ รัฐก็พยายามอย่างเต็มที่เช่นกัน

ลั่นเรื่องประเทศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลเตรียมรับมือเหตุการณ์หลังจากนี้อย่างไรบ้าง เพราะเริ่มมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น น.ส.แพทองธารตอบว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ หน่วยงานความมั่นคงทำเต็มที่ ไม่อยากให้เชื่อมโยงเรื่องนี้กับการเมือง และเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ความสามัคคีต้องอาศัยทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความสงบสุข อะไรที่รัฐบาลทำได้จะทำเต็มที่แน่นอน เมื่อถามว่าคดีดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงนายทักษิณเป็นนายกฯ ในฐานะลูกสาวกังวลจะได้รับการกดดันหรือไม่ นายกฯตอบว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องประเทศชาติและการดูแลทุกคนในประเทศ เราต้องดูแลอย่างเต็มที่ เมื่อถามอีกว่าทีมทนายความของกลุ่มโจทก์คดีตากใบ หารือว่าอาจต้องพึ่งศาลโลก น.ส.แพทองธารตอบว่า คดีนี้ผ่านมา 20 ปี วันนี้เมื่อมีการฟ้องร้องเพิ่มเติม ถือว่ามีหลายประเด็น หลายองค์ประกอบ ตนตอบได้แค่นี้ คิดว่าศาลทำหน้าที่และได้ตัดสินไปแล้ว

เอาไว้ “พิศาล” กลับมาค่อยว่ากัน

เมื่อถามว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการ สร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาฯเสนอว่า เมื่อคดีหมดอายุความไป รัฐบาลอาจต้องมีการเยียวยาเพิ่มเติม นายกฯตอบว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาไปดูว่าการเยียวยาก่อนหน้านี้จบตรงไหน ดูว่ามีอะไรเพิ่มเติมที่เราสามารถทำได้ เมื่อถามว่าหาก พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ผู้ต้องหาคดีตากใบเดินทางกลับมาหลังคดีขาดอายุความ จะมีการดำเนินการอะไรหรือไม่เพื่อลดอุณหภูมิความรุนแรง น.ส.แพทองธารตอบว่า คงต้องพูดคุยกัน พล.อ.พิศาลลาออกจากพรรคแล้ว เมื่อถามว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ระบุว่าคงต้องหวังพึ่งปาฏิหาริย์เพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหาคดีตากใบมาดำเนินคดี น.ส.แพทองธารตอบว่า เราทำทุกอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ พร้อมย้อนถามว่า “ปาฏิหาริย์เหรอ” มันต้องใช้เรื่องจริง เมื่อถามย้ำว่าหากมีโอกาสจะลงพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ นายกฯ ตอบว่า แน่นอนทุกพื้นที่ของประเทศไทย ต้องหาเวลาที่เหมาะสม และสถานที่ว่าจะไปที่ไหนก่อนหลัง

“นิพนธ์” สับยุติธรรมไทยล้มเหลว

นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต รมช.มหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลกำลังปล่อยให้คดีตากใบขาดอายุความ ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงความจริงใจที่จะแก้ปัญหา สะท้อนความอ่อนแอและความโปร่งใสของกระบวนการ ยุติธรรมไทย มีการเลือกปฏิบัติ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่งผลกระทบให้ความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบยุติธรรมลดลงมาก การที่รัฐไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้ ย่อมทำให้ความไว้วางใจในรัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมเสื่อมลง และส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ยิ่งยากขึ้นและซับซ้อนมากกว่าเดิม เหตุการณ์ตากใบเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องดำเนินการสร้างความเสมอภาค และความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

ทสท.จี้ รบ.แสดงความจริงใจ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) แถลงว่า จำเลยสำคัญในคดีตากใบเป็นอดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย คือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ยังคงลอยนวลไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ โดยที่รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังไม่มีท่าทีและความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว เพื่อสร้างความกระจ่างให้สังคม โดยเฉพาะการควบคุมตัวประชาชนจนนำไปสู่การสูญเสียร่วม 85 ชีวิต รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจ ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อติดตามตัวจำเลยที่หลบหนีคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อคงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐนิติธรรม แต่ฝ่ายบริหารกลับมองเรื่องนี้ว่าเป็นประเด็นทางการเมือง

“สมคิด” เชื่อไม่ใช่แรงเขย่ารัฐบาล

นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง กล่าวถึงผลกระทบต่อภาพลักษณ์พรรคเพื่อไทยจากกรณีคดีของ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีต สส.บัญชีรายชื่อ และนายชาญ พวงเพ็ชร์ อดีต นายก อบจ.ปทุมธานี ว่า พรรคไม่คิดว่าเป็นปัญหา กรณีของนายชาญต้องรับผิดชอบเอง ส่วนคดีตากใบผ่านมา 20 ปีแล้ว มีการเยียวยามาครบแล้ว ส่วนกระบวนการยุติธรรมจะเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่อง และ พล.อ.พิศาลได้ลาออกจาก สส.แล้ว ส่วนการติดตามตัวอยากให้เข้าใจเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ พรรค พท.คนเยอะเลยมีหลายเรื่องหลายราวให้เราได้เรียนรู้ คิดว่าพรรคอื่นๆก็มีปัญหาเหมือนกัน อยู่ที่สถานการณ์ ส่วนความเชื่อมั่นต่อพรรค พท.อยู่ที่ผลงาน ถ้าผลงานออกมาดีความเชื่อมั่นจะมาเอง ต่อให้ภาพลักษณ์ดีแต่ความเชื่อมั่นไม่ดีมันก็ไม่ดี เมื่อถามว่าไม่ใช่แรงเขย่าในช่วงนี้ใช่หรือไม่ นายสมคิดตอบว่า ไม่ใช่หรอก เป็นเรื่องปกติทางการเมือง

“สงคราม” โวยมีแก๊งรับงานล้ม รบ.

นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ที่ปรึกษานายก รัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เข้าบริหารประเทศ ประกอบกับการเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนสนใจมาลงทุนในไทยสูงขึ้น แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ มีคนบางกลุ่มเหมือนกำลังต้องการทำลายบรรยากาศการลงทุนสร้างเรื่องราวยื่นศาลเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ผ่านมามีการยื่นร้องหวังโค่นล้มรัฐบาลรายวัน อาศัย ทุกช่องทางเพื่อสกัดกั้นการทำงานของรัฐบาล เหมือนไม่ต้องการเห็นประเทศไทยเดินไปข้างหน้า รัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาประเทศให้ประชาชนกลับมากินดีอยู่ดี แต่คนบางกลุ่มรับงานล้มรัฐบาล หวังเพียงให้คนที่ตัวเองสนับสนุนมีโอกาสเข้ามามีอำนาจทางลัด โดยไม่มองว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นฉุดรั้งการเติบโตของ ประเทศ

กกต.แจกแจงคดี “ทักษิณ” ครอบงำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีผู้ร้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และพรรคการเมืองรวม 6 พรรค กระทำความผิดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ขณะนี้อยู่ระหว่างเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กำลังรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน เพื่อเสนอความเห็นต่อ กกต.

ปชน.ข้องใจเก็บภาษีรถติด

วันเดียวกัน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดของนายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน (ปชน.) สอบถามนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เรื่องค่าธรรมเนียมรถติด หรือภาษีรถติดว่า จะนำภาษีที่เก็บได้ไปเวนคืนรถไฟฟ้า หรือนำไปแก้ปัญหารถติดให้ประชาชนมาใช้ระบบขนส่งมากขึ้น มั่นใจหรือไม่จะแก้ปัญหาสำเร็จ ดูทรงแล้วเหมือนกระทรวงฯหาเงินให้เอกชน บริษัทนายทุนทั้งบริษัทรถไฟฟ้า บริษัททางด่วนหรือไม่ โดยนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เป็นตัวแทนชี้แจงว่า ขณะนี้มีรถ 3.9 แสนคันต่อวัน วิ่งในพื้นที่คับคั่งของ กทม. เป็นสาเหตุหลักของฝุ่น PM2.5 ถ้าจัดการรถติดได้ก็แก้ฝุ่นได้ การเก็บ ภาษีรถติดเป็นแนวคิด ให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพศึกษารูปแบบวิธีการ หน่วยงานที่มีอำนาจจัดเก็บไม่ใช่กระทรวงคมนาคม และยอมรับระบบ ขสมก.มีปัญหาอยู่ในขั้นตอนปฏิรูป ไม่อยากให้มองหาเงินให้ใคร บ้านเมืองมีกฎหมาย

เร่งแก้กฎหมายแพ่งห้ามตีเด็ก

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคปชน. รองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายห้ามตีเด็ก แถลงว่า กมธ.นำร่างแก้ไขเสนอต่อสภาฯ แล้ว คาดจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯได้ในวันที่ 30 ต.ค. ทั้งนี้มีการแก้มาตรา 1567 (2) การทำโทษบุตรเพื่อสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม ต้องไม่กระทำด้วยการทารุณกรรม หรือกระทำความรุนแรงทำร้ายต่อร่างกายและจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือการกระทำโดยมิชอบ พร้อมแนบข้อสังเกตขอให้หน่วยงานราชการต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองถึงวิธีทางเลือกที่ไม่ใช้ความรุนแรงลงโทษเด็ก ทั้งนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่มีบทลงโทษ หากผู้ปกครองลงโทษรุนแรงเกินเหตุ จะเข้าเงื่อนไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก

เหยื่อ 6 คดีหลอกลงทุนร้องสภาฯ

อีกเรื่อง นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานชมรมสันติประชาธรรม นำผู้เสียหายที่ถูกหลอกลงทุน ยื่นหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้หาทางช่วยเหลือประชาชนที่ถูกหลอกลงทุน นายแทนคุณกล่าวว่า ขณะนี้มีประชาชนเดือดร้อนหนัก 6 คดี ได้แก่ 1.คดีแชร์แครอท มีผู้เสียหายพันกว่าราย ความเสียหาย 5,000 ล้านบาท 2.คดีสปอร์ต อาร์บิตทราจ หลอกให้ลงทุนกีฬาเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท 4 ปี ไม่คืบหน้า 3.คดีบริษัท ออสซี่ออยล์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด หลอกลงทุนโครงการรถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้า เสียหาย 822 ล้านบาท 4.คดีบริษัท คอนเซ็ปต์ ซีรี่ส์ จำกัด หลอกให้บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์แก่เจ้าของเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน มีผู้เสียหาย 3,400 คน เสียหาย 1,500 ล้านบาท 5.คดีหลอกสมัครทำงานออนไลน์ เป็นแชร์ลูกโซ่นับพันคน เสียหาย 200 ล้านบาท 6.คดีบริษัท Super Good Money (SGM) ผู้เสียหาย 1,000 คน เสียหายกว่า 100 ล้านบาท รวม 6 คดีกว่า 4,600 ล้านบาท

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

มองตามเจ้าของรางวัลโนเบลเห็นอะไร?

ประเด็นเหล่านี้เป็นที่สนใจของนักเศรษฐศาสตร์มานานและได้รับการวิเคราะห์จากมุมมองต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โ...

อิสราเอลสังหาร ผบ.ฮามาสทำจ๊อบเสริมยูเอ็น l World in Brief

อิสราเอลสังหาร ผบ.ฮามาสทำจ๊อบเสริมยูเอ็น กองทัพอิสราเอลแถลงในวันพฤหัสบดี (24 ต.ค.67) ตามเวลาท้องถิ่น...

‘อีลอน มัสก์’ รวยขึ้น  26,000 ล้านดอลลาร์ หุ้น Tesla พุ่ง 22% รับกำไรดีเกินคาด

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ความมั่งคั่งของ “อีลอน มัสก์” ซีอีโอของ“เทสลา“ (Tesla) เพิ่มขึ้นกว่า 2....

วอลล์สตรีทรายงาน‘รัสเซีย’ให้ข้อมูลฮูตีโจมตีเรือทะเลแดง

สำนักข่าวเอเอฟพีอ้างรายงานข่าวจากวอลล์สตรีทเจอร์นัล หนังสือพิมพ์รายวันของสหรัฐ ที่ใช้ข้อมูล “ผู้สันท...