แก้สัญญา 'ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน' ฉลุย รฟท.เล็งลงนาม CP ธ.ค.นี้

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ถือหุ้นใหญ่ เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 หลังชนะการประมูลและขอรับเงินร่วมลงทุนจากรัฐต่ำสุด 117,226 ล้านบาท 

หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการเยียวยาผลกระทบจากโควิดที่ทำให้ผู้โดยสารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ลดลง เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 และทำให้บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด เข้าบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์วันที่ 25 ต.ค.2564 โดยจ่ายค่าสิทธิบริหารงวดแรก 1,067 ล้านบาท จากที่สัญญากำหนดให้จ่ายงวดเดียว 10,671 ล้านบาท 

ในขณะที่บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ได้เสนอแผนการพัฒนาแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 3,000 ล้านบาท เพื่อจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่ม

การเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหลังจาก ครม.เห็นชอบมาตรการเยียวยา โดยในช่วงแรกเอกชนเสนอแก้ไขค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอให้เอกชนก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

สำหรับการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนใช้เวลาเกือบ 3 ปี ได้ข้อสรุปหลังจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายพิชัย ชุนหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเห็นชอบแก้ไขสัญญา 5 ประเด็น คือ

1.วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิมเมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูง รัฐจะแบ่งจ่าย 149,650 ล้านบาท ปรับเป็นลักษณะสร้างไปจ่ายไป โดยรัฐจ่ายเงินสนับสนุนเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท.ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมรวมเป็น 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดบริการรถไฟความเร็วสูงได้ภายใน 5 ปี โดยกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของรัฐทันทีตามงวดการจ่ายเงิน 

สำหรับการวางหลักประกันนั้น เอกชนยังไม่ต้องวางหลักประกันทันทีที่ลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุน โดยใช้เวลาหาหลักประกันได้แต่เมื่อต้องการเบิกรับเงินสนับสนุนต้องวางหลักประกันทันที

2.กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิ 10,671 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่ากัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้เอกชนต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท.ต้องรับภาระ

เพิ่มเงื่อนไขปรับปรุงสัญญาในเหตุสุดวิสัยได้

3.กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการลดอย่างมีนัยสําคัญ และทำให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกัน

4.การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท.ออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมด

5.การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น

“สุริยะ” ยืนยันไม่เอื้อประโยชน์ “ซีพี”

นายสุริยะ​ จึงรุ่งเรืองกิจ​ รองนายก​รัฐมนตรี​และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม​ กล่าวว่า การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนยังไม่เสนอ ครม.วันที่ 22 ต.ค.2567 แต่ยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาเกิดจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้โครงการล่าช้าทำให้ภาครัฐส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนไม่ได้ ขณะที่เอกชนก่อสร้างไม่ได้จึงถือว่าต่างคนต่างผิดสัญญา ทำให้เป็นที่มาของการพิจารณาแก้ไขสัญญา

“โครงการนี้มีความจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ เพราะเป็นหนึ่งในโครงการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งหากเชื่อม 3 สนามบินจะทำให้ประชาชนเดินทางสะดวก การค้าขายดีขึ้น จึงต้องเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป” นายสุริยะ กล่าว

ทั้งนี้ ต้องพิจารณาร่วมกันในการแก้สัญญาเพื่อไม่ให้รัฐเสียประโยชน์ โดยสัญญาเดิมให้เอกชนสร้างจนเสร็จ และหลังจากนั้น 10 ปีรัฐบาลจึงชำระเงิน​ ขณะที่สัญญาใหม่จะให้เอกชนนำเงินมาวางค้ำประกันจากธนาคารเพื่อการันตี​ และภาครัฐจะทยอยจ่ายคืนเงินค้ำประกัน​ ในส่วนที่ก่อสร้างเสร็จ แต่ละช่วง​จะแบ่งเป็นแต่ละสัญญา​ และหากทิ้งงานรัฐจะนำเงินค้ำประกันไปจ้างผู้รับเหมารายใหม่

“การแก้สัญญาไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใหญ่ โดยเอกชนต้องผู้รับผิดชอบดอกเบี้ย และการแก้สัญญาผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดจึงการันตีว่าไม่เอื้อประโยชน์ โดยขั้นตอนจากนี้ สกพอ.จะเป็นผู้เสนอ โดยมีนายพิชัยเป็นผู้รับผิดชอบ”

สกพอ.เสนอ ครม.อนุมัติ 29 ต.ค.นี้

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า ที่ประชุม กพอ.เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2567 ได้สรุปแนวทางการแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และเห็นชอบปรับเปลี่ยนแนวทางการโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ขณะนี้กำลังสรุปมติ กพอ.และคาดว่าเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 29 ต.ค.2567

ทั้งนี้ หาก ครม.มีมติให้แก้สัญญาร่วมลงทุนจะเข้าสู่ขั้นตอนส่งร่างแก้ไขสัญญาให้สำนักงานอัยการตรวจอีกครั้งก่อนลงนาม และจะลงนามกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ ขณะเดียวกัน ร.ฟ.ท.จะเร่งออก NTP ทันทีเมื่อลงนามเสร็จจึงคาดว่าเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างงานได้ไตรมาส 1 ปี 2568

ปรับ MRO อู่ตะเภาให้การบินไทย

สำหรับโครงการ MRO อู่ตะเภา หาก ครม.เห็นชอบปรับเปลี่ยนแนวทางโครงการ โดยให้ยกเลิกการเป็นโครงการร่วมลงทุนตามมติ ครม.วันที่ 30 ต.ค.2561 ซึ่งให้สิทธิ์บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายเดียวและปรับเป็นให้ สกพอ.เปิดกว้างจัดหาผู้เช่าที่ดินราชพัสดุ เพื่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยคาดว่าจะเริ่มจัดหาเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในเดือน ธ.ค.2567

ทั้งนี้ การเปิดกว้างจัดหาผู้เช่าที่ดินราชพัสดุจะดำเนินการตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 และระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การเช่าที่ดินราชพัสดุที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.2562 ซึ่งคาดว่ามีเอกชนทั้งไทยและต่างชาติสนใจเช่าพื้นที่ดำเนินกิจการนี้จำนวนมาก

“โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานจำเป็นต้องปรับแนวทางโครงการ เพราะวันนี้การบินไทยพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ไม่สามารถเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการศูนย์ซ่อมได้ แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้ สกพอ.ขอคืนพื้นที่ศูนย์ซ่อมของการบินไทยในสนามบินอู่ตะเภา ดังนั้นจำเป็นต้องจัดสรรพื้นที่ให้การบินไทยกลับมาดำเนินกิจกรรมบริเวณนี้ด้วย”นายจุฬา กล่าว

MRO ของการบินไทยสร้างต้นปี 68

นายจุฬา กล่าวว่า เบื้องต้น สกพอ.จะเจรจาและทำสัญญาให้เข้ามาพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาบนพื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการทั้งหมดนี้ เพื่อทดแทนพื้นที่เดิม เพราะโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานมีความจำเป็นอย่างมากต่อธุรกิจการบิน และหากการบินไทยยังคงเป็นผู้ดำเนินโครงการนี้ ก็จะทำให้ศูนย์ซ่อมอากาศยานในอู่ตะเภามีเจ้าของเป็นคนไทยด้วย

ทั้งนี้ สกพอ.คาดว่าจะเจรจากับการบินไทยและได้ข้อสรุปเพื่อทำสัญญาเช่าพื้นที่ได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ ส่งผลให้โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานของการบินไทยน่าจะเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า เนื่องจากปัจจุบันทราบว่าการบินไทยมีความพร้อมด้านเงินลงทุน อีกทั้งยังอยู่ระหว่างเจรจาจัดหาพันธมิตรเพื่อเข้ามาร่วมทุนในโครงการนี้ด้วย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

เวที Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

เมื่อ "ความยั่งยืน" กลายเป็นกติกาสำคัญต่อโลก ด้วยกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย ทั้งการเปลี...

ผ่อนคลายโดยพร้อมเพรียง

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นการผ่อนคลายนโยบายเศรษฐกิจในสามประเทศสำคัญ อันได้แก่ สหรัฐ จีน และไทย ...

วอลุ่มเทรดคึก ‘ธุรกิจบล.’ ฟื้น การเมืองนิ่ง-กระตุ้นศก. หนุนเชื่อมั่นนักลงทุน

นับตั้งแต่สถานการณ์การเมืองมีความชัดเจน หลังได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 “แพทองธาร ชินวัตร” ส่งผลให้เกิดแ...

‘หนี้เสีย‘ แบงก์ทะลัก 5.3 แสนล้าน ’กรุงเทพ-กสิกร-กรุงศรี‘ หนี้ค้างยังไหลต่อ

หากดูสถานการณ์ “หนี้เสีย” หรือ “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” (NPL) ถือว่ายังคง “น่าห่วง” อย่างต่อเนื่...