'นกแอร์' เตรียมเพิ่มทุน 5 พันล้าน มั่นใจปี 69 ฟื้นฟูกิจการแล้วเสร็จ

โดยในขณะนั้นกลุ่มเจ้าหนี้ของนกแอร์ที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีจำนวน 208 ราย มีมูลหนี้ทั้งหมด 27,278 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินต้นจำนวน 27,058 ล้านบาท และดอกเบี้ยจำนวน 220 ล้านบาท แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีการตัดหนี้ในอนาคตออกไป เบ็ดเสร็จทำให้นกแอร์มีภาระหนี้สินรวมอยู่ประมาณ 5,400 ล้านบาท

วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า ตามแผนที่นกแอร์ได้ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางจะดำเนินการฟื้นฟูกิจการเป็นระยะเวลา 5 ปี คาดว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ภายในวันที่ 30 ก.ค.2569

โดยปัจจุบันนกแอร์ยังคงมั่นใจในเป้าหมายดังกล่าว และอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนกำหนด ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้ลดต้นทุนและหารายได้ทุกช่องทาง จนส่งผลให้นกแอร์มีผลประกอบการสำหรับครึ่งแรกของปี 2567 โดยมีผลกำไรสุทธิ 734.78 ล้านบาท ถือเป็นการพลิกกลับมามีกำไรจากที่เคยขาดทุนสุทธิ 388.24 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงการฟื้นตัวของธุรกิจ

อีกทั้งยังสามารถชำระหนี้ตามที่ยื่นไว้ต่อศาลล้มละลายกลาง จากจำนวนหนี้ราว 5,400 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือประมาณ 400 ล้านบาท โดยหลังจากนี้นกแอร์ยังมีแผนปรับโครงสร้างทุน โดยการเพิ่มทุนเพื่อทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทกลับมามีค่ามากกว่าศูนย์โดยเร็ว

ทั้งนี้ในปี 2568 นกแอร์เตรียมเพิ่มทุนจำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อนำมาจัดหาเครื่องบินใหม่ รวมไปถึงใช้เพื่อการเสริมสภาพคล่องในธุรกิจ และชำระหนี้ที่ครบกำหนดในบางส่วน อีกทั้งจะเป็นอีกปีที่นกแอร์ยังคงปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านบริการแก่ผู้โดยสาร ตลอดจนวางแผนเปิดเส้นทางบินใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการหารายได้ โดยเฉพาะตลอดอินเดียที่ถือเป็นตลาดศักยภาพสูง มีดีมานด์การเดินทางจำนวนมาก

วุฒิภูมิ กล่าวด้วยว่า ในช่วงของการฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมา นกแอร์ได้ปรับฝูงบินใหม่ให้สอดคล้องกับการใช้งาน โดยปลดระวางและนำฝูงบินที่ไม่สร้างรายได้อย่าง Q400 ออกไปจำนวน 8 ลำ ส่งผลให้ปัจจุบันนกแอร์เหลือฝูงบินให้บริการจำนวน 14 ลำ เป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 และมีแผนจำจัดซื้อเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 737-800 เข้ามาให้บริการเพิ่มเติมอีก 6 ลำ ซึ่งจะทยอยรับมอบในช่วง 4 – 5 ปีนี้

อย่างไรก็ดี เพื่อรองรับต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน นกแอร์เตรียมเช่าเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 4 ลำ เข้ามารองรับการให้บริการในปี 2568 โดยฝูงบินเหล่านี้จะมาเสริมเส้นทางบินในประเทศที่มีดีมานด์การเดินทางสูง อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และกระบี่ อีกทั้งนกแอร์ยังเตรียมเปิดให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ ในเส้นทางยอดนิยมอย่างญี่ปุ่น และหลายเมืองในอินเดีย

“ในช่วงที่ผ่านมาเราปรับแผนธุรกิจเยอะมาก นำเครื่องบินที่ไม่สร้างรายได้ออกไป และเพิ่มเครื่องบินรุ่นที่ได้รับความนิยมในตลาดเข้ามาเพิ่ม โดยเน้นใช้เครื่องบินรุ่นเดียวกัน เพื่อลดต้นทุนในการซ่อมและจัดหาอะไหล่ โดยภายหลังที่เรานำเอาเครื่องบิน Q400 ออกไปก็ลดขาดทุนได้ทันที เพราะไม่ต้องเสียเงินกับการซ่อมบำรุง และลดเรื่องการดีเลย์ออกไปได้ด้วย”

ขณะเดียวกันนกแอร์ยังอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และพันธมิตรสายการบินอื่นๆ เพื่อทำโครงข่ายเส้นทางบินร่วมกัน เนื่องจากนกแอร์มีแผนไปเปิดจุดบินเพิ่มเติมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปี 2568 เพื่อรองรับดีมานด์การเดินทางเชื่อมต่อการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ โดยนกแอร์มีเป้าหมายเป็นโครงข่ายรองรับการเดินทางท่องเที่ยวต่อเนื่องไปในจุดบินต่างๆ ภายในประเทศ

วุฒิภูมิ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า นกแอร์มั่นใจว่าการกลับมาให้บริการภายหลังผ่านการฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ จะส่งผลให้ธุรกิจแข็งแกร่งมากขึ้น โดยมุ่งเน้นสร้างการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริการผู้โดยสารต้องไม่กลับไปดีเลย์เหมือนเช่นเคย อีกทั้งต้องปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้โดยสารที่มีต่อนกแอร์ใหม่ จากเดิมที่เคยมองว่าเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) หลังจากนี้เป็นเป็นสายการบินพรีเมี่ยม ที่ผู้โดยสารสามารถเลือกบริการรองรับความต้องการได้ทุกรูปแบบ

ขณะที่สัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในช่วงฤดูการท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) ปลายปีนี้ ปัจจุบันนกแอร์มีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) อยู่ที่ราว 85% คาดว่าในช่วงไฮซีซันจะมีเคบิ้นแฟกเตอร์สูงในระดับ 85 – 90% ดันตัวเลขผู้โดยสารปีนี้ 6 ล้านคน เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวตามปกติ ประกอบกับการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะอินเดียยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สามารถชดเชยการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนที่ยังไม่กลับมาเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศตามปกติ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

อสังหาฯแห่อัดโปรปั๊มยอดโค้งสุดท้ายหวังเพิ่มภาพคล่องหลังQ3/67ยอดขายหด

นางสาวพชร ประพันธ์วัฒนะ กรรมการผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คอนโดมิเนียม บริษัท แอสเซทไ...

“เลือกตั้งสหรัฐฯ เข้าโค้งสุดท้าย ผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกและไทย”

อีกประมาณ 20 กว่าวันจะถึงวันเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาขณะนี้คะแนนนิยมของผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีขอ...

‘กลุ่มอสังหา’ มรสุมรุมรอบด้าน โบรกชี้ ‘ปฎิเสธสินเชื่อ-หนี้เสียพุ่ง-ดอกเบี้ยสูง-แบงก์เข้ม’

แม้หุ้น “กลุ่มอสังหาริมทรัพย์” ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถือเป็นหุ้นกลุ่มที่มีความ “โดดเด...

กรมประมง อัดงบ 4.9 ล้าน หนุนทำปลาร้า จากปลาหมอคางดำ

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการระ...