จุดเชื่อมดุลอำนาจ ‘เก่า-ใหม่’ - ‘ชัยธวัช’ หวั่น ปชต.กลายพันธุ์

“ผมก็คงไม่ได้หายไปไหน ก็คงจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพรรคการเมืองการเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็น”

คำเปิดใจของ “ชัยธวัช ตุลาธน” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ผ่าน “กรุงเทพธุรกิจ” ในวันที่พรรคก้าวไกลต้องปิดฉากด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยมีมติเอกฉันท์สั่งยุบพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2567 พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรครวม 11 คนเป็นเวลา 10 ปี ฐานความผิดล้มล้างการปกครองและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง

อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ส่งผลกระทบถึงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ

“สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เริ่มถูกจำกัดอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เสียสมดุลที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมคิดว่าเรื่องนี้เรื่องใหญ่ คำวินิจฉัย ผลของมันมากกว่าพรรคก้าวไกล มันมีนัยที่จะตีความตามรัฐธรรมนูญตีความกฎหมาย"


 

“ผมเรียกว่าสุ่มเสี่ยงและอันตรายต่อการทำให้ระบอบการเมืองของเรา กลายพันธุ์เป็นระบอบที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นระบอบอะไรไม่รู้นะ"
 


ถามว่าในอนาคตการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคการเมืองในสภาฯ อาจจะถูกข้อหากระทำการล้มล้างการปกครองอีกหรือไม่ "ชัยธวัช" ระบุว่า "คำวินิจฉัยที่ดี มันต้องมีความชัดเจนอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ถ้าดูโดยรวมคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอันไหนที่ห้ามแก้ไขมาตรา 112 เพียงแต่ว่า คำสั่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างคลุมเครือ

"ศาลบอกให้เลิกอะไร ห้ามไม่ให้แก้ไขมาตรา 112 โดยที่ไม่ใช่กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ คือแก้ไขได้ แต่ต้องแก้โดยนิติบัญญัติโดยชอบ คำถามแล้วหมายว่ายังไง กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ"

โดยเฉพาะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ย้ำว่า การรณรงค์หรือการทำนโยบาย มาตรา 112 เป็นการดึงสถาบันลงมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน “ชัยธวัช” กล่าวว่า “เราไม่รู้ไม่มีเส้นชัดเจน คำวินิจฉัยไม่ชัดเจนว่า คือเป็นลักษณะการบรรยาย ไม่มีคำอธิบายในหลักกฎหมายที่ชัดเจนมารองรับว่า อันนี้ 1-2-3-4 ว่าผิด เหมือนเอาความคิดทางการเมืองส่วนบุคคลของตุลาการมาผสมรวมกันแล้วบอกว่าไม่รู้ล่ะ คุณผิด นี่คือปัญหา”

“แล้วเวลาพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ มาบอกว่าตัวเองจงรักภักดีแล้วไปชี้หน้าพรรคการเมืองอื่นหรือประชาชนที่เขาเป็นคู่ขัดแย้งกันว่าไม่จงรักภักดี อันนี้ไม่ว่าจะช่วงหาเสียงเลือกตั้ง อันนี้ถือว่าเป็นการเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาปะทะกับประชาชนไหม"

“ผมไม่แน่ใจว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลกับคำวินิจฉัยที่เพิ่งออกมา อันไหนสุ่มเสี่ยงที่จะเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาปะทะ เข้ามาอยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่ากัน”

"ชัยธวัช" มองว่า ประชาธิปไตย และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ควรดำรงอยู่คู่กันอย่างสมดุลและได้สัดส่วนโดยยังสามารถผสมกลมกลืน รักษาคุณค่าพื้นฐานของประชาธิปไตยและพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ประมุขเอาไว้คู่กันได้

พรรคควรถูกยุบโดยประชาชนไม่เลือก

“ชัยธวัช”ย้ำว่าสิ่งที่พรรคก้าวไกลเคยเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้เป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครอง ส่วนเรื่องยกเลิกโทษยุบพรรคการเมืองหรืออาจทำให้ยุบยากนั้น ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง สภาฯ ซึ่งมีสส.ทุกพรรคการเมืองศึกษาออกมา และเป็นความเห็นร่วมของสส.ทุกพรรคการเมืองส่วนใหญ่ว่าไม่เห็นด้วยกับโทษยุบพรรคที่ง่ายขนาดนี้

อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลชี้ว่า “ถ้าจะยุบหรือทำลายไม่ควรทำได้ง่ายๆ เพราะพรรคการเมืองควรถูกยุบโดยประชาชนไม่เลือก แต่ถ้าถูกยุบพรรคจริงๆ ด้วยเงื่อนไขที่เคร่งครัดจริงๆ ถ้าเห็นว่าพรรคการเมืองไหนล้มล้างการปกครองก็ให้เข้าสู่กระบวนการของศาลยุติธรรม เมื่อไรคดีถึงที่สุด พรรคการเมืองล้มล้างการปกครองจริงๆ ค่อยพิจารณายุบพรรค”

ต้องการเห็นอนุรักษนิยมมีสติ

เมื่อถามถึงศักยภาพของพรรคประชาชน พรรคการเมืองแถวสามต่อจากพรรคก้าวไกล จะยังมีคะแนนนิยมจนสามารถชนะเลือกตั้งปี 2570 จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้หรือไม่ “ชัยธวัช” ประเมินว่า ไม่ง่าย เพราะยังมีกลุ่มพลังต่างๆ มากมายในพลังทางการเมืองโดยเฉพาะกลุ่มทุนที่ไม่อยากเห็นพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ต่อให้เป็นรัฐบาลผสมก็ไม่อยากเห็นพรรคประชาชนร่วมเป็นรัฐบาล

ถามถึงการเมืองไทยในฉากทัศน์ปี 2570 จะยังเป็นการเมืองสามก๊กหรือไม่ “ชัยธวัช”ระบุว่า เลือกตั้งปี 2566 เป็นตัวชี้วัดว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างมาก ซึ่งรากฐานเปลี่ยนแล้ว แต่ข้างบนยอดยังพยายามฝืนอยู่ ซึ่งสถานการณ์นี้จะเป็นไปอีกพักใหญ่ โดยไม่รู้จะไปจบยังไง แต่มันเปลี่ยนแล้ว ปฏิเสธไม่ได้

“ผมไม่ได้อยากเห็นการเมืองไทยไม่มีฝ่ายอนุรักษนิยม ในทางตรงกันข้ามสถานการณ์ปัจจุบันนี้ เราอาจจะต้องการฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีสติและปัญญา สถานการณ์ปัจจุบันผมไม่ได้อยากต้องการฝ่ายซ้ายมากขึ้น ตอนนี้สิ่งที่เรากังวลเราเห็นแต่ฝ่ายอนุรักษนิยม ไม่รู้อนุรักษนิยมจริงไหมนะ หรืออนุรักษนิยมแบบน้ำลายไหล แสดงออกแบบนี้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวบางอย่าง โดยไม่ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะคิดว่านี่เป็นเกราะคุ้มกันตัวเองให้แสวงหาหรือได้ประโยชน์จากการสวมเสื้อจงรักภักดี”

“ชัยธวัช” ต้องการเห็นระบบการเมืองมีฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีสติและปัญญา เล็งการณ์ไกลว่าทางออกที่ดีที่สุดสำหรับฝ่ายอนุรักษนิยมเองด้วยกับสิ่งที่เราอยากอนุรักษ์ไว้  อะไรจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสังคมเก่าที่เราอยากอนุรักษ์ไว้ กับสังคมใหม่ที่เราปฏิเสธไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

ชี้ 'พิธา' เหมาะผู้นำเชื่อม 2 ขั้ว

“ชัยธวัช” ยังพูดถึงสิ่งที่น่าเสียดายที่สุดว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นผู้นำทางการเมืองที่เหมาะมากภายใต้สถานการณ์ที่จะเชื่อมสองขั้วนี้

“คุณพิธาจะเป็นสะพานเชื่อม (สังคมใหม่กับสังคมเก่า) การกำจัดคุณพิธาออกไป แม้ว่าหลายคนมองว่าดีแล้ว แต่ผมว่าเสียโอกาสที่จะได้ผู้นำทางการเมืองที่จะเป็นสะพานเชื่อมแห่งยุคสมัยที่ดีได้ และหายากมาก”

“ผมยืนยันว่าฝ่ายอนุรักษนิยมต้องมีอยู่ แต่อนุรักษนิยมแบบไหนที่สังคมต้องการอันนี้น่ากังวลมากๆ คำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาสะท้อนความน่ากังวลตรงนี้ และเรียกร้องฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีสติและปัญญาเล็งการณ์ไกล”

แย้ม 'เท้ง' มีศักยภาพแคนดิเดตนายกฯ 

อย่างไรก็ตาม 143 สส.อดีตพรรคก้าวไกลย้ายมาสังกัดพรรคประชาชนแล้ว “ชัยธวัช” กล่าวถึงคุณสมบัติของ “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน เหมาะสมเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในอนาคตหรือไม่ว่า “ข้อดีข้อเด่นของคุณณัฐพงษ์ ก็คือ เขาโตมาจาก สส.เขต แล้วสมัยแรกเป็น สส.เขต สมัยสองก็เป็น สส.บัญชีรายชื่อ ทำงานนโยบายมากขึ้น ขับเคลื่อนรายประเด็นมากขึ้น เข้ามารับผิดชอบการบริหารพรรคส่วนกลางมากขึ้นด้วย เป็นอีกหนึ่งท่านมีประสบการณ์ มุมมองหลากหลาย เข้าใจการทำงานมิติ สส.เขตด้วย เข้าใจการทำงานในเชิงขับเคลื่อนนโยบายมากกว่าในพื้นที่ด้วย”

ถามว่า คุณณัฐพงษ์มีความเหมือนคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ผสมกับคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลหรือไม่ “ชัยธวัช” ระบุว่า “ผมคิดว่าแต่ละคนมีความเป็นตัวของตัวเอง บอกไม่ได้ว่าคนนี้เป็นตัวแทนคนนี้ เอาดีเอ็นเอคนนี้มาผสมดีเอ็นเอคนนี้ แต่ถ้ามองแง่นี้ ผมก็ไม่ได้คิดนะ แต่ในแง่เอาความมุ่งมั่นกับความนุ่มนวลผสมกันแง่นี้ คุณธนาธรมีจุดเด่นความมุ่งมั่นมั่นคง คุณพิธามีความโดดเด่นในแง่ความนุ่มนวลเปิดกว้างเฉียบแหลม แง่นี้คุณณัฐพงษ์ก็มีองค์ประกอบนี้ผสมในตัวแบบคุณณัฐพงษ์เอง”

“ชัยธวัช”ระบุว่า ส่วนเรื่องแคนดิเดตนายกฯ พรรคยังไม่ได้รีบตัดสินใจคงมีเวลา เพราะเพิ่งเริ่มต้นช่วงเวลาหลังจากนี้อย่างน้อย 1 ปี คงเป็นช่วงที่กลับมาฟื้นฟูพรรคให้เข้มแข็งในระดับฐานราก หลังจากนี้ 1 ปี พรรคอาจจะเริ่มคิดและอาจไม่ต้องรีบสรุปใครจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่ไม่ปฏิเสธว่าคุณณัฐพงษ์ก็เป็นคนหนึ่งมีศักยภาพที่จะเป็นได้แคนดิเดตนายกฯได้

ถามว่า ขณะนี้รู้สึกหายคับแค้นใจจากคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลแล้วหรือยัง “ชัยธวัช” บอกว่า พูดยาก แต่ขณะนี้ภาวะสังคมอยู่ในห้วงที่มีความอิหลักอิเหลื่อกับการยุบพรรคการเมือง ส่วนตัวคิดว่าการยุบพรรคการเมืองสำคัญไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก ไม่ได้อยากให้ยักไหล่มองข้ามปัญหานี้ 

“อยากให้คนเดินหน้าไปต่อ เอาเก็บความคับข้องใจคับแค้นใจ ไว้ข้างหลัง และเป็นแรงผลักดันให้เราร่วมกันให้เป็นคนละไม้คนละมือที่แต่ละคนทำได้ เพื่อผลักดันสังคมที่เราอยาเห็นให้ได้ในที่สุด” 

“ชัยธวัช” ระบุว่า คำว่า “ยักไหล่” ในความหมายของอดีตพรรคก้าวไกลคือเดินหน้าต่อ ไม่อยากให้สังคมรู้สึกท้อแท้หมดหวัง แต่ถ้ามองดีๆ อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะเรายังสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการเมืองในระบบเลือกตั้งได้
 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ วางแผนหลังตาย ซ้อนประโยชน์มูลนิธิประจำตระกูล

วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุนวัย 94 ปี ผู้ใช้ชีวิตเรียบง่าย และพยายามหลีกเลี่ยงเข้าไปยุ่งการเมื...

‘จีน-เกาหลีใต้’ อพยพพลเมือง ออกจาก เลบานอน

รอยเตอร์ส เผย ‘จีน-เกาหลีใต้’ ได้ทำการ อพยพพลเมือง ออกจากประเทศ เลบานอน หลังสถานการณ์ความขัดแย้งระหว...

ผู้นำอาหรับอเมริกันจี้'แฮร์ริส' หัก'นโยบายอิสราเอล'ไบเดน

กลุ่มผู้นำชาวอเมริกันเชื้อสายอาหรับพบกับรองประธานาธิบดีแฮร์ริส ในห้องหลังเวทีหาเสียงในเมืองฟลินต์ รั...

เรียนรู้ 'พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก' ผ่านงาน SX2024 ที่โซน SEP INSPIRATION

งาน “Sustainability Expo 2024” หรือ SX2024 งานเอ็กซ์โปเกี่ยวกับความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซ...