FED ลดดอกเบี้ยกดดันแบงก์ชาติ ‘หอการค้า-ส.อ.ท.’ชี้ถึงเวลาแล้ว

หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลง 0.5% เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2567 ถือเป็นการเริ่มต้นวัฏจักรของการลดดอกเบี้ยอย่าง “เข้มข้น” โดยการลดดอกเบี้ยถึง “ครึ่งเปอร์เซ็นต์” แทนที่การลดดอกเบี้ย 0.25% ตามปกติ เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของตลาดแรงงานสหรัฐที่ส่งสัญญาณอ่อนลง

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ลงมติ 11 ต่อ 1 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 4.75-5.0% หลังจากคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษมาเป็นเวลากว่า 1 ปี

เฟดระบุในแถลงการณ์ว่า “คณะกรรมการมั่นใจมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อจะเคลื่อนตัวไปสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน และเห็นว่าความเสี่ยงในการบรรลุเป้าหมายด้านการจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สมดุล” และเสริมว่าเจ้าหน้าที่ “มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการจ้างงานสูงสุด” นอกเหนือจากการผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้กลับไปสู่เป้าหมาย"

ขณะที่ผลการคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐในระยะยาว (Dot Plot) แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ 10 คนจาก 19 คน “สนับสนุนให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.5% ในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปี 2024”

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 1.00% ในปี 2568 และลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในปี 2569 โดยรวมแล้ว Dot Plot บ่งชี้ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2.00% นี้

ทั้งนี้ เฟดลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุดปี 2563 (2020) ลดไป 0.50% เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2567 และอีก 1.00% วันที่ 15 มี.ค.2567 โดยลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 0-0.25% ยาวต่อเนื่องก่อนเข้าวัฏจักรขาขึ้นในปี 2565-2566

 

นอกจากการลดดอกเบี้ยแล้วได้ “ปรับลด” คาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐปี 2567 ลงเหลือ 2% โดยประมาณการว่าจีดีพีสหรัฐโต 2.0% ทุกปี ตั้งแต่ปี 2567-2570 หลังจากเดือน มิ.ย.คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.1%, 2.0% และ 2.0% ในปี 2567, 2568 และ 2569 ตามลำดับ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าผลการประชุมของเฟดยังสร้างแรงกดดันไปยังธนาคารกลางอื่นทั่วเอเชียให้อาจพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยตามในปีนี้และปีหน้า

ธนาคารกลางอินโดนีเซีย เป็นแบงก์ชาติรายแรกที่ลดดอกเบี้ยก่อนทราบผลการประชุมเฟด โดยลดลง 0.25% สู่ระดับ 6.0% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.พ.2021

สำหรับธนาคารกลางประเทศอื่นในเอเชียแปซิฟิกที่บลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยภายในปี 2567 ได้แก่ อินเดีย เกาหลีใต้ ไทย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ขณะที่ญี่ปุ่นคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ แต่ยังไม่ใช่รอบการประชุมวันที่ 20 ก.ย.2567

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะจุดชนวนให้เกิดวัฎจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปทั่วโลก แต่อาจไม่ส่งผลทันทีถึงบางประเทศ “เอเชีย” มากนัก เพราะธนาคารกลางภูมิภาคนี้หันมาให้ความสำคัญกับเสถียรภาพการเงินและความเสี่ยงอื่นมากขึ้น

ธนาคารกลางไต้หวันคงอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมหลักในระดับ 2.00% ในการประชุมวันที่ 19 ก.ย.เพราะสถานการณ์เงินเฟ้อยังคุมได้ไม่แน่นอน หลังจากเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาดในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

หลายชาติเอเชียลดดอกเบี้ย 0.5% ตามเฟด

เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2567 ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% มาอยู่ที่ 5.25% เป็นการลดครั้งแรกรอบ 4 ปี และจะช่วยผ่อนคลายการกู้ยืมในศูนย์กลางทางการเงินเอเชียแห่งนี้มากขึ้น ภายหลังเฟดลดดอกเบี้ยแรง 0.5%

ก่อนการปรับลดครั้งนี้ ฮ่องกงมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.75% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 ขณะที่ฮ่องกงใช้ระบบผูกค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงกับดอลลาร์ จึงทำให้ฮ่องกงและประเทศอื่นที่ผูกค่าเงินกับดอลลาร์ มักปรับอัตราดอกเบี้ยทิศทางเดียวกับเฟดทุกครั้ง

นอกจากฮ่องกงแล้วยังมีธนาคารกลางในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) อีก 5 ประเทศที่ใช้ระบบผูกค่าเงินกับดอลลาร์สหรัฐ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามมาเช่นกัน ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์, ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต, กาตาร์ และบาห์เรน

สำนักข่าวรอยเตอร์สเปิดเผยผลสำรวจนักวิเคราะห์ 39 รายในสัปดาห์นี้ พบว่า 69% เชื่อว่าธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจลดอัตราดอกเบี้ยลงในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ภายหลังจากที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแรง 0.5% ซึ่งช่วยบรรเทาความเสี่ยงเรื่องค่าเงินหยวนที่อ่อนลงได้

ผลสำรวจระบุว่า นักวิเคราะห์ 27 รายคาดการณ์ว่าแบงก์ชาติจีนอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี LPR ทั้งระยะ 1 ปี และ 5 ปีลงมา ส่วนอีก 12 รายคาดการณ์ว่าแบงก์ชาติจีนอาจปรับลดเฉพาะดอกเบี้ย LPR ระยะ 5 ปีเท่านั้น และนักวิเคราะห์อีก 10 รายเชื่อว่า จะไม่มีการลดดอกเบี้ยใดๆ ทั้งสิ้น

 

“ส.อ.ท.-หอการค้า”หวังลดดอกเบี้ยตามเฟด

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงดอกเบี้ยขาลง โดยยุโรปลดอัตราดอกเบี้ยมาก่อนหน้านี้ ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ยลง จากที่หลายคนบอกว่าจะลดครั้งละ 0.25% แต่ครั้งนี้ใช้ยาแรงลดถึง 0.50% และยังมีแนวโน้มลดลงอีก 0.50% ถือเป็นการส่งสัญญาณค่อนข้างดี

ดังนั้น จะเกิดค่าเงินบาทที่เห็นชัดเมื่อเทียบเงินดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทไทยแข็งค่าจะได้รับผลกระทบต่ออุปสรรคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบตามมาด้วย ดังนั้น ธปท.ควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพราะที่ผ่านมานโยบาย กนง.ปรับขึ้นลงตามอัตราดอกเบี้ยตามเฟด จึงต้องจับตาว่า ธปท. จะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยลงเท่าไหร่

 

“ในอดีตเฟดขึ้นเราก็ขึ้น เมื่อเฟดลงเราก็ลดจึงหวังว่า ธปท.จะลดดอกเบี้ยตาม เพราะหากลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระให้ผู้กู้ยืมเงินมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ส่วนภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี จะมีสภาพคล่องต้นทุนทางการเงินดีขึ้น” นายเกรียงไกร กล่าว

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เฟดตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกลงแบบเร็วและแรง 0.50% ทำให้อัตราดอกเบี้ยลงจาก 5.25-5.50% สู่อัตรา 4.75-5.00% 

ทั้งนี้ หอการค้าเห็นว่าถึงเวลาที่ กนง.ควรพิจารณาลดดอกเบี้ยให้อยู่ระดับที่เหมาะสม เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ส่งออกและภาคท่องเที่ยวแข่งขันได้ดีขึ้น

กนง.เผชิญแรงกดดันลดดอกเบี้ยมากขึ้น

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การตัดสินใจลดดอกเบี้ยของเฟดสร้างแรงกดดันต่อนโยบายการเงินของหลายประเทศเช่นเดียวกับไทยที่อาจเผชิญแรงกดดันหนักขึ้น โดยล่าสุดอินโดนีเซียลดดอกเบี้ยลง 0.25% ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนมองว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทยอาจตามอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคหรือไม่

ทั้งนี้หากสถานการณ์ข้างหน้า โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ธปท.อาจเผชิญแรงกดดันหนักขึ้นว่าอาจเป็นสาเหตุให้เงินบาทแข็งค่า

แต่ในมุมเกียรตินาคินภัทรมองว่า กนง.อาจไม่เร่งลดดอกเบี้ยตามเฟดหรือประเทศในภูมิภาค เพราะส่วนใหญ่ กนง.ดูปัจจัยในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่เห็นต่อเนื่อง โดยเฉพาะไตรมาส 4 คาดว่ามีโอกาสเห็นการโตของจีดีพี 4% จากการเร่งกระตุ้นภาครัฐ ดังนั้นความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอาจมีน้อยลง

ดังนั้นการลดดอกเบี้ยอาจถูกดีเลย์ได้จากเดิมที่มองว่า กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งสุดท้ายปีนี้ในเดือน ธ.ค.ที่ 0.25% หากเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง

 

เงินบาทแข็งค่าเป็นจุดเปลี่ยนเร่งลดดอกเบี้ย

นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics (Chief Data and Analytics Group) และผู้บริหารศูนย์วิจัยทีทีบี กล่าวว่า จากการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟดและหลายประเทศสะท้อนว่า อัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ทิศทางขาลงหรือวัฏจักรขาลงแล้ว แต่อัตราดอกเบี้ยไทยถือว่าต่ำกว่าภูมิภาค และเงินเฟ้อไทยอยู่ระดับต่ำหากเทียบภูมิภาค แต่มีความเสี่ยงว่าเงินเฟ้ออาจเร่งตัวระยะข้างหน้า หากเศรษฐกิจหรือมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี

ทั้งนี้ กนง.เผชิญแรงกดดันการลดดอกเบี้ยมากขึ้น จากอัตราแลกเปลี่ยนหากอยู่ทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง หรือกลับไปแตะ 32 บาทต่อดอลลาร์ หรือต่ำกว่านั้น ที่อาจเป็นตัวที่ กนง.อาจต้องทบทวนการลดดอกเบี้ย อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยหักเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% ถือว่าสูงหากเทียบภูมิภาค

“มองว่า กนง.ไม่รีบลดดอกเบี้ยถึง ธ.ค.เลย เพราะเชื่อว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยผ่านไปแล้ว ยกเว้นเงินบาทแข็งค่าเกินไปจนกระทบส่งออกมากจึงจะเป็นประเด็นทำให้ กนง.เร่งลดดอกเบี้ย”

จับตารัฐหั่นFIDFเอื้อกนง.ไม่ต้องลดดอกเบี้ย

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า แม้เฟดจะลดดอกเบี้ยแรง แต่เชื่อว่า กนง.จะไม่เร่งลดดอกเบี้ย แม้มีปัจจัยให้ลดดอกเบี้ยมากขึ้น จากสถานการณ์น้ำท่วมที่กระทบต่อเศรษฐกิจระดับหนึ่ง และเชื่อว่าการแจกเงินก็อาจจะไม่เพียงพอ หากดูทิศทางเศรษฐกิจไทยข้างหน้า ยังเผชิญกับความเสี่ยงขาลงมากขึ้น

ทั้งนี้ 3 ปัจจัยที่มองว่า กนง.อาจไม่ได้ลดดอกเบี้ยในรอบการประชุมครั้งหน้า คือ กนง.รอสัญญาณเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจน โดยเฉพาะตัวเลขไตรมาส 3 ถัดมา คือ การติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่มีผลต่อเศรษฐกิจ และสุดท้ายรอดูนโยบายเฟดในครั้งถัดไป ดังนั้นมองว่ากนง.จะลดดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.หลังสถานการณ์ชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ตาม แต่หากกระทรวงการคลัง หรือภาครัฐ มีการออกนโยบายโดยสั่งให้ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินหรือ FIDF เหลือ 0.23%จาก 0.46% ส่วนนี้มองว่า กนง.อาจไม่จำเป็นลดดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.นี้

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...