‘ไปรษณีย์ไทย’ เจอ ‘ขนส่งจีน’ กินรวบ! ลูกค้าอยากใช้ แต่เลือกเองไม่ได้

เดือนมีนาคม 2567 “ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เคยกล่าวถึงกรณีการแข่งขันอันดุเดือดท่ามกลางสมรภูมิขนส่งไว้ว่า “ไปรษณีย์ไทย” กำลังเจอปัญหาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเพราะโดนกีดกันจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากร้านค้าและลูกค้าไม่สามารถเลือกขนส่งเองได้ เขาเสนอว่า ต้องมี “Regulator” หรือหน่วยงานที่เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลเป็นผู้กำหนดกติกาการแข่งขัน เพื่อความเป็นธรรมและชัดเจนมากขึ้น

ล่าสุด ผู้สื่อข่าว “กรุงเทพธุรกิจ” มีโอกาสสนทนากับผู้บริหารไปรษณีย์ไทยเพื่ออัปเดตความคืบหน้าอีกครั้ง ได้รับคำตอบว่า จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการแก้ไขหรือตั้งหน่วยงานเข้ามากำกับดูแล นอกจากปัญหาเดิมจะยังคงอยู่ ช่องทางเกิดใหม่มาแรงอย่าง “TikTok” ก็เข้ามามีบทบาทในสนามอีคอมเมิร์ซมากขึ้นด้วย โดยแพลตฟอร์ม TikTok มีบริการขนส่งต่างชาติอย่าง “เจแอนด์ที” (J&T) ผูกโยงไว้ ทำให้ไปรษณีย์ไทยต้องหาทางเปิดโต๊ะเจรจาเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในแพลตฟอร์มให้ได้ 

หลังจาก “ไปรษณีย์ไทย” เข้าไปเจรจาเพื่อแบ่งสัดส่วนการให้บริการ ขณะนี้พ่อค้าแม่ค้าใน TikTok สามารถเลือกส่งสินค้าผ่านไปรษณีย์ไทยได้แล้ว แต่ก็ยังนับเป็นตัวเลขที่น้อยมากประมาณ 200 ถึง 300 ร้านค้าเท่านั้น “ดนันท์” ระบุว่า ปีนี้ไปรษณีย์ไทยตั้งเป้าว่า ต้องทำให้ดีกว่าปีที่แล้ว เพราะกว่าจะเจรจากับ TikTok สำเร็จก็ใช้เวลาเกือบ 2 ปี

แต่เท่านั้นยังไม่พอ เพราะตอนนี้ต้องเจอศึกหนักจาก “Temu” ที่มีความยากกว่าหลายเท่า เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีสำนักงานในไทย แม้แต่กรมสรรพากรก็ตรวจสอบไม่ได้ ทำให้ต้นทุนของ Temu ต่ำกว่าเดิม จากที่ส่วนแบ่งในตลาดถูก “Shopee” และ “Lazada” ปันส่วนไป หลังจากนี้ “Temu” จะขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่มีนัยสำคัญ

“อย่าง Shopee กับ Lazada พ่อค้าแม่ค้าเป็นคนไปเลือกของแล้วมาเปิดร้านขายซึ่งโมเดลนี้จะมีคนกลางเสมอ แต่ Temu ตัดตรงนี้ทิ้ง ตรงไปรับของจากผู้ผลิตแล้วเอาข้อมูลที่ได้จากแพลตฟอร์มมาวิเคราะห์ต่อ ดูว่า ผู้บริโภคซื้ออะไรเยอะก็ป้อนตรงเข้าโรงงานให้ผลิตสิ่งนั้นทันที สมมติ ช่วงนี้เสื้อสีแดงขายดีก็ทำออกมาแต่สีแดง สเกลก็ได้ ราคาก็ถูกลง จากนั้นก็ขนส่งโดย “J&T Express” เหตุการณ์ในลักษณะนี้เรียนตรงๆ ว่า ผมต้องสู้ไปตลอด ปริมาณการขนส่งบน TikTok ของเรา ลดลงราวๆ 50% ต่อวันตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา”

ผู้บริหารไปรษณีย์ไทยบอกว่า อีคอมเมิร์ซเป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้าในเวลาเดียวกัน แต่คำถามสำคัญก็คือไปรษณีย์ไทยจะสร้างสมดุลระหว่างสถานะทั้งสองอย่างไร ตนมองว่า บางอย่างยังเป็นคำถามปลายเปิดที่หาทางออกไม่ได้ และหากยังไม่มีหน่วยงานจากภาครัฐเข้ามากำกับดูแล อีกหน่อยทั้งระบบนิเวศจะทยอยลมหายตายจากกันหมด ต้นน้ำคือผู้ประกอบการไทยจะไปก่อน และหากผู้ประกอบการหรือพ่อค้าแม่ค้าล้ม ขนส่งเช่น “ไปรษณีย์ไทย” ก็จะมีปริมาณการขนส่งน้อยลง ท้ายที่สุดธุรกิจขนส่งก็จะตายไปด้วย 

-ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด-

สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือมีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาทำตลาดในไทยแบบ “กินรวบ” สินค้าผลิตที่ประเทศต้นทาง ขายโดยแพลตฟอร์มต่างชาติ และยังใช้ขนส่งของตนเองอีกด้วย ยิ่งผู้ประกอบการเหล่านี้นำสินค้าเข้ามาอยู่ในแวร์เฮ้าส์ไทยมากเท่าไหร่ ขนส่งไทยก็จะถูกตัดออกจากระบบมากเท่านั้น

ข้อเสนอของ “ดนันท์” คือภาครัฐต้องเข้ามาดูหลายๆ ภาคส่วน ไม่เพียงกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง อย่างฝั่งคลังก็ต้องดูเรื่องภาษี กรมสรรพากรดูเรื่องด่านพรมแดน สินค้าเหล่านี้เข้ามาอย่างไร มีการทุ่มตลาดหรือไม่ เรื่องนี้ต้องจับมือทำกันอย่างพร้อมหน้า

ส่วนความท้าทายหลังจากนี้ แม้ปีที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยจะพลิกกลับมาทำกำไรได้สำเร็จ แต่ถนนสายนี้ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด “ดนันท์” ระบุว่า การแข่งขันผ่านเกมราคาจะยังดำเนินต่อไป รวมถึงการปรับเปลี่ยนเรื่องช่องทางที่เกิดขึ้นเร็วมาก โดยเฉพาะช่องทางการขายที่ผูกโยงกับช่องทางการขนส่ง ทั้ง “Shopee” “Lazada” และ “TikTok” ทั้งหมดนี้มีบริการขนส่งเป็นของตัวเอง

นั่นหมายความว่า อีคอมเมิร์ซเหล่านี้ไม่ได้มองตัวเองเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่มีการกำหนดมาตรฐานวันรับของ ส่งของ คืนของ ที่เป็นโจทย์ต่อไปของไปรษณีย์ไทยในการวางระบบให้มีความยืดหยุ่นใกล้เคียงกับผู้เล่นเหล่านี้ให้ได้ ส่วน “Temu” หากสามารถผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มสำเร็จ ค้าขายกับประเทศอื่นได้ ก็จะเป็นอีกโอกาสสำคัญ ทำอย่างไรให้โลจิสติกส์ไทยเข้าไปหนึ่งในผู้ประกอบการ เหมือนที่จีนเข้ามาประกอบกิจการในบ้านเรา

เมื่อถามว่า อยากฝากอะไรถึงรัฐบาลหรือไม่ “ดนันท์” ยืนยันคำเดิมว่า อยากให้ผู้ประกอบการไทยได้รับการมองเห็น ได้รับความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามว่า เราจะสามารถเป็นผู้ผลิตมากกว่าอยู่ในสถานะผู้ใช้งานหรือผู้บริโภคได้ด้วยวิธีการใดบ้าง หากเราเป็นผู้ผลิต เราส่งออกได้ทั่วโลก แต่ถ้าเป็นเพียงผู้ใช้บริการ GDP ส่วนหนึ่งจะต้องจ่ายคืนไปที่ผู้ผลิต แม้ขายของได้จำนวนมากแต่ถ้าสินค้าเหล่านั้นไม่ได้มีจุดกำเนิดจากเราเอง ส่วนหนึ่งของ GDP ก็จะต้องจ่ายออกไปข้างนอก

“คำถามก็คือไทยจะเป็นผู้ผลิตหรือเป็นแค่ผู้บริโภค” ผู้บริหารไปรษณีย์ไทยกล่าวปิดท้าย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...