รถผ่านเป็นแสนคัน แต่ทราฟิกทรงตัว? กางแผนรีโนเวท ‘เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ’ ในรอบ 16 ปี

มีห้างอยู่ตรงไหน พื้นที่รอบข้างก็พลอยคึกคักไปด้วย เพราะการมาถึงของศูนย์การค้าไม่เพียงสร้างเม็ดเงินให้กับกลุ่มนายทุนเท่านั้น หากผ่าเค้กก้อนใหญ่มูลค่า “4.4 ล้านล้านบาท” จะพบว่า มีทั้งร้านค้ารายย่อย การจ้างงาน หอพัก-ที่อยู่อาศัยโดยรอบเกิดขึ้นมากมาย ทำให้เมืองเจริญเติบโตตามไปด้วย โดย “เซ็นทรัลพัฒนา” ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สัญชาติไทยเล่าย้อนอดีตที่ใช้แนวคิดดังกล่าวเข้าไปปักหมุดพัฒนาเมือง ไล่มาตั้งแต่การเกิดขึ้นของ “เซ็นทรัล ลาดพร้าว” “เซ็นทรัล บางนา” และ “เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า” เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในรอบ 2 ถึง 3 ปีที่ผ่านมา “กลุ่มเซ็นทรัล” มีความเคลื่อนไหวในการปักธงสร้างศูนย์การค้าตามจังหวัดหัวเมืองใหญ่มากมาย กระทั่งปีนี้กลับมาโฟกัสกับการยกเครื่องห้างเก่าอีกครั้ง ด้วยงบลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท ทยอยลงทุนตั้งแต่ปี 2567 ถึง 2569 ล้วนเป็นห้างที่ผู้คนในย่านนั้นๆ คุ้นเคยกัน ไม่ว่าจะเป็น “เซ็นทรัล บางนา” “เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า” “เซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต” และ “เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ” 

จากงบรีโนเวทก้อนใหญ่ หากเรียงลำดับจากมากไปน้อย ผู้บริหารบอกว่า “เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ” ใช้งบน้อยที่สุด อายุห้างก็ถือเป็นจูเนียร์ที่สุดในบรรดา 4 แห่ง ทว่า ความน่าสนใจของเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ คือ การเติบโตของเมืองที่รุดหน้าไปไกลกว่า 16 ปีที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ

“ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา” ประธานเจ้าหน้าที่การตลาดเซ็นทรัลพัฒนา บอกว่า แจ้งวัฒนะ คือพื้นที่ “Rising Star” มีคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นเยอะมาก อาคารสำนักงานก็เยอะขึ้นล้อไปกับการขยายตัวของศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ประกอบกับปีนี้ยังมีรถไฟฟ้าสายสีชมพูเชื่อมต่อกับตัวเมือง แจ้งวัฒนะกำลังเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่ชานเมืองสู่ “New CBD” แห่งใหม่ของนนทบุรี

“ณัฐกิตติ์” ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ย่านแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีกำลังซื้อสูงสุด ช่วงวันธรรมดามีคนทำงานออฟฟิศ และข้าราชการที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะมาเดินเยอะมาก หากเป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์จะเป็นกลุ่มครอบครัวที่พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง

ทำเลการค้า หรือ “Catchment Area” ที่เปลี่ยนไปเกิดจากการขยายตัวของหมู่บ้านจัดสรรแห่งใหม่ ลากยาวไปจนถึงฝั่งถนนราชพฤกษ์-ชัยพฤกษ์ จรดถึงแถบเมืองนนท์ ทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่ตอนนี้จึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามการขยายตัวของคนเมือง เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนในละแวกนั้น

ด้าน “คุณายุธ เดชอุดม” หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจเซ็นทรัลพัฒนา ขยายรายละเอียดการรีโนเวทครั้งนี้ว่า เนื่องจากย่านแจ้งวัฒนะมีกำลังซื้อเยอะ จึงอยากให้ความสำคัญไปที่การปรับเปลี่ยนมู้ดแอนด์โทนทั้งหมด เพิ่มพื้นที่สำหรับ “New Gen” สร้างพื้นที่สำหรับคอมมูนิตี้เพิ่ม ส่วนของ “Tops” จะอัปเกรดเป็น “Tops Food Hall” ส่วนของสินค้าแฟชั่นหากดูจากข้อมูลหลังบ้านพบว่า มีความต้องการอินเตอร์เนชันแนล แบรนด์ ก็จะมีเพิ่มเติมส่วนนี้ ครอบคลุมทั้งแบรนด์กีฬาและสตรีทแฟชั่น 

สำหรับโซนพื้นที่ครอบครัว และเด็กบริเวณชั้น 7 ที่เป็นพื้นที่โรงภาพยนตร์ โซนเกม และโรงเรียนสอนพิเศษ ทั้งหมดจะยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่จะมีการปรับพื้นที่ด้วยการเพิ่ม “Magnet” เข้าไป โดยมี “BOUNCE Thailand” พื้นที่ Sportainment “HarborLand” สวนสนุกในร่มขนาดใหญ่ และ “Joyliday” เครื่องเล่นในศูนย์การค้า รวมกันแล้วพื้นที่มากกว่า 3,000 ตารางเมตร และจะมีการปรับพื้นที่เพื่อรองรับงานอีเวนต์เข้าไปด้วย

-โฉมใหม่ห้าง “เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ” หลังรีโนเวทแล้วเสร็จช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2568-

ทั้งนี้ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดเปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน “เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ” มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการประมาณ 40,000 คนต่อวัน ถือว่าจำนวนกลางๆ ไม่เยอะไม่น้อย หลังจากรีโนเวทแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 คาดว่า จะมีทราฟฟิกเพิ่มสูงสุด 60,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนราวๆ 20% 

“ทำเลการค้าย่านแจ้งวัฒนะเปลี่ยนไปเยอะมาก มีทั้งที่พักอาศัย ออฟฟิศ มีแนวโน้มขยายตัวทั้งหมด ถ้าดูรถที่ผ่านมีจำนวนค่อนข้างมากเป็นแสนๆ คันต่อวัน รถติดตลอดเวลา มีลูกค้าผ่านหน้าบ้านตลอดเราก็ควรจะปรับปรุงให้ดี หลังจากมีรถไฟฟ้าสายสีชมพูตัดผ่านก็เป็นการเชื่อมต่อกันระหว่างหน่วยงานราชการให้มาที่ห้างเราก็ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น แต่ก่อนก็จะเจอกับรถติด เรามีทราฟฟิกหลายกลุ่ม ทั้งเด็กนักเรียน คนทำงาน และครอบครัว”

เมื่อถามว่า ได้เห็นกระแสบนโซเชียลมีเดียที่มีการพูดถึงความคึกคักของ “เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ” บ้างหรือไม่ ผู้บริหารบอกว่า จริงๆ ทำเลที่นี่ดีมาก แต่ที่ผ่านมา “เซ็นทรัลพัฒนา” มีแผนขยายศูนย์การค้าค่อนข้างเยอะ ตัวเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ เองก็ไม่ได้ปรับปรุงมานาน ตอนนี้จึงถึงเวลาที่ต้องกลับมาดูแล้ว ที่ผ่านมาอาจจะปล่อยมานานไปหน่อย โดยครั้งนี้จะเป็นการรีโนเวทในรอบ 16 ปีนับตั้งแต่วันเปิดทำการ ส่วนกำลังซื้อระบุว่า ไม่ได้กระทบมากนัก เพราะเซ็นทรัลเจาะกลุ่มกลางบนอยู่แล้ว หากดูจากฐานข้อมูลเดอะวัน (The 1) ยังมีกลุ่ม “Wealth” เข้ามาใช้จ่ายสม่ำเสมอ 

“ทุกศูนย์ต้องมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามา อยากให้คนมาอยู่ในศูนย์ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ตอนนี้เฉลี่ยคนเข้าใช้เวลาในห้าง 2.5 ชั่วโมงต่อคน ศูนย์ไหนไม่เก็บค่าที่จอดรถก็อยู่นานหน่อย ศูนย์ไหนแพงก็ไปไวหน่อย เป้าในใจหลังรีโนเวทก็อยากให้อยู่นานขึ้นสัก 3-4 ชั่วโมง จึงพยายามทำให้ทุกอย่างครบถ้วนในห้าง มากันทั้งครอบครัวก็มีกิจกรรมให้ทำครบหมดทุกเพศ ทุกวัย” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด กล่าวปิดท้าย

 

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...