รายการเพลงไม่มีวันตาย! การเดินทาง 1 ทศวรรษ 'The Voice Thailand'

1 ทศวรรษ คือการเติบโตของรายการเพลงฟอร์แมทระดับโลกอย่าง The Voice ที่เข้ามาทำตลาด ออกอากาศในประเทศไทย โดยมีคีย์แมนสำคัญอย่าง “พัฒนี จรียะธนา” ร่วมเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ โดยจุดสตาร์ทเกิดขึ้นที่บ้านหลังใหญ่ “ทรู มิวสิค”

10 ปีผ่านไป การเปลี่ยนแปลงของรายการ The Voice Thailand มีมากมาย ทั้งรูปแบบการแข่งขัน โค้ชที่จะมาหาศิลปินนักร้องตัวจริงเสียงจริง รวมถึงกติกา ในการเฟ้นหาลูกทีม ช่องทางการออกอากาศ ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ช่องใด เม็ดเงินการลงทุน การหารายได้ ที่สำคัญคือ “คนดู” ที่จะยังเสพคอนเทนต์รายการเพลง

ปี 2567 รายการเพลง The Voice Thailand 2024 กลับมาอีกครั้ง หลังห่างหายไปในช่วงโควิด โดยแม่ทัพคนสำคัญ “โอ๋” พัฒนี จรียะธนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์ซิท สาม หก ห้า จำกัด ยังทำหน้าที่สร้างสรรค์คอนเทนต์เหมือนเดิม

มหากาพย์ลงทุน 150 ล้านบาท คือจุดเริ่ม

“พัฒนี” ย้อนภาพการทำรายการเพลง The Voice Thailand ให้กรุงเทพธุรกิจฟังว่า ตอนเห็นรูปแบบรายการเพลงระดับโลกอย่างเดอะ วอยซ์ ที่ออกอากาศในสหรัฐฯ รู้สึกว้าว! เพลิดเพลิน ดูแล้วมีความสุข จึงต้องการนำมาให้คนไทยได้รับชมบ้าง จึงเจรจากับพันธมิตรตั้งแต่ยุครายการอยู่ภายใต้ทัลปา มีเดีย กรุ๊ป ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนมือมาอยู่ในเครือไอทีวี สตูดิโอ

ส่วนตอนทำรายการเดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์ ซีซั่น 1-6 อยู่ใต้เงาทรู มิวสิค และซีซั่น 1 ถือเป็นมหากาพย์การลงทุน เพราะความตั้งใจทำให้ดีและยิ่งใหญ่ทัดเทียมต้นฉบับ จึงระดม “ทีมงาน” โปรดักชั่นทั้งแสงสีเสียง เวที ผู้กำกับ การถ่ายทำที่ต้องเป็นระดับ “คอนเสิร์ต” เรียกว่าจัดเต็มมาก ทำให้การลงทุนเพื่อสร้างสรรค์รายการพุ่งระดับ 150 ล้านบาท

“การลงทุนเดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์ ซีซั่น 1 ถือเป็นมหากาพย์ เพราะทีมงานไม่ได้ใช้เหมือนทำรายการปกติ เราทำ Essamble แต่ละทีม มาทำงานเพื่อให้เวที การกำกับ การถ่ายรายการ ฯดีสุด และนั่นเป็นจุดที่ทำให้รายการประสบความสำเร็จ”

ซีซั่น 3 จุดสูงสุด “เดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์”

งบลงทุนซีซั่นแรกสูงสุด ทว่า จากนั้น การลงทุนก็ปรับลดลงจากหลากตัวแปร ทั้งเศรษฐกิจ รายได้โฆษณา เม็ดเงินจากผู้สนับสนุน(สปอนเซอร์) คนดูที่มีผลต่อเรทติ้ง พฤติกรรมคนเสพคอนเทนต์ ความคุ้มค่าต่อการลงทุน ฯ จึงเห็นเม็ดเงินที่ใช้ลดลงมาอยู่ที่ 90 ล้านบาท 75 ล้านบ้าง เป็นต้น

รายการระดับโลก เมื่อมีช่วงได้รับความนิยม ก็มีลดลงบ้างตามเทรนด์ และบริบทสื่อที่เปลี่ยน ทว่า หากย้อนช่วงสูงสุดหรือพีคของเดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์ ซีซั่น 3 สุด! ทั้งในแง่ผู้เข้าร่วมทดสอบการแสดงหรือออดิชั่น ที่ทะลุไปกว่า 1 หมื่นคน รายการมีผู้ชมสูงสุด ผลตอบรับด้านรายได้ รวมถึงมี “ดราม่า” เกิดขึ้นกับบรรดาโค้ช ทั้ง “เจนนิเฟอร์ คิ้ม” และ “สแตมป์ อภิวัชร์” แม้กระทั่งสื่อโซเชียลของเดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์ ที่แฟนคลับของคนที่ตนเชียร์ไปถล่ม มีผลกระทบจนโค้ชสแตมป์ ลาออก โค้ชคิ้ม ปิดคอมเมนต์ไอจี(Instagram:IG) เป็นต้น

“ช่วงนั้นภูมิทัศน์สื่อกำลังเปลี่ยนจากทีวีอนาล็อกไปสู่ทีวีดิจิทัล สื่อสังคมออนไลน์กำลังเบ่งบาน ทำให้เดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์ ซีซั่น 3 เป็นจุดที่รายการดังมากๆ พีกสุด”

ดึงพันธมิตร ต่อยอดต้นน้ำ-ปลายน้ำ “นามสกุล เดอะ วอยซ์”

สำหรับการกลับมาทำรายการเพลง “The Voice Thailand 2024” ใช้งบลงทุนเกือบ 60 ล้านบาท ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าติดตาม ภายใต้การจัดเต็ม แสง สี เสียง แต่จะสร้างความว้าว! ให้กับผู้ชม ด้วย 2 โค้ชเดิม “ก้อง สหรัฐ” ที่พาลูกทีมคว้าแชมป์ซีซั่น 1และ “โค้ชคิ้ม” ตัวแม่พาทีมคว้าแชมป์ซีซั่นสุดท้าย เสริมทัพด้วย โค้ชใหม่ “โอ๊ต ปราโมทย์” และ “จ๋าย อิชณน์กร” นักร้องนำวงอินดี้เพื่อชีวิตแห่งไททศมิตร

นอกจากนี้ ยังมี “พันธมิตรใหม่” อย่าง “ดร.แตน” ดร.ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท ที แอนด์ บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ที แอนด์ บี เวิลด์ อาร์ทิสต์ จำกัด มาร่วมเป็นผู้สนับสนุน และมาพร้อมกับมือดี “ณณ” ณัฐฏ์ฐพัฒฑุ์ ฉันทะนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที แอนด์ บี เวิลด์ อาร์ทิสต์ จำกัด มือฉกาจแห่งวงการคอนเสิร์ตมาซีนเนอร์ยีเสริมแกร่งตั้งแต่ต้นน้ำจนไปถึงปลายน้ำ

“เดิมคุยกับพันธมิตรทีแอนด์บีมีเดียโกลบอล จะลุยโปรเจคคอนเสิร์ตต่างประเทศ แต่คุณณณ ชวนไปทำเดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์ ก็บอก..โหพี่! ไม่ไหวหรอก ทำแล้วขาดทุน เพราะต้นทุนสูง แล้วดูสภาพเศรษฐกิจตอนนี้ จึงได้คุยกับดร.แตนที่ชอบดูรายการอยู่แล้ว และเข้ามาเป็นผู้ลงทุนหลักของรายการ”

เกมการซีนเนอร์ยีธุรกิจจากนี้ เดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์ เป็นรายการเพลง “ต้นน้ำ” ที่จะต่อยอดสู่ธุรกิจอื่นสร้างรายได้ ซึ่ง “ที แอนด์ บี เวิลด์ อาร์ทิสต์” มีจุดแข็งทั้งค่ายเพลง การบริหารจัดการศิลปิน และจะนำไปสู่ “คอนเสิร์ต” ส่วน “ที แอนด์ บี มีเดีย โกลบอล” มีการสร้างแพลตฟอร์ม “เมตาเวิร์ส” จะเป็นช่องทางให้ศิลปินสร้างสรรค์คอนเทนต์ป้อนตลาดโลกในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัทมองโอกาสและศักยภาพจากนักร้องที่ผ่านเวที “เดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์” กลายเป็น “นามสกุล” ที่แกร่ง มีแฟนคลับ สร้างรายได้ ซึ่งศิลปินตัวท็อปในปัจจุบัน เช่น นนท์ ธนนท์, โบกี้ ไลอ้อน, โจอี้ ภูวศิษฐ์, วี วิโอเล็ต และอิงฟ้า วราหะ เป็นต้น

รายการเพลงไม่มีวันตาย!

ท่ามกลางพฤติกรรมผู้บริโภคเสพสื่อ และบริบทสื่อเปลี่ยน แต่ “พัฒนี” ยังเชื่อมั่นว่า “รายการเพลงไม่มีวันตาย” เพราะอย่างไรคนยังคงฟังเพลง แต่เปลี่ยนแพลตฟอร์ม และแนวเพลง(Music genre) ปัจจุบันเพลงเพื่อชีวิตอินดี้ ลูกทุ่ง มาแรง

ขณะที่รายการเพลงฟอร์แมทระดับโลกเป็นตำนาน ค่อนข้างจะศักดิ์สิทธิ์ เพราะยืนหยัดมาได้ 10 ปีในประเทศไทย เป็นรายการที่มีคุณภาพ “เดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์” เป็นรายการเพลงอันดับ 1 ยิ่งกว่านั้นมีศิลปินชั้นนำติด “นามสกุล” เดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์ มากมาย

“การมีพันธมิตรสนับสนุนรายการ จะทำให้เรากลับมาสร้างสีสันให้วงการบันเทิง และเชื่อว่ารายการร้องเพลงจะยังอยู่ได้ รายการเพลงไม่มีวันตาย และเดอะวอยซ์จะทำให้คนดูชาวไทยมีความสุข”

10 ปีมีแต่คนว่าบ้า! เพราะทำแล้วขาดทุน!

“พัฒนี” ลุยสร้างสรรค์รายการเดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์ ตั้งแต่เริ่มเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ เปลี่ยนมือ เปลี่ยนช่องออกกาศจากช่อง 3 ไปช่องพีพีทีวี36 และมาช่องวัน31การเดินทาง 10 ปี ที่มีทั้งช่วงรุ่งโรจน์ และความนิยมลดลง มีรายได้ และ “กำไรบาง” บ้าง ขาดทุนบ้าง ทำให้ถูกมองเป็น “คนบ้า” ที่มาพร้อมความกล้า เนื่องจากปัจจุบันค่าลิขสิทธิ์รายการเพิ่มบ้าง ที่โหด!คือค่าลิขสิทธิ์เพลง ซึ่งเป็น “ต้นทุนมหาศาล”

ไมล์สโตนครบทศวรรษ “พัฒนี” มองอนาคตการทำรายการเดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์ ยังไปต่อได้อีกหลายซีซั่น โดยต้องดูตัวแปรคนดูและแพลตฟอร์ม

สำหรับรายการ The Voice Thailand 2024 จะออกอากาศทางช่องวัน 31 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 18.00 น. เริ่มวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายนนี้ และหลังจากนั้น 1.30 ชั่วโมง(ชม.) จะออกอากาศผ่าน “เน็ตฟลิกซ์” เต็มรูปแบบ ส่วนคอนเทนต์อื่นๆ จะนำเสนอผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ปัจจุบันพ The Voice Thailand แฟนเพจ Facebook มีผู้ติดตามกว่า 6.7 ล้านคน, YouTube ผู้ติดตาม subscribed กว่า 6.8 ล้านคน และ TikTok ผู้ติดตามถึง 1.5 ล้านคน

รูปแบบการหารายได้เปลี่ยนไป โดยทีวีดิจิทัลเป็นการซื้อเวลาช่องวัน31 จากที่ผ่านมาจะเป็นการจ่ายค่าตอบแทนโดยแบ่งช่วงเวลาในการขายโฆษณาให้สถานีนําไปขายเองหรือ Time Sharing ส่วนโซเชียลมีเดียจะหารายได้รูปแบบใหม่ทำเป็นช่อง(Channel)เพื่อขายสปอนเซอร์ แทนการแบ่งรายได้

“10 ปีทำเดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์ มีแต่คนมองว่าบ้า ทำทำไม เพราะขาดทุน หรือกำไรน้อยมาก แต่รามีความสุขที่ได้เห็นวันหนึ่ง เด็กที่ได้นามสกุลเดอะ วอยซ์เติบโต”

ฝันปั้นคอนเทนต์ ออริจินัลป้อน “เน็ตฟลิกซ์”

การนำรายการ The Voice Thailand 2024 ไปออกอากาศผ่านแพลตฟอร์มรับชมวิดีโอออนไลน์(โอทีที)อย่าง “เน็ตฟลิกซ์” ส่วนหนึ่งเพราะของต่างประเทศก็ยกขึ้นวินโดว์ที่ 2 แล้ว

จุดเริ่มนี้ยังทำให้ “พัฒนี” มองการปั้นคอนเทนต์ต้นตำรับหรือออริจินัล ป้อนให้เน็ตฟลิกซ์ด้วย เบื้องต้นเจรจากับเจ้าของลิขสิทธิ์ไอทีวี สตูดิโอแล้ว จะต่อยอดรายการเพลงไปสู่กลุ่มเป้าหมายความหลากหลายทางเพศ(LGBTQ) เนื่องจากมีศิลปิน นักร้องจากเวทีดังกล่าวหลายคน เช่น แชมป์เดอะ วอยซ์ ซีเนียร์ 2 “อาป้อม ศิริมาศ” และ “เพียว เอกพันธ์” เป็นต้น

ส่วนรูปแบบ อยู่ระหว่างการพิจารณา หากโปรเจคผ่าน “ไทย” จะเป็น “ประเทศแรก” ของโลกที่ทำรายการเพลงฟอร์แมทระดับโลกสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...