'โฟล์คสวาเกน' จ่อปิดโรงงานในเยอรมนี ครั้งแรกในรอบ 87 ปี อาจมีเลย์ออฟเพียบ!

บริษัทรถยนต์เบอร์ 1 ของเยอรมนี "โฟล์คสวาเกน" (Volkswagen) กำลังพิจารณาเตรียมปิดโรงงานหลายแห่งในประเทศเยอรมนีเป็นครั้งแรกในรอบ 87 ปีของประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัท และอาจส่งผลให้มีการเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ที่กำลังรุมเร้าอุตสาหกรรมรถยนต์ของยุโรป ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงจากคู่แข่งในจีนและสหรัฐ 

โอลิเวอร์ บลูม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโฟล์คสวาเกนกรุ๊ประบุในแถลงการณ์ว่า บริษัทไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ของการปิดโรงงานในประเทศได้อีกต่อไป และยังระบุถึงความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการ "ลดรายจ่ายครั้งใหญ่" เพื่อสร้างหลักประกันความอยู่รอดให้กับบริษัทในอนาคต

"อุตสาหกรรมรถยนต์ของยุโรปอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกร้องสูงและเลวร้ายมาก" ซีอีโอโฟล์คสวาเกนระบุ

"สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจยิ่งยากลำบากขึ้น และคู่แข่งรายใหม่กำลังเข้ามาในตลาดยุโรป แต่เยอรมนีในฐานะฐานการผลิต กลับถอยหลังลงเรื่อยๆ ในแง่ของความสามารถในการแข่งขัน"

โฟล์คสวาเกนซึ่งมีการจ้างงานพนักงานราว 6.8 แสนคนยังระบุด้วยว่า จำเป็นต้องยกเลิกมาตรการป้องกันการเลิกจ้างโดยไม่สมัครใจ หรือ Security programme ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1994 เพื่อป้องกันการเลิกจ้างโดยไม่สมัครใจไปจนถึงปี 2029 โดยจะมีการหารือเรื่องนี้กับสหภาพแรงงานต่อไป  

ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ยังนับเป็นครั้งแรกที่ซีอีโอคนปัจจุบันของโฟล์คสวาเกน เลือกที่จะหักกับสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่ง ทั้งที่ปกติแล้วมีความประนีประนอมสูงกว่าเมื่อเทียบกับซีอีโอคนเก่าอย่าง เฮอร์เบิร์ต ดีส ขณะที่ความพยายามปฏิรูปใหญ่ครั้งก่อนเมื่อปี 2022 ก็เคยล่มมาแล้วหลังจากที่ถูกสหภาพแรงงานปฏิเสธ 

รอยเตอร์สระบุว่า อาร์โน แอนท์ลิตซ์ ซีเอฟโอของบริษัท และโทมัส เชฟเฟอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายแบรนด์ของโฟล์คสวาเกน จะเจรจาหารือกับทางคณะกรรมการแรงงานของบริษัทในช้าวันพุธที่ 4 ก.ย.ตามเวลาท้องถิ่น 

ก่อนหน้านี้ บรรดานักวิเคราะห์ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่ฟล์คสวาเกนจะปิดโรงงานใน Osnabrueck, Lower Saxony และ Dresden

"สถานการณ์อยู่ในภาวะตึงเครียดอย่างมาก และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการลดต้นทุนเพียงอย่างเดียว" เชฟเฟอร์ระบุในแถลงการณ์

ทั้งนี้ แบรนด์โฟล์คสวาเกนซึ่งเป็นหัวเรือหลักของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในเครือของโฟล์คสวาเกน กรุ๊ป เป็นแบรนด์แรกที่ประกาศมาตรการลดรายจ่ายโดยตั้งเป้าหมาย 1 หมื่นล้านยูโร ภายในปี 2026 โดยเป็นความพยายามที่ปรับองค์กรให้กระทัดรัดขึ้นเพื่อให้อยู่รอดในยุคการเปลี่ยนผ่านสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

ตื่นรับความจริง

หลังจากข่าวนี้ราคาหุ้นของโฟล์คสวาเกนปรับตัวขึ้นทันที 1.2% แต่ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทสูญเสียมูลค่าไปถึงเกือบ 1 ใน 3 ทำให้กลายเป็นบริษัทที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในยุโรป

รอยเตอร์สระบุว่าโฟล์คสวาเกนเผชิญกับความท้าทายมากมายในยุโรป สหรัฐ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก "จีน" ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์อีวีจากจีนที่นำโดย BYD กำลังแย่งส่วนแบ่งการตลาดไป และส่งผลให้มูลค่าหุ้นของโฟล์คสวาเกนดิ่งลงมากกว่าคู่แข่งรายใหญ่รายอื่นๆ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา

ด้านบลูมเบิร์กอ้างข้อมูลจากบริษัทจัสต์ออโตว่า แม้ยอดขายรถยนต์ในยุโรปจะลดลงถึงเกือบ 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด แต่ผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปซึ่งรวมถึง VW, Stellantis และ Renault ต่างก็ยังดำเนินกิจการโรงงานมากกว่า 30 แห่ง ซึ่งเป็นระดับที่นักวิเคราะห์มองว่า "ไม่ทำกำไร" 

"โฟล์คสวาเกนเพิ่งตระหนักได้ว่าสถานการณ์กำลังเลวร้ายแค่ไหน" "เรากำลังเผชิญภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ยากลำบาก และยุโรปก็ไม่ใช่ผู้ชนะในสงครามนี้" เฮอรัลด์ เฮนดริกเซ นักวิเคราะห์ด้านยานยนต์จากซิตีกรุ๊ปกล่าว 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...