ทำไมโครงสร้างภาษีไทยให้ ‘ชนชั้นกลาง’ แบกภาระหนักอึ้ง แต่ ‘คนรวย’ มีช่องเลี่ยงมหาศาล

ถ้าถามถึงสุขภาพของเศรษฐกิจไทยอาจต้องบอกว่าไม่ดีมากนักเพราะเผชิญปัญหารุมเร้ารอบด้านซึ่งสะท้อนให้เห็นจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่โตต่ำกว่าศักยภาพมาอย่างต่อเนื่อง แม้ช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.3% แต่ก็ยังต่ำกว่าอีกหลายประเทศที่อยู่ในระดับการพัฒนาเดียวกัน

หากเปรียบเศรษฐกิจไทยเป็นของสักอย่างคงอาจเป็น “ลุงแก่” ที่ไม่เพียงใช้เครื่องไม้เครื่องมือเดิมในการทำมาหากินอย่างภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรม แต่ลุงท่านนี้ยังมีหนึ่งปัญหาที่เป็นเหมือนระเบิดเวลาซึ่งคอยกัดกินสุขภาพเขาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้นคือ “โครงสร้างการเสียภาษี” ที่นักวิชาการจำนวนมากมองว่าไม่เป็นธรรมและไม่มีประสิทธิภาพ

วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนพูดคุยกับ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ถึงข้อเสนอ “ยกเครื่อง” โครงสร้างภาษีไทยรวมไปถึงนวัตกรรมที่จะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมากขึ้น

ทำไมต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษีไทย

ภาพใหญ่ของสถานะทางการคลังไทยเรื่องหนึ่งที่น่ากังวลมากคือรายได้ของรัฐบาลโดยเฉพาะรายได้จากภาษีมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง คำว่าลดลงไม่ได้หมายความว่าได้เงินน้อยลงแต่เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติหรือจีดีพีพบว่ามีแนวโน้มลดลง

สมัยก่อนรายได้จากภาษีเมื่อเทียบกับจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 16-17% หรือบางครั้งก็ 18% แต่ตอนหลังลดลงไปเรื่อยๆ ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 13-14% ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะหมายความว่ารัฐบาลจะมีเงินในมือเพื่อบริหารประเทศ พัฒนาประเทศ หรือป้องกันปัญหาต่างๆ เช่นโควิด-19 หรือน้ำท่วมน้อยลง

อีกหนึ่งสาเหตุคือความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกัน หนึ่งภาพที่มีมานานแล้วของระบบภาษีไทยคือคนรวยไทยเสียภาษีน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับคนรวยประเทศอื่นซึ่งก็ทำให้ความเหลื่อมล้ำมากกว่าที่ควรจะเป็นเพราะถ้าเป็นประเทศอื่นอย่างแถบสแกนดิเนเวียเก็บภาษีสูงและภาษีทรัพย์สินซึ่งก็จะมาจากคนรวยเป็นหลัก  

อีกด้านหนึ่งคือภาษีจากการใช้จ่ายซึ่งตัวที่เราคุ้นเคยมากที่สุดคือภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)  และภาษีสรรพสามิตจากเชื้อเพลิงสุราและบุหรี่ซึ่งโดยปกติประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยมักจะเก็บภาษีส่วนนี้มากกว่าภาษีจากรายได้แต่ถ้าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจะตรงข้าม

ทั้งหมดเป็นการปรับโครงสร้างภาษีไทยให้สอดคล้องกับหลัก “ความสามารถในการจ่าย” คือคนที่มีความสามารถในการจ่ายมากก็ควรจ่ายมากกว่าปัจจุบัน แต่ตอนนี้คนชนชั้นกลางเป็นกลุ่มที่แบกรับการจ่ายภาษีมากที่สุดเพราะมีทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษี VAT และภาษีสรรพสามิต

แล้วเรื่องไหนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่ควรทำ

มีสองประเด็นที่เร่งด่วนมากที่สุดคือการเก็บภาษีทรัพย์สินมากขึ้นเพราะฐานทรัพย์สินในประเทศไทยจัดเก็บภาษีน้อยไปและต่อมาคือการเพิ่มภาษี VAT เนื่องจากทุกวันนี้อยู่ที่ 7% แถมยังเป็นตัวเลขที่ไม่จริงเพราะว่ามีการลดหย่อนและยกเว้นอยู่ (เช่นมาตรการคืนภาษีหรือลดหย่อนภาษีของรัฐบาล) ทำให้อัตราแท้จริงอยู่ที่ 4-5% ซึ่งค่อนข้างต่ำ

ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกภาษี VAT มักจะสูงกว่าประเทศไทยและมีไม่กี่ประเทศนับนิ้วได้เลยที่ภาษีมูลค่าเพิ่มเท่ากับ 7% หรือน้อยกว่ารวมทั้งบางประเทศขึ้นไปถึง 20-30% ด้วย

ประเทศที่ขึ้นภาษีไปในระดับนั้นก็จะไม่มีปัญหาในเรื่องรายได้ไม่พอเพราะว่า VAT เป็นแหล่งรายได้หลัก ขนาดประเทศไทยเก็บแค่ 7% เงินภาษีจากส่วนนี้ก็ยังเป็นแหล่งรายได้หลักแล้ว ดังนั้นถ้าสามารถขึ้นได้มากกว่านี้เช่นเป็น 10% ก็จะทำให้รัฐบาลมีเงินเข้ากระเป๋ามาจับจ่ายใช้สอยแก้ปัญหาและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้ดีขึ้นเยอะ

ส่วนเรื่องที่สำคัญรองลงมาคือเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีสองมิติคือ

(1) ถ้าไปไล่ดูสิทธิ์ในการลดหย่อนมักจะเป็นสิทธิ์สำหรับคนฐานะดี ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน เขาซื้อบ้านได้แสดงว่าฐานะต้องไม่แย่มาก ประกันชีวิตที่ปัจจุบันแพงมากดังนั้นถ้าซื้อได้ก็จะต้องรายได้ดีและสามคือกองทุนลดหย่อนภาษีอย่าง RMF/SSF ที่หักภาษีได้

นวัตกรรมทางภาษีทั้งหมดเป็นเรื่องที่คนฐานะปานกลางไปจนถึงรวยจะได้ประโยชน์ ขณะที่คนรายได้ต่ำจริงๆ อาจจะไม่มีทุนไปใช้กับสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องพิจารณาว่าจะปรับเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ พยายามกระจายให้คนระดับล่างได้ประโยชน์จากการลดหย่อนนี้มากขึ้นซึ่งก็มีข้อเสนอแนะอยู่เป็นระยะ

(2) หลายคนไม่รู้ว่ารายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลทุกวันนี้กฎหมายอนุญาตว่าไม่ต้องนำไปนับรวมกับแหล่งรายได้อื่น เช่นแหล่งรายได้จากเงินเดือน เบี้ยประชุม และรายได้เสริมอื่นๆ ซึ่งเงินได้เหล่านั้นจะเก็บเป็นขั้นบันไดคือถ้ารายได้ไม่ถึงระดับที่กำหนดก็ไม่เสียภาษีเลย ถ้าเกินนั้นนิดหน่อยก็เสีย 5% 10% ไปจนถึง 35% ตามลำดับ แต่รายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผล กฎหมายอนุญาตให้ไม่ต้องมารวมและนำไปเสียภาษีเพียง 10%

ประเด็นคือคนที่มีรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลจำนวนมากคือคนรวยจริงๆ อาจจะเคยเห็นข่าวว่าเศรษฐีหุ้นได้เงินปันผลปีละ 1,000 – 2,000 ล้านบาท สมมุติเขาได้ 1,000 ล้านบาทแล้วเขาเสียภาษี 10% เท่ากับ 100 ล้านบาท

แต่ลองคิดดูว่าถ้ากฎหมายไม่อนุญาตให้แยก เศรษฐีหุ้นเหล่านั้นต้องนำรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลไปรวมเป็นรายได้บุคคลธรรมดาด้วยที่อัตราสูงสุดคือ 35% ซึ่งเศรษฐีระดับนั้นเขาเสียภาษีที่ 35% อยู่แล้ว

ดังนั้นการที่เขาไม่นำรายได้จากดอกเบี้ยและปันผลไปรวมหมายความว่าเศรษฐีประหยัดภาษีไป 25% ซึ่งถ้าคำนวณจากรายได้จากเงินปันผล 1,000 ล้าน นั่นเท่ากับ 250 ล้านบาท

ถามว่าเขาจ่ายไหวไหม ไหวอยู่แล้วเพราะเขามีเงินปันผลตั้ง 1,000 ล้านบาท แล้วก็อยู่ในกลุ่มที่ควรเสีย 35% แต่พอแยกเงินปันผลออกจากรายได้บุคคลธรรมดา เขาก็เลยไม่ต้องเสียและเสียแค่ 10% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือรายได้จากรัฐบาลหายไป 250 ล้านบาทจากคนคนนี้คนเดียวเป็นต้น

เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้รายได้จากภาษีจากเงินได้บุคคลธรรมดาเข้ามาที่รัฐบาลน้อยไปและน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

(3) การกระจายฐานภาษี โดยการขยายฐานภาษีจะรวมถึงประเด็น VATเมื่อสักครู่ด้วยคือการลดอัตราการลดหย่อนให้น้อยลงเป็นเรื่องการขยายฐานรายได้เหมือนกัน

แต่มีมติติการขยายฐานภาษีอีกหนึ่งด้านคือนำคนที่อยู่นอกระบบฐานภาษีโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลเข้ามาในระบบซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกระบบของไทยสูงมากเกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพีรวมทั้งแรงงานอีกเกินครึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ

ในประเทศไทยมีคนที่มีความสามารถในการเสียภาษีและมีรายได้จำนวนมากแต่อยู่นอกระบบคือไม่มีนายจ้างไม่ได้ทำงานอยู่กับบริษัทหรือห้างร้านต่างๆ พอไม่มีตรงนี้ก็ไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนั้นสรรพากรก็ไม่มีข้อมูล

ภาษีก็อยากลดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดนักลงทุนแต่สถานะทางการคลังก็ต้องรักษาไว้ ในฐานะนักวิชาการแนะนำยังไง

ถ้าจัดลำดับดีๆ เราเลือกภาษีที่จะขึ้นได้ถ้ารัฐบาลห่วงมิติที่ว่าไปเก็บภาษีจำนวนมากแล้วเขาไม่อยากลงทุน ดีไม่ดีหนีไปต่างประเทศด้วยซ้ำถ้าเป็นนายทุนใหญ่ๆ เพราะเขาสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนได้ไม่ยาก  

วิธีหนึ่งที่ช่วยได้คือไปเพิ่มภาษีจากการใช้จ่ายเช่น VAT หรือภาษีสรรพสามิตเพราะข้อดีของการเก็บภาษีจากการใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการเก็บจากรายได้คือถ้าคนคิดว่าฉันหารายได้ได้เยอะก็เสียภาษีเยอะ ดังนั้นก็พอมีพอกินแล้วกันหรือว่ารวยแต่ไม่ต้องรวยมากเรื่องของความรู้สึกอย่างลงทุนให้รวยมากๆ ก็หายไป

แต่ถ้าหันมาเก็บภาษีด้านการบริโภคก็จะลดปัญหาตรงนี้ได้ เมื่อได้เงินมาแล้วเขาจะเสียภาษีก็ต่อเมื่อเขาบริโภคซึ่งได้ประโยชน์จากการบริโภคนั้นด้วยไม่ว่าจะเป็นได้ความสุข ความบันเทิง แล้วค่อยเจียดเงินเสียภาษี ตรงนี้ในทางวิชาการพบว่าไม่ได้มีผลให้กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแง่ที่ทำให้หดตัวลงและไม่กระทบแรงจูงใจ

อันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนว่ารัฐบาลควรขึ้น VAT โดยช่วงแรกอาจจะ 10% แต่ในระยะยาวในอีก 10-20 ปีข้างหน้าควรตั้งเป้าสัก 20%

แล้ว Negative Income Tax จะเข้ามาช่วยปรับโครงสร้างภาษีไทยในมิติไหนได้บ้าง

Negative Income Tax หรือ NIT จะเข้ามาทำอีกหน้าที่หนึ่งแต่หน้าที่ในการหารายได้ไม่ใช่จุดเด่นของกลไกภาษีแบบนี้ เพราะรัฐบาลจะเสียรายได้ไปด้วยซ้ำเพราะคอนเซปต์คือถ้ารายได้ประชาชนถึงจุดหนึ่งคุณเสียภาษีเหมือนระบบปัจจุบัน แต่ถ้ารายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนด ไม่ใช่แค่ไม่เสีย แต่ประชาชนจะได้เงินจากรัฐบาลตามอัตราที่กำหนดด้วยเพราะฉะนั้นในแง่นี้ก็ไม่ใช่การเพิ่มรายได้

แต่เหตุผลของกลไกภาษีแบบนี้เป็นเรื่องของการช่วยเหลือคนจนมากกว่า เป็นเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นการสร้างฐานข้อมูลเพราะให้รัฐบาลรู้ว่ามีสัดส่วนคนจน คนรวยและรายได้ปานกลางอยู่เท่าไร

สมมุติเทียบง่ายๆ ระหว่างสวัสดิการแห่งรัฐ คนรายงานว่าตัวเองมีรายได้เท่าไร ถึงแสนไหม ถ้าไม่ถึงก็ได้บัตรไป ประเด็นคือระบบดังกล่าวเป็นการรายงานตัวเลขของตัวเองไม่มีใครรู้ว่าจริงหรือไม่จริง

แต่ NIT จะมีสรรพากรคอยตรวจสอบ อาจจะไม่ต้องตรวจสอบทุกคน ที่สำคัญหน่วยราชการโดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ถ้าต้องจ่ายเงินออก เขาจะตรวจสอบเยอะมาก เพราะมีเรื่องกฎระเบียบว่าถ้าจ่ายเงินรัฐออกไปแล้วไม่ระมัดระวังมีสิทธิ์ติดคุกเพราะเจอประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ดังนั้นพอเป็น NIT สรรพากรจะตรวจเข้มมากเพราะฉะนั้นโอกาสที่จะมาหลอกเมื่อเทียบกับสวัสดิการแห่งรัฐย่อมยากกว่ามาก

เพราะฉะนั้นฐานข้อมูลที่ได้มาก็จะมีความแม่นยำมากกว่าเมื่อเทียบกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งเป็นที่รู้กันว่าฐานข้อมูลไม่ค่อยแม่นเพราะมีทั้งคนที่ไม่ได้จนจริงแต่ได้บัตรกับคนที่จนจริงแต่ไม่ได้บัตร

เหนือสิ่งอื่นใดผมคิดว่าเป้าหมายหลักก็ยังเป็นเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ อีกเรื่องหนึ่งที่ผนวกกันคือถ้าทำ NIT ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็อาจจะทำให้สวัสดิการอื่นๆ ลดลงไปได้ เช่น มีข้อเรียกร้องตอนเลือกตั้งให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3,000 บาท โดยอ้างว่าเพราะเป็นเส้นความยากจน ถ้าให้ 600 บาท มันไม่พอเพราะต่ำกว่าเส้นความยากจน

แต่ถ้าเป็น NIT ผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านั้นจะได้เงินเนื่องจากเข้าเกณฑ์ที่กำหนดพอเป็น NIT เขาก็จะได้เงิน คงไม่ถึง 3,000 บาท แต่อย่างน้อยถ้ามีระบบนี้ก็อาจจะไปลดสวัสดิการคนแก่ไม่ต้องให้ถึง 3,000 บาทได้ อาจจะเหลือ 1,000 – 1,500 บาท พูดง่ายๆ คือระบบนี้ทำหน้าที่ร่วมกับระบบสวัสดิการของรัฐบาลได้ด้วยแล้วแบ่งงานกันทำ ที่สำคัญรูปแบบสวัสดิการอื่นๆ (ที่แจกแบบหว่านแห) อาจจะลดความจำเป็น

แล้วเรื่องการเพิ่มรายได้ของรัฐที่ก็นำรายได้จากที่คุยกันข้างต้น เช่นการเพิ่ม VAT หรือรายได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลไปซัพพอร์ตกลไก NIT

ถ้ากลไกภาษีแบบ NIT ดีและมีประสิทธิภาพมากทำไมไม่เกิดขึ้นสักที

เรื่องนี้พูดมาเกิน 10 ปีเข้าใจว่าข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมมาจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แล้วทำเป็นรูปธรรมเสนอมาหลายรัฐบาลแล้ว

แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมถึงไม่ทำ อาจจะห่วงเรื่องความยุ่งยากในทางปฏิบัติหรือห่วงเรื่องไปแก้ประมวลรัษฎากร ผมได้ยินมาว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวค่อนข้างยาก แต่ถ้ามีความตั้งใจจริงก็แก้ได้อยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นคุณทักษิณเข้ามาผลักดันผมว่าแก้ได้

ทำไมไม่แก้กฎหมายบังคับให้ประชาชนทุกคนยื่นภาษีตั้งนานแล้วทั้งที่มีประโยชน์มาก

รัฐบาลอาจคิดว่ามันเป็นภาระของคนยื่นภาษี ลองนึกภาพว่าคุณตาอายุ 60 ปี ไม่เคยเรียนหนังสือเลย อ่านเขียนหนังสือไม่ได้ อยู่ๆ โดนบังคับว่าจะต้องยื่นภาษี แค่ไปยื่นที่ไหนยังไม่รู้เลยดังนั้นในอดีต จะมีความยุ่งยากในทางปฏิบัติพอสมควร

แต่สำหรับยุคปัจจุบันทุกอย่างง่ายขึ้นยิ่งผ่านโควิด-19 ทุกคนคุ้นเคยกับการใช้มือถือ อาจจะมีคนที่ไม่คุ้นเคยเช่นผู้เฒ่าผู้แก่แต่ก็อาจจะน้อยลง ในแง่นี้อาจจะเริ่มบังคับให้ยื่นได้ แล้วรัฐบาลอาจจะมีกลไกช่วยคนจำนวนน้อยที่ยังทำไม่ได้ เช่นใช้กลไกหมู่บ้านหรือผู้ใหญ่บ้านเป็นต้น ยิ่งสำหรับคนที่ไม่มีรายได้กรอกหน้าเดียวหรือครึ่งหน้าก็จบแล้ว

รายได้จากภาษีลดน้อยลงแต่รัฐบาลไหนเข้ามาก็มีแต่นโยบายลดภาษี แล้วแบบนี้ประเทศไทยจะเดิมต่อไปยังไง

รัฐบาลมักจะอยู่ไม่ยาวมากที่สุดเพียง4 ปี เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นนโยบายที่จะต้องสร้างความนิยม การขึ้นภาษีเสียความนิยมแน่นอน มีหลายรัฐบาลทั่วโลกที่ขึ้นภาษีเช่น VAT แล้วสุดท้ายรัฐบาลเจ๊ง แต่เป็นการเจ๊งที่นักวิชาการจำนวนไม่น้อยเชียร์เพราะรู้ว่าเรื่องพวกนี้มันต้องมองยาว ถ้าไปเป็นวงจรทางด้านการเมืองอย่างเดียว แล้วทำนโยบายแบบขาดดุลเยอะๆ นักวิชาการก็จะกังวลเรื่องประเภทนี้ดังนั้นเลยเชียร์ให้มีการปฏิรูปภาษีหรือลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นต่างๆ ลง

ประเด็นคือแล้วรัฐบาลฟังไหม การฟังไม่ฟังก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลสามารถหาทางลงหรือหาเหตุได้ไหมว่าการขึ้นภาษีนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็น

มีตัวอย่างของรัฐบาลญี่ปุ่นสมัยชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นผู้ล่วงลับ เขาก็ขึ้นภาษี VAT แต่เขาประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาลเลยว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นจะนำไปใช้จ่ายในสองสามเรื่องซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนระดับล่างที่มีฐานคะแนนนิยมกว้างกว่า

ตอนนั้นอาเบะสัญญาว่ารายได้จากภาษีที่ต้องเก็บเพิ่มขึ้นสมมุติ 100 บาท ในนี้อาจจะเป็นเงินของคนรวยสัก 80 บาท ของคนจนสัก 20 แต่อาเบะบอกว่าทั้ง 100 บาทจะนำไปใช้กับคนจนเท่านั้น

ทั้งหมดก็ทำให้เขาขึ้นภาษีได้โดยไม่เสียความนิยมทางการเมือง ผมว่าประเทศไทยควรจะทำอย่างนั้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องรักษาสัญญาด้วยหมายความว่าเงินที่ได้เพิ่มขึ้นต้องนำไปใช้กับคนจนจริงๆ ไม่ใช่หลุดรอดไปสู่โครงการที่นายทุนได้ประโยชน์

ส่วนบทบาทนักวิชาการคือเสนอแนะว่าทุกคนต้องพยายามมองยาวซึ่งเราก็ทำมาตลอด หรือหาข้อเสนอแนะที่อาจจะเป็นเรื่องของการทำเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถเพิ่มรายได้ๆ เช่นการกวาดคนนอกระบบเข้ามาในฐานภาษีซึ่งไม่เสียคะแนนนิยม

ในขณะเดียวกันนักวิชาการก็ให้ความรู้ประชาชนว่าคุณจะไปหย่อนบัตรเลือกตั้งทุก 4 ปี คุณอย่าคิดแค่ 4 ปีนะ คุณช่วยคิด 10 ปี 20 ปีได้ไหม คุณช่วยคิดถึงลูกหลานตัวเองด้วย เพราะถ้ารัฐบาลขาดดุลเยอะๆ เป็นหนี้สาธารณะมากๆ สุดท้ายถึงวันหนึ่งรัฐบาลก็ต้องลดการใช้จ่ายลงเพราะจ่ายหนี้ไม่ไหวแล้ว

สมมุติรัฐบาลลดการใช้จ่ายในอีก 20 ปีข้างหน้า คนที่รับกรรมคือลูกของเราเพราะฉะนั้นบทบาทของทั้งสื่อและนักวิชาการก็ต้องบอกว่าคุณต้องคิดไกล คิดถึงลูกหลาน นโยบายที่แจกเงินให้คุณในวันนี้แล้วรู้สึกว่าดี ต้องคิดว่ามันมีมิติว่าไม่มีเงินสักบาทเดียวที่เป็นของฟรี ยังไงก็ต้องมีการจ่ายคืนแล้วถ้าคนจ่ายคืนคือลูกหลานเรา คุณทำใจได้ไหม

ส่วนภาคเอกชนเองก็อยากให้คิดยาวเช่นกันเพราะต่อให้มองแค่ประโยชน์ของธุรกิจ คุณก็ต้องมองยาวเหมือนกัน คือถ้ารัฐบาลมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ สมมุติว่ามีสถานการณ์ขาดดุลและหนี้สาธารณะจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนคือ Credit Rating (อันดับเครดิต) ของรัฐบาลจะแย่ลง ต่อมาดอกเบี้ยในประเทศก็จะสูงขึ้นซึ่งกระทบดอกเบี้ยที่เอกชนจะต้องจ่ายด้วย

เอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไปกู้แบงก์แล้วมีหนี้เยอะ เจอดอกเบี้ยขึ้นไป 1% เรื่องใหญ่มาก ดังนั้นต้องมองตรงนี้ให้ออกว่า ถ้ารัฐบาลใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายและทำให้เครดิตเรทติ้งเสียไป ตัวเองก็เสียประโยชน์ด้วย

หรือในมิติที่เราพูดว่าต้องปฏิรูปภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เอกชนก็ต้องเชียร์เรื่องประเภทนี้ด้วยเพราะการลดความเหลื่อมล้ำทำให้การเมืองมั่นคงและสังคมมีเสถียรภาพมากขึ้น โอกาสที่จะแบ่งเป็นเสื้อสีเหลืองสีแดงหรือกลุ่มต่างๆ จะน้อยลง

แล้วการที่สังคมเหลื่อมล้ำเยอะและมีความไม่แน่นอนทางการเมือง มีการชุมนุม ก็สร้างความเสียหายให้เอกชน จำได้ไหมช่วงการชุมนุมบริเวณราชประสงค์ที่ปิดถนน ห้างดังๆ ทั้งหมดทำอะไรไม่ได้เลย เสียหายมาก เพราะฉะนั้นการที่สนับสนุนให้มีการปฏิรูปภาษี ลดความเหลื่อมล้ำ สุดท้ายแล้วจะทำให้เอกชนได้ประโยชน์ การเมืองนิ่งขึ้น คุณก็สามารถทำธุรกิจต่อไปได้

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...