เกาหลีใต้ ‘เจน Y เจน Z’ ไม่สนมีลูก เน้นแนวคิด YOLO ใช้เงินซื้อความสุขให้ตัวเอง

เกาหลีใต้” เขตเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 4 ในเอเชีย มีแผนเตรียมจัดตั้งกระทรวงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายด้านประชากรโดยเฉพาะ หลังจากนโยบายให้เงินอุดหนุนเพื่อบรรเทาวิกฤติเด็กเกิดใหม่น้อยยังล้มเหลว และเกาหลีใต้ยังคงเป็นประเทศที่ทำลายสถิติอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง

แต่ขณะที่กำลังหาทางแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดอย่างแข็งขัน รัฐบาลก็ได้พบว่าเป็นเรื่องยากที่จะโน้มน้าวคนหนุ่มสาววัย 20 ปีและวัย 30 ปี ให้เห็นว่าการเป็นพ่อแม่คนนั้น เป็นการลงทุนที่ดีกว่าการใส่เสื้อผ้าเก๋ๆ หรือรับประทานอาหารในร้านหรูหรา

พัค ยอนวัย 28 ปี อินฟลูเอนเซอร์อินสตาแกรมด้านแฟชั่นที่ฝันอยากเป็นนักร้องชื่อดัง เลือกใช้จ่ายเงินส่วนใหญ่ไปกับการตอบสนองความต้องการของตนเองทั้งเสื้อผ้าและการท่องเที่ยว ทำให้เธอเหลืองบสำหรับแต่งงานและมีลูกน้อย

“ฉันรู้สึกอินกับโยโล (YOLO) มากกว่า” ปาร์คกล่าว ซึ่งคำว่า YOLO ย่อมาจาก You Only Live Once หมายถึง “การใช้ชีวิตให้คุ้มค่าที่สุด เพราะชีวิตเกิดมาเพียงครั้งเดียว”

"หลังจากซื้อของให้รางวัลตัวเอง ฉันก็แทบไม่เหลือเงินให้เก็บออมแล้วในแต่ละเดือน การแต่งงานอาจมีขึ้นในช่วงหนึ่งของชีวิตนั่นแหละ แต่การมีความสุขในตอนนี้ มันสำคัญกว่าไม่ใช่เหรอ”

ใช้เงินเยอะ ออมน้อย

นักสังคมวิทยาหลายคนบอกว่าชาวเกาหลีใต้ช่วงวัย 20 และวัย 30 หรือกลุ่มคนเจน Z และเจน Y ให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์ จึงทำให้คนกลุ่มนี้ใช้จ่ายเงินมากขึ้น และออมเงินน้อยลงกว่าประชากรวัยอื่นๆ หรือคนกลุ่มเดียวกันในประเทศอื่นๆ ซึ่งพฤติกรรมการใช้จ่ายและการออมเหล่านี้ไม่ได้เอื้อต่อการสร้างครอบครัวเลย

จอง แจฮุน ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยสตรีโซล บอกว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายแสดงให้เห็นว่าคนหนุ่มสาวให้ความสำคัญกับการประสบความสำเร็จในโลกออนไลน์ มากกว่าโฟกัสไปที่เป้าหมายการสร้างครอบครัวและการมีลูก แม้แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากของเกาหลีใต้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถยับยั้งการใช้จ่ายของคนหนุ่มสาวได้

ข้อมูลจากธนาคารกลางเกาหลีใต้ระบุว่า อัตราการออมของกลุ่มคนวัย 30 ปี ลดลงสู่ระดับ 28.5% ในไตรมาสแรกของปีนี้ จากระดับ 29.4% เมื่อ 5 ปีก่อน ในทางตรงข้ามอัตราการออมเงินของคนกลุ่มอื่นเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน

ในทางกลับกัน กลุ่มคนวัย 20 ปี และวัย 30 ปี กลับเป็นกลุ่มคนที่ใช้จ่ายมากที่สุดตามร้านค้าและโรงแรมระดับท็อปเทียร์ และค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางพุ่งสูงขึ้น 40.1% จาก 33.3% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลจากฮุนไดการ์ดแสดงให้เห็นว่า สัดส่วนการใช้จ่ายในร้านค้าระดับไฮเอนด์ของคนวัย 20 เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า สู่ระดับ 12% ในช่วง 3 ปีจนถึงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สวนทางกับคนกลุ่มอื่นที่มีการใช้จ่ายดังกล่าวลดลง

ตามข้อมูลของยูโรมอนิเตอร์ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดระบุว่า ภายในปี 2566 เพียงปีเดียว ร้านอาหารบุฟเฟต์มีรายได้พุ่งถึง 30.3% ขณะที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดมีรายได้เพิ่ม 10.5% และอุตสาหกรรมร้านอาหารทั้งหมดมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น 9% ตัวอย่างเช่น ยอดขายของโรงแรมโซล ดรากอน ซิตี ที่มีชื่อเสียงในอินสตาแกรมว่ามีของหวานสตรอว์เบอร์รีให้รับประทานได้ในทุกฤดู เติบโตพุ่ง 150% จากฤดูหนาวปีก่อน แม้โรงแรมปรับขึ้นราคา 12.5%

ขณะที่ผลวิจัยของมอร์แกน สแตนลีย์เมื่อปี 2567 ระบุว่า การรับประทานอาหารหรูหราของชาวเกาหลีใต้ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ใช้จ่ายสินค้าลักชูรีต่อหัวมากที่สุดในโลก และเกาหลีใต้เป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของบรรดาแบรนด์ลักชูรีรายใหญ่ เห็นได้จากทั้งชาแนล (Chanel), เซลีน (Celine) และดิออร์ (Dior) ที่เลือกเซ็นสัญญากับสมาชิกกลุ่มศิลปินเคป็อปขวัญใจวัยรุ่นอย่าง แบล็กพิงก์ (Blackpink) และนิวจีนส์ (NewJeans) ให้เป็นแอมบาสเดอร์ของแบรนด์

ในทางตรงกันข้าม ธนาคารคอมมอนเวลธ์แบงก์ ออฟ ออสเตรเลียเผยว่า ชาวออสเตรเลียอายุระหว่าง 25-29 ปี ใช้จ่ายลดลง 3.5% ในไตรมาสแรกของปี 2567 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพราะได้รับแรงกดดันจากค่าครองชีพ

 

เลือกความสุขตัวเองเป็นที่หนึ่ง

ผลสำรวจจากธุรกิจวิจัยพีเอ็มไอ โค (PMI Co.) เมื่อเดือน พ.ค. พบว่า ความยากลำบากทางการเงินเป็นปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ชาวเกาหลีใต้ไม่อยากมีลูก โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 46% จาก 1,800 คน โทษว่าความไม่มั่นคงในหน้าที่การงานหรือต้นทุนการศึกษาที่แพง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ตัดสินใจไม่มีลูก 

อีกปัจจัยที่ซ้ำเติมคนกลุ่มนี้คือ รายได้ต่อปีที่เพิ่มขึ้นน้อยมาก สำนักงานสถิติเกาหลีเผยว่ารายได้ต่อปีของคนวัย 20 และวัย 30 เพิ่มขึ้นเพียง 2.0% ชะลอตัวกว่ารายได้ครัวเรือนทั้งหมดที่เพิ่มขึ้น 4.5%

ด้านจอง เสริมว่า คนกลุ่มนี้ไม่ตอบสนองต่อนโยบายกระตุ้นอัตราการเกิดด้วยการให้เงินอุดหนุนของรัฐบาล “เพราะคนหนุ่มสาวให้ความสำคัญกับความสุขที่สร้างขึ้นได้ในทันทีมากกว่า”

สำหรับพัคแล้ว การมีลูกเป็นเรื่องรองที่เธอจะพิจารณา หากเธอประสบความสำเร็จในอาชีพนักร้อง

“ถ้าสิ่งที่ฉันทำมันไปได้ดี เงินออม การแต่งงาน และสิ่งอื่นๆ จะตามมา แต่ตอนนี้การสนุกไปกับชีวิตและการทำงานตามความฝันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับฉัน”

ผลสำรวจ 17 ประเทศของศูนย์วิจัยพิวสหรัฐในปี 2564 ที่ได้ถามถึงสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมายพบว่า มีเพียงประเทศเกาหลีใต้เท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับวัตถุเป็นอันดับต้นๆ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่เลือกให้ความสำคัญกับครอบครัวหรือสุขภาพมากที่สุด

 

แรงกดดัน“การเรียน-ค่าใช้จ่ายสูง” ทำคนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก

ธนาคารกลางเกาหลีใต้เรียกร้องเมื่อวันที่ 26 ส.ค. ขอให้ยุติการสอบเอนทรานซ์ที่มีการแข่งขันสูงมาก เพื่อลดแรงกดดันให้นักเรียน จากการแข่งขันการศึกษาที่สูงและค่าใช้จ่ายเรียนพิเศษที่แพงจนทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก

รายงานของแบงก์ชาติระบุว่าในแต่ละปี นักเรียนมัธยมปลายในเกาหลีใต้จะต้องสอบเอนทรานซ์ เพื่อให้ได้เข้าศึกษาต่อในรั้วมหาวิทยาลัยระดับท็อปของประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล และมหาวิทยาลัยยอนเซ ซึ่งแรงกดดันสูงจากการจัดสอบนี้ ทำให้หลายครอบครัวในกรุงโซล ทุ่มเงินไปกับการศึกษาและที่อยู่อาศัยมากขึ้น จนส่งผลให้คนเกาหลีใต้รุ่นใหม่ไม่อยากแต่งงานและมีลูก

รายงานเผยกรุงโซลมีนักเรียนม.ปลายจบใหม่อยู่ 16% ของนักเรียนม.ปลายจบใหม่ทั่วประเทศ และมีนักเรียนที่เข้าสอบเอนทรานซ์ยื่นสมัครมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลมากถึง 32%

ในปี 2566 ประชากรในกรุงโซลใช้จ่ายไปกับค่าเรียนกวดวิชาของเด็กม.ปลายเฉลี่ย 1.04 ล้านวอนต่อเดือน (ประมาณ 26,000 บาท) ขณะที่ครอบครัวในเมืองอื่นๆ ใช้จ่ายค่าเรียนพิเศษราว 700,000 วอนต่อเดือน (ประมาณ 18,000 บาท) ส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ 8 ล้านวอนต่อเดือน (ราว 200,000 บาทต่อเดือน) หรือมากกว่านั้น จะใช้จ่ายไปกับค่าเรียนพิเศษมากกว่าครัวเรือนรายได้ 2 ล้านวอนต่อเดือน (ราว 50,000 บาท) เป็น 2 เท่า 

แบงก์ชาติเกาหลีใต้เตือนว่า สถานะทางการเงินของพ่อแม่มีอิทธิพลต่อโอกาสในการเข้าศึกษามหาวิทยาลัยระดับท็อป และพ่อแม่ที่ร่ำรวยจะพาครอบครัวไปอยู่ในพื้นที่ที่มีแหล่งสถานศึกษาดีๆ ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เหล่านั้นแพงขึ้น 

รี ชางยุน ผู้ว่าแบงก์ชาติบอกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างในระยะยาว เพราะปัญหานี้มีบทบาทต่อการติดสินใจเชิงนโยบาย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3.5% แม้ว่าบรรดาลูกหนี้สินเชื่อบ้านต่างคาดหวังให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยก็ตาม และแบงก์ชาติมีความระมัดระวังไม่ให้ราคาอสังหาฯ พุ่งสูง เพราะอสังหาฯ ในเมืองหลวงมีอุปสงค์เกินอุปทาน โดยเฉพาะย่านกังนัมที่เป็นย่านคนรวยในโซล 

แบงก์ชาติยังได้เสนอให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ปรับโควตาระดับภูมิภาคให้กับนักเรียนใหม่ เพราะมองว่าอาจช่วยให้ประชากรกระจายไปพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศมากขึ้น หากการอยู่อาศัยในโซลมีข้อได้เปรียบทางการศึกษาน้อยลง

ธนาคารกลางเผยด้วยว่า ระบบการศึกษาปัจจุบันประสบความล้มเหลวในการวัดศักยภาพ ระหว่างนักเรียนที่มีกำลังทรัพย์น้อยกับนักเรียนที่ร่ำรวย นำไปสู่การเลือกมหาวิทยาลัยที่หลากหลายน้อยลง และเตือนว่าการแข่งขันทางการศึกษาที่มากเกินไป กระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนด้วย

 

อ้างอิง: Reuters, Nikkei Asia

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...