'ติ่นไท่ฟง' ปิดร้าน 14 สาขาทั่วจีน สงครามราคาดุ-คนจีนเซฟเงินกินของ 'ถูกลง'

เว็บไซต์วีโอเอนิวส์รายงานว่า เชนร้านอาหารจีนชื่อดังจากไต้หวัน 'ติ่นไท่ฟง' (Din Tai Fung) ประกาศปิดสาขาถึง 14 แห่งในประเทศจีน จากทั้งหมดราว 30 สาขา เนื่องจากการแข่งขันที่ดุเดือดของธุรกิจร้านอาหารในจีน และการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิขซบเซา ที่ประหยัดและมองหาร้านอาหารราคาถูกมากขึ้น 

บริษัทปักกิ่ง เหิงไท่ เฟิง แคเทอริ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของติ่นไท่ฟงระบุในแถลงการณ์ทางแพลตฟอร์มวีแชทว่า บริษัทจะปิดสาขาร้านทั้งหมด 14 แห่งในภาคเหนือ ซึ่งรวมถึงในปักกิ่ง เทียนจิน ชิงต่าว และเซียะเหมิน ขณะที่วีโอเอระบุว่าการปิดสาขาครั้งนี้อาจทำให้มีพนักงานต้องตกงานถึงราว 800 คน แต่ทางร้านได้จ่ายชดเชยตามกฎหมายแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทระบุว่าสาขาร้านอีก 18 แห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกของจีน ยังคงเปิดดำเนินการตามปกติต่อไป

ทั้งนี้ แม้ว่าชาวจีนจะออกมาจับจ่ายใช้สอยกินอาหารนอกบ้านเป็นปกติแล้ว นับตั้งแต่เริ่มผ่อนปรนมาตราการคุมโควิดช่วงปลายปี 2565 แต่ผู้บริโภคชาวจีนก็ใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้น เนื่องจากประเทศกำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายด้าน ตั้งแต่วิกฤตการณ์อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงอัตราการว่างงานสูง และตลาดหุ้นที่ตกต่ำ

"สถานการณ์ปัจจุบันในจีนก็คือ แม้คนซื้อจะกลับมา แต่กำลังการบริโภคกลับอ่อนแอ รวมถึงในอุตสาหกรรมร้านอาหารด้วย" ดาร์สัน ฉูว์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำไต้หวันและผู้อำนวยการทั่วไปของสมาพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมเอเชียแปซิฟิกกล่าว

"แบรนด์ระดับไฮเอนด์อย่างติ่นไท่ฟง อาจจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ เนื่องจากพวกเขาลดระดับราคาในการบริโภคลงให้รับกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบัน"

ทางด้านจื้ออู่ เฉิน ศาสตราจารย์ด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงระบุว่า ร้านอาหารบางแห่งในหนานเจียง มณฑลเสฉวน หันมาใช้กลยุทธ์ "ลดราคา" กันอย่างหนักเพื่อดึงดูดลูกค้า บางร้านลดถึงเกือบ 50% โดยหั่นราคาสำหรับเมนูเซ็ตโต๊ะ 10 คน อยู่ที่ 400 หยวน หรือตกหัวละ 40 หยวน จากราคาเดิมที่ 700 หยวน  

นอกจากปัจจัยภายในจีนเองแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่ติ่นไท่ฟงเผชิญก็คือ "ลูกค้าชาวต่างชาติ" ที่หดหายลง ทั้งคนที่ทำงานในบริษัทต่างชาติและนักท่องเที่ยวต่างชาติในจีน โดยกัลวิน หยาง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทระบุว่า ติ่นไท่ฟงในจีนมีลูกค้าต่างชาติมากถึงราว 20-30% แต่ลูกค้ากลุ่มนี้ยังไม่ฟื้นกลับมานับตั้งแต่ช่วงโควิด

ร้านอาหารแบรนด์อื่นๆ ก็มีการปรับตัวรับกับกำลังซื้อในจีนที่ลดลงเช่นกัน เช่น "ไหตี่เลา" (Haidilao) เชนร้านฮอตพอตชื่อดังที่มีสาขาในหลายประเทศรวมถึงไทย ได้แตกแบรนด์ลูกที่ราคาย่อมเยาว์กว่าออกมาในชื่อว่า "ไหเลา" (Hailao) และมีบริการหลายอย่างเอาใจลูกค้าที่นั่งรอคิว เช่น บริการสระผมฟรีให้ด้วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลของแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ชื่อดังในจีนอย่าง เตี่ยนผิง (DianPing) พบว่า ลูกค้าของร้านติ่นไท่ฟงในจีนจะกินอาหารโดยเฉลี่ยต่อหัวคนละประมาณ 21 ดอลลาร์ (กว่า 700 บาท) แต่ปัจจุบันในยุคที่เศรษฐกิจซบเซา ร้านอาหารจำนวนมากในปักกิ่งพากันแข่งที่เมนูราคาถูก โดยร้านฟาสต์ฟู้ดหลายแห่งเสนอเมนูอิ่มคุ้มในราคาแค่ดอลลาร์กว่าๆ เท่านั้น 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...