ค่าแรงถูก-บริหารง่าย-กำไรเร็ว ‘เชนร้านอาหารจีน’ แห่บุกอาเซียน

คนไทยอาจได้เห็นเชนร้านอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) จากจีนเข้ามารุกตลาดไทยมากขึ้น ทว่าธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้มุ่งเป้ามาที่ประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งขยายธุรกิจสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเป็นภูมิภาคที่มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการขยายธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งมีตั้งแต่ธุรกิจอาหารประเภทหม้อร้อน ข้าวไก่ตุ๋น ไปจนถึงเครื่องดื่มยอดฮิตแห่งยุคอย่างชานมไข่มุก

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า บรรดาบริษัท F&B ของจีนขยายธุรกิจเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็ว รวมถึงอเมริกาเหนือและยุโรปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนมาจากตลาดจีนที่อิ่มตัว

ตามข้อมูลของหวาฟูซีเคียวริตีส์ เผยว่า ในปี 2566 มีธุรกิจ F&B จดทะเบียนใหม่ในจีนเกือบ 3.19 ล้านแห่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 24.2%

หลิน ตัน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เพย์อินวัน ธุรกิจให้บริการด้านการจ้างงานและทำบัญชีเงินเดือนให้กับธุรกิจจีนในต่างประเทศ บอกว่า สามปีที่ผ่านมายอดจ้างงานและรายจ่ายด้านบุคลากรของบริษัทจีนในต่างประเทศ เติบโตมากกว่า 200% ในแต่ละปี และบริษัท F&B ของจีนเปิดรับสมัครงานในต่างประเทศเป็นจำนวนมากในปีนี้

ไหตี่เลา (Haidilao) เชนธุรกิจอาหารประเภทหม้อร้อนจากมณฑลเสฉวน เริ่มขยายธุรกิจไปต่างประเทศเมื่อ 12 ปีก่อนเปิดสาขาแรกในย่านคลากคีย์ประเทศสิงคโปร์ หลังจากนั้นขยายสาขาเพิ่มอีก 11 แห่ง และเมื่อเดือน มี.ค. ปีนี้ ไหตี่เลามีสาขาในต่างประเทศแล้ว 119 แห่งทั่วโลก ซึ่งสาขาราว 3 ใน 5 อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บริษัท F&B อื่น ๆ ก็ทยอยขยายธุรกิจตามมาติดๆ อาทิ ไท่เออร์ (Tai Er) ร้านอาหารจีนที่ขณะนี้มีสาขาหลายแห่งในสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และสหรัฐ ขณะที่ร้านจางเลี่ยง หม่าล่าทั่ง (Zhangliang Malatang) เชนร้านอาหารหม่าล่าหม้อร้อน มีสาขาแล้ว 63 แห่ง ใน 15 ประเทศส่วนร้านข้าวไก่ตุ๋นหยาง (Yang's Braised Chicken Rice) มีสาขากว่า 100 แห่งในกว่า 10 ประเทศ

ด้านธุรกิจเครื่องดื่มอย่าง มี่เสวี่ย (Mixue) เชนร้านชานมไข่มุกรายใหญ่ที่สุดในจีน ขยายธุรกิจสู่ 11 ประเทศ มีสาขารวมมากกว่า 4,000 แห่ง ณ เดือน ก.ย. 2566 นับตั้งแต่เปิดสาขาต่างประเทศแห่งแรกที่เวียดนามเมื่อปี 2561

ขณะที่เชนร้านชาเฮย์ที (Heytea) ได้ขยายสาขาไปยังกรุงลอนดอน เมลเบิร์น นิวยอร์ก กรุงกัวลาลัมเปอร์ และแวนคูเวอร์แล้ว ส่วนชูอี ทีลิเชียส (Shuyi Tealicious) หันไปรุกตลาดมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และสเปนด้านเชนร้านชาอีกแบรนด์อย่างฉาไป่เต้า (Chabaidao) ก็ได้เปิดสาขาแรกในกรุงโซลเมื่อเดือน มิ.ย. ขณะที่ชาจี (Chagee) กลับมาเปิดสาขาในสิงคโปร์อีกครั้งเมื่อต้นเดือน ส.ค. หลังเปิดตัวครั้งแรกในมาเลเซียเมื่อปี 2562

แม้แต่เชนร้านกาแฟลัคกิ้น คอฟฟี่ (Luckin Coffee) ที่มีเรื่องอื้อฉาวตกแต่งบัญชี ก็เดินหน้าขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศเช่นกัน โดยธุรกิจเปิดสาขาต่างประเทศครั้งแรกในสิงคโปร์เมื่อเดือนมี.ค. ปี 2566 รวมในเดือน มิ.ย.มีสาขาในต่างประเทศแล้ว 38 แห่ง

อาเซียนค่าแรงถูก บริหารง่าย

การสร้างรากฐานให้มั่นคงในตลาดต่างประเทศ ธุรกิจ F&B ของจีนต้องนำกลยุทธ์มากมายใช้ เช่น การทำแฟรนไชส์ การเลือกตลาดเป้าหมาย และการจัดการห่วงโซ่อุปทานและการปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่น

หลินกล่าวว่าโดยรวมแล้วธุรกิจจีนเลือกใช้กลยุทธ์แฟรนไชส์ และส่วนใหญ่จะเลือกขยายไปภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน เพราะมีค่าแรงถูกกว่าและบริหารธุรกิจได้ง่าย ก่อนที่จะขยายไปยังยุโรป อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย ญีปุ่น และเกาหลีใต้

ในการทำแฟรนไชส์ ธุรกิจจะหาผู้ประกอบการชาวจีนในต่างประเทศมาบริหารร้านของตน โดยอาศัยความรู้ของชาวจีนในต่างประเทศในการเลือกทำเลที่ตั้งเพื่อเปิดธุรกิจ ซึ่งเฮย์ที มี่เสวี่ย ข้าวไก่ตุ๋นหยาง และจางเลี่ยงหม่าล่าทั่ง ล้วนเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ขยายไปต่างประเทศอย่างรวดเร็วด้วยการใช้กลยุทธ์ดังกล่าว

ยกตัวอย่างธุรกิจอาหารหม้อร้อนที่ในตอนแรกเน้นขยายธุรกิจในสหรัฐ แต่ช่วงหลังเริ่มขยายมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น เนื่องจากมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุน และมีรายได้จากลูกค้ามากกว่า เช่นอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก และคนหนุ่มสาวให้การยอมรับอาหารจีนและอาหารรสชาติเผ็ดได้มากกว่า ขณะที่รายจ่ายในร้านอาหารของลูกค้าอินโดนีเซียเฉลี่ยราว 70 หยวน (ประมาณ 330 บาท) และด้วยค่าแรงต่ำ ระยะเวลาคืนทุนของธุรกิจจึงอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี

นอกจากนี้ ธุรกิจ F&B ยังมองว่าสิงคโปร์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขยายธุรกิจสู่ตลาดตะวันตก เพราะเป็นพื้นที่ทดสอบความต้องการลูกค้า และการบริหารจัดการธุรกิจนอกจีนแผ่นดินใหญ่ได้ดี

ลัคกิ้น คอฟฟี่ เปิดสาขาที่บริหารเองในสิงคโปร์ได้มากถึง 38 แห่ง ภายใน 1 ปี ตั้งแต่รุกตลาดในปี 2566 ตัวแทนจากบริษัทเผยกับไฉซิน สื่อจีนว่า สิงคโปร์มีตลาดกาแฟที่เติบโตอย่างมากและมีเศรษฐกิจที่พัฒนา จึงถือเป็นตลาดสำคัญสำหรับการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ซึ่งแบรนด์ชาจีก็ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวเช่นกัน

ขณะที่ไท่เออร์ ก็ประสบความสำเร็จจากการเปิดสาขาในสิงคโปร์ในปี 2564 หนุนให้บริษัทขยายธุรกิจมายังไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียหนึ่งปีหลังจากนั้น และขยายไปยังสหรัฐในปี 2566

ต้องปรับตัวเข้ากับตลาดท้องถิ่น

แครอล เหลียว ประธานฝ่ายเกรตเตอร์ไชนา ของบอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป บอกว่า ร้านกาแฟและร้านชานมไข่มุกสามารถขยายธุรกิจไปต่างประเทศได้รวดเร็วกว่าเชนร้านอาหาร เพราะระดับมาตรฐานการทำธุรกิจต่ำกว่า และมีห่วงโซ่อุปทานน้อย นอกจากนี้ร้านเครื่องดื่มมีศักยภาพประสบความสำเร็จสูงกว่า ขณะที่ร้านอาหารจีนต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง

 “แม้แต่เคเอฟซียังต้องใช้เวลานานกว่าจะปรับตัวเข้ากับตลาดจีนได้” เหลียว กล่าว

เพื่อปรับธุรกิจให้เข้ากับรสนิยมและลูกค้าท้องถิ่น หลายบริษัทต้องปรับทั้งเมนู สไตล์การบริการ และรูปแบบการจัดการ เช่น จางเลี่ยงหม่าล่าทั่ง ต้องออกแบบป้ายแนะนำการรับประทานอาหารเป็นขั้นตอนให้กับลูกค้าสิงคโปร์ เพราะเป็นตลาดที่ลูกค้าไม่คุ้นชินกับคอนเซปต์ร้านอาหารที่ต้องเลือกวัตถุดิบด้วยตนเอง

 

ห่วงโซ่อุปทาน-การจัดการแรงงาน อุปสรรคของ F&B จีน

เพื่อรักษาคุณภาพและความดั้งเดิมของอาหาร และเพื่อลดความท้าทายทางโลจิสติกส์ ธุรกิจ F&B จีนจึงเน้นนำเข้าวัตถุดิบสำคัญมาจากบ้านเกิดโดยจะนำเข้าวัตถุดิบที่ขนส่งได้ง่าย เช่น เครื่องปรุงซุป และซอสต่าง ๆ ส่วนวัตถุดิบที่เน่าเสียง่ายจะจัดหาภายในท้องถิ่นแทน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเหล่านี้ยังคงเผชิญกับปัญหามากมายในการลงทุนต่างประเทศ และปัญหาห่วงโซ่อุปทานสามารถทำให้ธุรกิจ F&B เดือดร้อนได้

นักลงทุนที่ศึกษาตลาดชานมไข่มุกสหรัฐ เผยว่า การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานต่างประเทศยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งเป็นช่วงที่มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ยากต่อการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ

อย่างไรก็ดี นักลงทุนรายนี้เผยว่า

"ในอนาคตห่วงโซ่อุปทานของจีนจะตามแบรนด์ต่าง ๆ ไปต่างประเทศแน่นอน ตอนนี้มีบริษัทวัตถุดิบรายใหญ่บางแห่งเริ่มขยายธุรกิจไปต่างประเทศแล้ว”

นอกจากนี้ การจัดการแรงงานในต่างประเทศก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ท้าทายเช่นกัน

ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศของจางเลี่ยงหม่าล่าทั่งบอกว่า บริษัท F&B ส่วนใหญ่มีสาขาหลายแห่งในประเทศที่มีพื้นที่ภูมิศาสตร์กว้างขวางแต่ขอบเขตการบริหารจัดการมีจำกัด ทำให้การกำกับดูแล และการสื่อสารกับพนักงานให้มีประสิทธิภาพทำได้ยากลำบากมากขึ้น

ผู้จัดการเชนร้านอาหารจีนรายหนึ่งในต่างประเทศเผยกับไฉซินว่า ในตอนแรกบริษัทเชื่อว่าตนมีข้อได้เปรียบด้านมาตรฐาน การจัดการร้าน และบุคลากรมีคุณภาพ แต่เมื่อลงไปทำธุรกิจพบว่า ซัพพลายเชนอาหารจีนในต่างประเทศยังมีไม่มาก และกฎระเบียบเกี่ยวกับอาหารและความปลอดภัยบางประการแตกต่างจากจีนอย่างมาก

“การปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่นเป็นสิ่งที่บริษัท F&B จีนต้องทำเมื่อขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ธุรกิจอาจไปได้สวยจากข้อได้เปรียบที่มีในช่วงแรก ๆ แต่ถ้าไม่ปรับตัวเข้ากับท้องถิ่น ข้อได้เปรียบเหล่านี้อาจกลายเป็นข้อจำกัดต่อการขยายธุรกิจในต่างประเทศ”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...