“เจ้าภาพ” แก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน

เช่น เรื่องการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ การเข้าสู่สังคมที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและเด็กเกิดใหม่ลดลง หนี้ 3 เสาหลักสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้ของ SMEs และหนี้ของรัฐบาล ยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบ เป็นต้น

เรื่องเหล่านี้ ทุกคนทราบและตระหนักถึงปัญหาข้างต้นดี แต่คำถามที่ตอบไม่ได้ คือใครรับผิดชอบและทำอะไรไปแล้วบ้าง ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องรีบหา “เจ้าภาพ” และมอบหมายภารกิจที่ชัดเจนและตรงกับโจทย์ปัญหาของประเทศ เพื่อให้แก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ อย่าปล่อยให้ปัญหา “คาราคาซัง” จนบั่นทอนและฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ

ผมพอสรุปได้ 5 เรื่อง ที่เราควรหาเจ้าภาพมาทำงานนี้อย่างเร่งด่วน

1. การทำให้การลงทุนที่เกิดขึ้นจริง ๆ : การวัด GDP ด้านการลงทุน ที่สภาพัฒน์ฯ ประกาศทุก ๆ ไตรมาส ไม่ได้วัดจากการลงทุนจริง แต่วัดอ้อม ๆ ผ่านเครื่องชี้เศรษฐกิจที่ชี้ว่ามีการลงทุนมากขึ้นหรือน้อยลง เช่น การดูพื้นที่อนุญาตก่อสร้าง พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ยอดขายหรือจดทะเบียนรถบรรทุกและรถปิคอัพ การนำเข้าเครื่องจักร เป็นต้น

แล้วมาจัดหมวดหมู่ว่าอันไหนเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องจักร อันไหนเกี่ยวกับการก่อสร้าง จึงวัดได้ไม่ตรงเสียทีเดียว ตัวหนึ่งที่น่าจะเอามาชี้ได้ตรง ๆ แต่ยังไปไม่สุดทาง คือ ตัวเลขการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในช่วง 2 – 3 ปีนี้ น่าจะเข้าใกล้ 2 ล้านล้านบาท

ปัจจุบันมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ การขอรับการส่งเสริม การอนุมัติการส่งเสริม และการออกบัตรส่งเสริม ยังขาดมิติการเร่งรัดติดตามให้เกิดการลงทุนได้จริง เช่น การถมที่ ปูฐานคอนกรีต การตอกเสาเข็ม ติดตั้งเครื่องจักร เดินสายไฟ ท่อน้ำ ติดมิเตอร์ไฟฟ้าประปา เป็นต้น

และเพื่อเร่งรัดให้เขาลงทุนจริง ๆ สักที เราอาจจะจำกัดการขยายเวลากอดบัตรส่งเสริมลงจากเดิม ตัดสิทธิประโยชน์บางส่วนหากไม่เร่งลงทุน จึงจะการันตีว่า การลงทุนเกิดขึ้นจริง ๆ เข้า GDP  จริงๆ ดังนั้น เจ้าภาพที่น่าจะทำหน้าที่นี้ได้ดี คือ บีโอไอ แค่เพิ่มภารกิจบางอย่างเข้าไป ถ้าทำได้จะเป็นประโยชน์มหาศาลแก่หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ

2. การจัดการกับโครงสร้างประชากรที่ไม่เอื้อต่อการเติบโต : ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานวางแผนประชากรในภาพรวม มีแต่เก็บสถิติ รู้ว่าสูงอายุมีกี่คน เด็กเกิดใหม่มีกี่คน แล้วจบเลย ไม่มีใครรับช่วงไปดำเนินการในเชิงนโยบาย

ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุในเชิงคุณภาพแบบเชิงรุก เข้าหาตัวผู้สูงอายุอาจจะมี เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บาน หรือ อสม. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพสต. เป็นต้น

แต่ที่ต้องคิดกันต่อให้จบว่า วัยแรงงานจะเพิ่มผลิตภาพได้อย่างไร การ Upskill Reskill เป็นสิ่งที่ต้องทำ แรงงานภาคเอกชนกิจการขนาดย่อย เล็ก และกลาง (MSMEs) จะปรับตัวอย่างไร

ขนาดใหญ่ไม่น่าห่วง แต่ที่ห่วงสุดคือภาครัฐ เพราะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ พัฒนาฝีมือแรงงานได้ไม่กี่คน ก็ไม่มีประโยชน์ เช่น ช่างยานยนต์ไฟฟ้าผลิตได้ปีละไม่กี่ร้อย ก็ไม่มีวันเติมเต็มได้

อีกเรื่องที่ต้องคิดแล้ว คือ เด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างรวดเร็ว เหลือไม่ถึง 500,000 คนต่อปี ลดลงเกือบทุกจังหวัด จะเพิ่มจำนวนกันไหม อย่างไร จะลดหย่อนภาษีเพื่อจูงใจให้มีบุตรไหม เรื่องเหล่านี้ยังไม่มีเจ้าภาพเลย

ดังนั้น เราควรหาเจ้าภาพในการบริหารจัดการประชากรทั้งพีระมิด สูงอายุ วัยแรงงาน และเด็กเกิดใหม่ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตและการจัดเก็บภาษีในอนาคต

3. การจัดทำฐานข้อมูลหนี้นอกระบบ : ไม่มีใครรู้ว่าวันนี้มูลหนี้นอกระบบอยู่ที่ใด ใครเป็นหนี้นอกระบบบ้าง อยู่จังหวัดไหน มูลค่าหนี้เท่าไร่ อาจจะรู้เฉพาะคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ที่สำแดงจริงหรือเปล่าไม่ทราบ

ส่วนหนี้ในระบบเรารู้หมด ว่าใครเป็นหนี้อะไรบ้าง เท่าไร ภาระการผ่อนต่อเดือน ผ่อนยาวกี่เดือนกี่ปี แม้เรื่องนี้ กระทรวงการคลังจะเฉี่ยว ๆ อยู่บ้าง คือ เปิดประตูให้เจ้าหนี้นอกระบบกลับใจมาอยู่ในระบบ แต่ที่อยู่นอกประตูมืดๆ นั้น คงมีอีกมาก

หากเรามีระบบการลงทะเบียนให้ผู้เป็นหนี้นอกระบบมาลงทะเบียน คล้าย ๆ กับตอนเราทำโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เราจะมีข้อมูลหนี้นอกระบบทั้งหมด และออกแบบแก้ปัญหาได้ตรงจุด ตรงคน ตรงพื้นที่ อีกทั้ง ยังเป็นประโยชน์ต่อการทำภาษีเงินได้แบบติดลบ หรือ Negative Income Tax (NIT) 

ในอนาคต หากรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน แถมรายจ่ายและหนี้ท่วมรายได้ รัฐก็ควรเข้าช่วยเหลือ เป็นต้น ดังนั้น เราควรหาเจ้าภาพเรื่องหนี้นอกระบบ หากทำได้เราจะทราบรายครัวเรือนเลยว่าเป็นหนี้ในระบบเท่าไร นอกระบบเท่าไร เข้าใจสมการการเงินครัวเรือนฐานรากมากขึ้น 

4. การวางนโยบายเศรษฐกิจระดับจังหวัด : ผมมีโอกาสเดินทางไปบรรยาย ประชุม ลงพื้นที่ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มั่นใจว่าได้คุยกับหน่วยงานครบทุกจังหวัด พบว่า ในระดับจังหวัดยังขาดหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่วิเคราะห์และวางแผนเศรษฐกิจจังหวัด

หลายจังหวัดหน้าที่ในการฉายวิสัยทัศน์และแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นของผู้ว่า หรือรองผู้ว่า ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการปกครองและงานวิจัย ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ผ่านไป 2 – 3 ปี ก็มีการโยกย้าย ขาดความต่อเนื่อง

ฉะนั้น การกำหนดทิศทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ จังหวัด จึงต้องอาศัยความเห็นจากหอการค้าจังหวัดและอุตสาหกรรมจังหวัดที่มีประกอบกิจการอยู่ในจังหวัด ที่สำคัญ มักจะนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เป็นแผนของประเทศมากาง แล้วให้เดินหน้าไปตามนี้

ไม่มีการนำข้อมูลในจังหวัดของตัวเอง เช่น ข้อมูลดัชนีความก้าวหน้าของคน หรือ Human Achievement Index (HAI) เป็นต้น มาวิเคราะห์จุดอ่อนเพื่อนำไปสู่การพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละจังหวัดจะมีสำนักงานคลังจังหวัด สังกัดกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มีหน้าที่ในการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงหน้าที่รอง จากการดูบัญชีรายรับรายจ่ายในจังหวัดซึ่งเป็นหน้าที่หลัก

ดังนั้น เพื่อให้ทิศทางเศรษฐกิจจังหวัดมีความชัดเจน ในแต่ละจังหวัดควรมีเจ้าภาพที่เป็นหน่วยงานภาครัฐในการวางแผนเศรษฐกิจและการคลังจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกับภาคเอกชน

5. การขจัดความซ้ำซ้อนของสวัสดิการ : ประเทศไทยมีสวัสดิการทั้งหมดประมาณ 70 สวัสดิการ ดูแลโดยกระทรวงต่าง ๆ 10 กว่ากระทรวง ในกระทรวงเดียวกันก็ดูแลหลายสวัสดิการ ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมาย

แม้แต่ในกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน ก็ยังดูแลโดยหลายหน่วยงาน เช่น คนจน ดูแลโดยกระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน 

คำถามคือ เคยมานั่งคุยกันไหมว่า แต่ละกลุ่มเป้าหมายมีความซ้ำซ้อนกันเพียงใด เราอาจจะพบว่า 1 ครัวเรือน ได้รับสวัสดิการหลายทาง ถ้าตีเป็นตัวเงิน บางครัวเรือนอาจจะได้หลายหมื่นบาทต่อปี

หากเราขจัดความซ้ำซ้อนได้ เราอาจจะประหยัดเงินงบประมาณได้จำนวนหนึ่ง แล้วเอาไปให้ครัวเรือนที่ตกหล่น หรือลำบากมากกว่าได้เพิ่มขึ้น ทำให้การใช้งบประมาณมีความคุ้มค่ามากขึ้น ดังนั้น ควรมีหน่วยงานมาดูแลให้สวัสดิการต่างมีความซ้ำซ้อนกันน้อยลง ซึ่งเท่ากับการเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง หรือ Fiscal Space ไว้ไปใช้จ่ายยามฉุกเฉินได้

ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักปัญหาเชิงโครงสร้าง และเดินหน้าได้มั่นคงมากขึ้น เราควรมีเจ้าภาพที่ชัดเจน ทั้ง 5 เรื่องข้างต้น ผมฝากว่าที่รัฐบาลใหม่ไว้พิจารณาด้วยครับ 

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด
 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...