สักวันหนึ่ง...

ดิฉันรับชมสารคดีชุดหนึ่งเล่าถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศหนึ่ง ซึ่งขึ้นมาเป็นนายกตอนที่ประเทศเปราะบางทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร ด้วยวัยเพียง 35 ปี ต่อไปนี้เป็นบทสรุปย่อที่ดิฉันรวบรวมจากสารคดีสั้นชุดนี้ค่ะ

เขาเริ่มวางแผนพัฒนาประเทศที่มีพื้นที่ไม่มาก ประชากรจำนวนไม่มาก ด้วยการเน้นสามเรื่องใหญ่คือ การบริหาร(Administration) การจัดการ (Organization) และคน (People)  

โดยการสร้างความสามารถให้กับคน พัฒนาประชากรให้มีการศึกษาที่ดี พร้อมกับให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อสังคม เน้นการสร้างวินัยและความรับผิดชอบ แรกๆประชากรก็อึดอัด เพราะขาดเสรีภาพบางอย่าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป พบว่าสังคมดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะมีประชากรที่รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม และมองผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก 

เขาพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างงาน และมีวิสัยทัศน์ว่างานประเภทใดจะเป็นที่ต้องการของโลก ในสมัยนั้น อุตสาหกรรมกำลังพัฒนา ประชากรของโลกกำลังเติบโต สินค้าต่างๆขายดี เขาจึงเน้นไปในด้านการผลิต สร้างงานมากจนแรงงานที่เคยว่างงานจำนวนมากมีงานทำหมด และกลายเป็นขาดแคลนแรงงาน จึงต้องมีการนำเข้าแรงงานบางส่วน แน่นอนว่าประชากรบางส่วนไม่พอใจ แต่เขาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อผลิตและมีรายได้มากขึ้น ทุกคนก็มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง และคนเริ่มมีฐานะขึ้นมา เขารณรงค์ให้มีค่านิยม “ความเอื้อเฟื้อระดับชาติ” ส่งเสริมให้คนช่วยเหลือกันและกัน โดยบอกว่า ถ้าคนเห็นแก่ตัวและไม่เอื้อเฟื้อ สังคมจะไม่น่าอยู่

ต่อมาประเทศแข่งขันไม่ได้ เพราะค่าแรงสูง เขาจึงเน้นไปในเรื่องสินค้าที่ใช้แรงงานน้อยลง เช่น เทคโนโลยี และส่งเสริมภาคการบริการ รวมถึงการท่องเที่ยว ทั้งยังกระตุ้นกึ่งบังคับให้ประชากรเรียนภาษาอังกฤษ และพูดภาษาอังกฤษ เพราะเชื่อว่าเป็นภาษาสากลที่จะทำให้เข้าถึงวิชาการความรู้ และใช้ในการเจรจาธุรกิจ เป็นการเตรียมประชากรให้พร้อมรับอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงไป และเสริมสร้างมหาวิทยาลัยในประเทศให้แข็งแกร่ง จนบัณฑิตมีคุณภาพทัดเทียมกับบัณฑิตที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยดังๆในประเทศตะวันตก

ในช่วงที่หาเสียงในทศวรรษ 1980 เขาพูดว่า “นี่ไม่ใช่เกม ใครจะมาบริหารประเทศต้องมีความเข้มแข็งและเชื่อมั่น ไม่อย่างนั้น ไม่ต้องมาทำ เพราะผมใช้ทั้งชีวิตของผมสร้าง(ประเทศนี้)ขึ้นมา และจะไม่ยอมให้ใครมาทำพัง” ทั้งเขาพูดอยู่เสมอว่า “ต้องเอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก เราสร้างประโยชน์ส่วนรวม เพื่อให้ทุกคนมีส่วนแบ่งที่ใหญ่ขึ้น”

ในขณะที่ประเทศมีเงินมากขึ้นจากภาษีที่เก็บได้เพิ่มขึ้น ดึงดูดให้ธุรกิจต่างชาติมาลงทุน และมาใช้เป็นสถานที่ทำการ ซึ่งเมื่อประชากรที่มีการศึกษาที่ดี ก็มีความพร้อม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็ทำไปคู่ขนานกัน ทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนที่อาศัยอยู่นอกเมือง สามารถเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองได้โดยใช้เวลาไม่มาก สร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ๆและโครงการใหม่ๆที่จะสามารถดึงดูดให้คนมาท่องเที่ยวซ้ำแล้วซ้ำอีก

มีคนวิจารณ์ว่า เขาเข้มงวดและควบคุมสื่อมวลชน แต่เขาให้จุดยืนว่า เขาต้องการให้สื่อมวลชนให้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด 

ความที่เป็นรัฐบาลที่ไม่มีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง สื่อมวลชนตะวันตกจึงพยายามถามเขาว่า เขาทำอย่างไร เขาตอบว่า เขาต้องติดตามความคิดเห็นของประชาชน (public opinion) เขาบอกกับสื่อตะวันตกว่า ความแตกต่างของคนตะวันออกคือ เวลามีการเลือกตั้ง เลือกคนที่จะมาบริหารประเทศ ประชาชนจะเลือกโดยคิดว่า “นี่คือรัฐบาลที่จะดูแลชีวิตฉันได้หรือไม่ จะดูแลให้ลูกของฉันได้รับการศึกษาและมีชีวิตที่ดีกว่าฉันไหม” 

เขากล่าวว่า “คนที่จะมาเป็นผู้นำจึงต้องฝึกให้รับมือกับปัญหายากๆ และคนที่จะอาสามาทำงานเป็นรัฐบาลต้องดูแลส่วนรวม ก่อนตัวเองและครอบครัวของตัวเอง”

เขาเป็นผู้นำที่ติดดิน ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับคนรุ่นใหม่ รักใคร่เอาใจใส่นักศึกษา เขาพยายามเข้าใจมุมมองของนักศึกษา ผู้ที่เขาเรียกว่า “อนาคตของประเทศ” เขาต้องการให้มีการบันทึกประวัติศาสตร์ของประเทศในช่วงต่างๆให้คนรุ่นใหม่รู้จักประเทศของตนเองมากขึ้น เพื่อให้มีคนช่วยสานต่อ (การสร้างและพัฒนาประเทศ)

เขาเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ เวลาเกิดปัญหาหนักๆ เขาแนะนำว่า “ต้องอยู่กับมัน และเรียนรู้ที่จะปรับตัว และมีความยืดหยุ่นในยามเกิดวิกฤต” เขาบอกเยาวชนให้ “มองท้องฟ้า พยายามตามสายรุ้งไป จะพบกับขุมทรัพย์ และต้องขุดมันขึ้นมา” ทั้งนี้ต้อง อย่าหยุดฝัน เพราะประเทศต้องไปต่อ แม้เราจะไม่อยู่แล้วก็ตาม

เขาผู้นั้นคือ ลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษของสิงคโปร์ ผู้อุทิศชีวิตทำงานเพื่อประเทศยาวนานถึง 56 ปี

ขอคารวะท่านด้วยความเคารพนับถือ ดิฉันได้เรียนรู้จากข้อคิดของท่านมากมาย และหวังว่าประเทศของดิฉันจะได้นำบางอย่างที่ท่านใช้ในการพัฒนาประเทศของท่านมาใช้ในการปรับประเทศให้พร้อมก้าวเข้าสู่ทศวรรษต่อๆไป อย่างสวยงาม

ประเทศของดิฉันมีพื้นที่กว้างใหญ่กว่า มีจำนวนประชากรมากกว่า มีภูมิประเทศและทรัพยากรที่หลากหลายกว่า หากสามารถพัฒนาคนให้มีความรู้ มีวินัย ซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม และหากมีการบริหารจัดการที่ดี ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่รั่วไหล มีการเปิดโอกาสให้กว้างขึ้นสำหรับทุกคน มีการลดความเหลื่อมล้ำเพื่อให้ประชากรมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น มีความร่วมแรงร่วมใจของคนรุ่นต่างๆในประเทศ ดิฉันเชื่อว่า สักวันหนึ่ง ประเทศของดิฉัน ประชากรของประเทศดิฉัน จะมีความเก่งกาจเคียงบ่าเคียงไหล่ หรืออาจจะแซงหน้าประชากรในประเทศของท่านได้ 

สักวันหนึ่ง...

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...