บริษัทตีแตกจำกัด

เมื่อปลายปี 2566 ผมได้จัดตั้งบริษัทเพื่อการลงทุนซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ชื่อ “บริษัทตีแตกจำกัด” เหตุผลก็เพื่อที่จะปรับโครงสร้างการถือหุ้นต่างประเทศจากการถือโดยบุคคลธรรมดามาเป็นการถือโดยนิติบุคคลที่ผมคิดว่าจะมีความเหมาะสมกว่าในกรณีการลงทุนซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหุ้นต่างประเทศ เวลาผ่านมาประมาณ 8 เดือนแล้ว ผมคิดว่าควรที่จะเล่าเรื่องของบริษัทตีแตกที่จะให้ข้อคิดและแนวทางการลงทุนของผมอีกมุมหนึ่งอย่างที่ผมทำตลอดมา

ตีแตกเป็นบริษัทลงทุนในหุ้นของบริษัทอื่นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเป็นหลัก จะเรียกว่าเป็นบริษัท “Holding Company” ก็น่าจะได้ เพราะแนวทางการลงทุนของบริษัทนั้นจะเป็นการ “ถือระยะยาว” และโดยส่วนตัวก็มีความคิดว่าบริษัทเป็น “เจ้าของ” บริษัทที่ถืออยู่ ถ้าจะพูดไป ก็คล้าย ๆ กับบริษัทเบิร์กไชร์ของวอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ถือหุ้นจำนวนมากในบริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ หลายบริษัทจนกลายเป็น “เจ้าของ” จริง ๆ แต่ในกรณีของตีแตกนั้น จะเป็นการถือหุ้นจำนวนน้อยมากที่ไม่มีอิทธิพลอะไรกับบริษัทเลย

การลงทุนของตีแตกจะเป็นการซื้อ-ขายหุ้นและตราสารการเงินที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศทั่วโลก แต่ในช่วงแรกก็จะเน้นเฉพาะในตลาดหุ้นเวียตนามเป็นหลัก บริษัทจะไม่ลงทุนในกิจการแบบเวนเจอร์แค็บปิตัลหรือในบริษัทเอกชนนอกตลาดหุ้นที่ยังไม่พร้อมที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่างแน่นอนในระยะเวลาอันสั้น

พอร์ตการลงทุนของตีแตกจะเป็นการลงทุนแบบ “Focus” คือเน้นการลงทุนหุ้นหรือตราสารการเงินไม่มากตัว แต่ละตัวจะลงทุนมากอย่างมีนัยสำคัญ พอร์ตโดยรวมในช่วงแรกจะมีหุ้นหลัก ๆ ประมาณไม่เกิน 10 ตัว ที่จะมี Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นรวมกันอย่างน้อย 75% ของมูลค่าพอร์ตทั้งหมด โดยที่หุ้นตัวใหญ่ที่สุดจะมีมูลค่าไม่เกิน 50% ตลอดเวลาของการลงทุน

หุ้นหลัก ๆ ของตีแตกจะเป็นหุ้นแนว “Super Stock” คือเป็นหุ้นของกิจการที่ “ยอดเยี่ยม” และบริษัทมี “ความได้เปรียบที่ยั่งยืน” และอุตสาหกรรมยังไม่อิ่มตัวหรือกำลังจะตกต่ำลง และหุ้นมีราคาที่เหมาะสมหรือถูก นอกจากนั้น ผู้บริหารก็จะต้องมีบรรษัทภิบาลที่ดี ทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวการเลือกหุ้นลงทุนแบบหนึ่งที่ผมเองก็ใช้มานาน แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ ตีแตกอาจจะไม่สนใจหุ้นที่ถูกมากหรือ “Super Cheap” เลย เพราะตีแตกไม่ต้องการที่จะซื้อ-ขายหุ้นบ่อยที่จะทำให้ต้องเสียภาษีกำไรมาก แต่ตีแตกต้องการหุ้นที่จะโตไปเรื่อย ๆ แบบทบต้นโดยไม่ต้องขาย ซึ่งนั่นก็คือลงทุนในหุ้นที่จะโตไปยาวนานแบบซุปเปอร์สต็อก

ผลตอบแทนที่คาดหวังของตีแตกก็คือประมาณปีละ 10% แบบทบต้นในระยะยาว และไม่แพ้ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวของตลาดหุ้นไทย หรือ SET Index คิดจากค่าเงินที่เป็นบาท หรือพูดง่าย ๆ ประเทศไทยเป็นฐานของการเปรียบเทียบผลตอบแทนการลงทุน ฟังดูอาจจะมองว่า “มักน้อย” แต่ผมคิดว่าอัตราผลตอบแทนที่ปีละ 10% แบบทบต้นนั้นดีพอแล้วสำหรับการลงทุนที่เราไม่ได้ทุ่มเทความพยายามและเวลามากนัก กลยุทธ เทคนิคและการเลือกตัวหุ้นที่ใช้ในการลงทุนก็แทบจะ “ก็อปปี้” มาจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

จะไม่มีการถอนทุนออกจากตีแตก ผลตอบแทนที่ได้รับในแต่ละปีจะถูกทบต้นไปเรื่อย ๆ อาจจะถึงวันที่ผมตายเป็นอย่างน้อย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินจากทรัพย์สินส่วนนี้เพื่อการเลี้ยงชีพและเรื่องอื่น ๆ ก็ไม่มี เนื่องจากผมมีเงินส่วนตัวที่ลงทุนอยู่ในตลาดหุ้นไทยอยู่แล้ว ว่าที่จริง เงินลงทุนในตีแตกเองนั้นก็ยังเป็นเงินส่วนน้อยของผม สถานะในตอนนี้ของตีแตกก็คือ มีไว้เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและความมั่นคงในกรณีที่เกิดเหตุเลวร้ายจริง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในประเทศใดประเทศหนึ่ง

ข้อดีของการจัดตั้งตีแตกขึ้นมาเพื่อการลงทุนเทียบกับการลงทุนด้วยตนเองนั้น ผมเองก็ยังเห็นได้ไม่ชัด ส่วนหนึ่งที่ตั้งก็เพราะความจำเป็นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษีของรัฐบาลไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่สิ่งที่อาจจะมีประโยชน์ก็คือ การเป็นบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น มันย่อม “ไม่ตาย” และอยู่ไปเรื่อย ๆ และสามารถหาคนมาบริหารการลงทุนต่อไปเรื่อย ๆ แม้ว่าผมจะไม่อยู่แล้ว

นอกจากนั้น ถ้าทำได้ดีและโชคดี บริษัทเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวันหนึ่งมันก็อาจจะกลายเป็นบริษัท “มหาชน” ที่อาจจะไม่ต้องพึ่งใครหรือขึ้นอยู่กับใครเลยในการดำเนินงานประจำวันของมัน อย่างไรก็ตาม นั่นก็ยังเป็นเรื่องของ “ความฝัน” เพราะทุกวันนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ยังไม่ยอมรับ “บริษัทลงทุน” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ข้อเสียของตีแตกนั้นชัดเจนมากนั่นก็คือ ต้องเสียภาษีนิติบุคคลทุกปีที่มีกำไรในอัตรา 20% ซึ่งก็เป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่จะทำได้จาก “การลงทุนในบริษัทอื่น” ซึ่งบริษัทอื่นที่ว่านั้นก็เสียภาษีนิติบุคคลของตนเองมาแล้วเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ตีแตกคงไม่ต้องเสียภาษีเต็ม 20% แน่นอน เนื่องจากหากมีขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นตัวใด ก็สามารถนำผลขาดทุนมาตัดออกจากกำไรได้ เช่นเดียวกับ รายได้อื่นเช่นปันผลรับที่จะต้องเสียภาษีก็สามารถนำรายจ่ายอื่น ๆ มาหักได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ภาษีเป็นข้อเสียที่สำคัญที่สุดของการเป็นบริษัทลงทุนโดยเฉพาะตราบใดที่บุคคลธรรมดายังไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากการขายหุ้น

ผลงานของตีแตกนับจากต้นปีจนถึงเดือนสิงหาคมนี้ก็คือ บริษัทได้ “ปรับพอร์ต” ครั้งใหญ่จากพอร์ตที่มีหุ้นตัวเล็กนับร้อยตัวและหุ้นขนาดกลางเป็นสิบตัว กลายเป็น “พอร์ตซุปเปอร์สต็อก” ที่มีหุ้นไม่ถึง 20 ตัว โดยหุ้นหลักมีประมาณ 10 ตัว และหุ้นที่เป็นหรือมีศักยภาพที่จะเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกประมาณ 6-7 ตัวที่มีมูลค่ารวมกันเกินกว่า 75% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมด

ผลตอบแทนการลงทุนในช่วงประมาณ 8 เดือนที่ผ่านมานั้น น่าประทับใจมาก และผมคิดว่าเกิดจาก “โชคดี” ที่ผมบังเอิญเปลี่ยนกลยุทธและการเลือกหุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกในจังหวะที่ตลาดหุ้นเวียตนามอาจจะกำลังปรับตัวขึ้นแรงโดยเฉพาะในส่วนของหุ้นที่มีคุณภาพดีและเติบโตเร็ว คล้าย ๆ กับช่วงปี 2544 ถึง 2555 ของไทยที่เป็น “ยุคทองของ VI” อย่างไรก็ตาม อนาคตต่อจากนี้หุ้นจะวิ่งต่อหรือไม่ เวลาเท่านั้นที่จะเป็นตัวบอก

ก่อนจะตั้งบริษัทตีแตกนั้น ผมเองก็รู้สึกทึ่งกับบริษัทเบิร์กไชร์ของบัฟเฟตต์ที่มีขนาด Market Cap. ติดอันดับ Top Ten ของโลกมาตลอดตั้งแต่หลายสิบปีก่อน แต่กลับมีสำนักงานที่เล็กมากและมีพนักงานเพียงสิบกว่าคน แต่เมื่อเริ่มดำเนินงานตีแตกแล้วผมจึงพบว่าการลงทุนซื้อ-ขายหุ้นในแนวทางแบบนี้เราไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความคิดและทัศนคติที่ถูกต้องและการมองระยะยาวด้วยจิตใจที่มั่นคงและไม่ลำเอียง

และนั่นก็ทำให้สำนักงานตีแตกมีเพียงห้องเดียวขนาด 3 คูณ 5 เมตร ที่ประกอบไปด้วยโต๊ะประชุมขนาดเล็ก ตู้เก็บเอกสาร ชั้นหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนและโต๊ะทำงาน 1 ตัวพร้อมคอมพิวเตอร์

งานทุกอย่างที่จำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่ก็คืองานบัญชีและภาษีถูกทำโดยการเอ้าท์ซอร์ซไปทั้งหมด หรือพูดอีกอย่างก็คือ ตีแตกไม่มีพนักงานประจำ การลงทุนทำโดยผมเองซึ่งก็ทำมาตลอดหลายสิบปีโดยไม่มีทีมงานสนับสนุน

แน่นอนว่าอนาคตสิ่งต่าง ๆ ก็คงต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ สิ่งที่ผมคิดว่าไม่ควรเปลี่ยนก็คือหลักปรัชญา แนวความคิดการลงทุนแบบ VI และ ความซื่อสัตย์และจรรยาบรรณในวิชาชีพการลงทุน ที่ตีแตกจะต้องรักษาไว้ ส่วนผลตอบแทนของการลงทุนนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องรอง

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...