‘อมตะ’ เทคโอเวอร์ ‘นิคมฯ บ้านบึง’ อนิสงส์ภูมิรัฐศาสตร์-ย้ายฐานลงทุน

จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายวงกว้างในปัจจุบัน ผู้ประกอบการในประเทศจีนมีการย้ายฐานเข้ามาประกอบการตั้งโรงงานในไทยมากขึ้น สาเหตุมาจากปัจจัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

ประเทศกลุ่มอาเซียนถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการย้ายฐานการผลิต รวมถึงไทยมีความพร้อมที่จะรองรับการลงทุนจากมาตรการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล จุดเด่นสำคัญของประเทศไทยด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ได้เปรียบ การพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุนจึงสำคัญ

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้อนุมัติการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมบ้านบึง ลงวันที่ 28 ส.ค.2555 

รวมทั้งมีประกาศคณะกรรมการ กนอ.เรื่อง การเปลี่ยนแปลงเขต เขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมบ้านบึง ลงวันที่ 11 พ.ย.2557 ในพื้นที่ตำบลหนองอิรุณ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ 1,941 ไร่ 0 งาน 20 ตารางวา

ทั้งนี้ เนื่องจากเอกชนผู้ร่วมดำเนินงานกับ กนอ.มีความประสงค์ที่จะขอเปลี่ยนแปลงชื่อ นิคมอุตสาหกรรมตามประกาศดังกล่าว จาก นิคมอุตสาหกรรมบ้านบึง เป็น นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี 2

ล่าสุด ราชกิจจาฯ ประกาศเปลี่ยนแปลงชื่อ “นิคมอุตสาหกรรมบ้านบึง” เป็น “นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี 2” ทั้งนี้ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ วันที่ 15 ก.ค.2567

แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนชื่อนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว เนื่องจากบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ได้มีการเข้าซื้อกิจการ (take over) นิคมอุตสาหกรรมบ้านบึง จาก บริษัท เอส ที พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมบ้านบึง 

"การซื้อครั้งนี้มีตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 แล้ว ที่ไม่ได้ดำเนินการเป็นระยะเวลานาน คงเหมือนแลนด์ลอร์ดทั่ว ๆ ไปอมตะมีความต้องการที่จะซื้อที่ดินเก็บไว้" แหล่งข่าว กล่าว

ขณะเดียวกัน อมตะคงมองเห็นว่าช่วงนี้เป็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ เพราะมีนักลงทุนสนใจกันมาก จึงเลยหาพื้นที่ที่มีศักยภาพ แล้วเข้าไปขอเทคโอเวอร์ โดยขณะนี้ กลุ่มอมตะอยู่ระหว่างปรับพื้นที่ในนิคมฯ ให้สอดรับกับการลงทุนใหม่ตามความต้องการลูกค้า ซึ่งในส่วนของการจะเปิดขายพื้นที่เมื่อไหร่นั้้น ยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้าอะไร

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมบ้านบึง ก่อตั้งปี 2554 มีผู้พัฒนา คือ บริษัท เอส ที พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด เนื้อที่ประมาณ 1,941 ไร่ แบ่งเป็น

  • พื้นที่ประกอบอุตสาหกรรม SMEs 332 ไร่
  • เขตอุตสาหกรรมทั่วไป 569 ไร่
  • เขตพาณิชย์ 114 ไร่
  • เขตพักอาศัย 55 ไร่
  • พื้นที่สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก 363 ไร่

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมบ้านบึงห่างจากจังหวัดชลบุรี 27 กิโลเมตร ท่าอาศยานสุวรรณภูมิ 80 กิโลเมตร ท่าเรือแหลมฉบัง 58 กิโลเมตร และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 78 กิโลเมตร

ส่วนกลุ่ม บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นในปี 2532 เป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอกชน มีบริษัทย่อยในกลุ่มอมตะ 43 ราย ปัจจุบันดำเนินงานใน 11 โครงการ 

รวมทั้งมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างวางแผน (ประเทศไทย เวียดนาม และ สปป.ลาว) มีพื้นกว่า 150 ตร. กม. ที่พัฒนาแล้วรวมทุกนิคม 93,750 ไร่ มีผู้เช่ามากกว่า 1,500 ราย ในเขตอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม (รวมทุกนิคม) มีคนทำงานมากกว่า 350,000 คน รวมทุกนิคม

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ในประเทศไทย แบ่งเป็น

1.บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) มี 3 นิคมฯ คือ อมตะซิตี้ ชลบุรี ก่อตั้งขึ้นในปี 2532 , อมตะ สมาร์ท ซิตี้ (ชลบุรี) และ อมตะ ซิตี้ ชลบุรี 2 (จากการเทคโอเวอร์นิคมอุตสาหกรรมบ้านบึง) รวมพื้นที่ทั้งหมด 19,601 ไร่

2.บริษัท อมตะซิตี้ ระยอง จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2538 พื้นที่ทั้งหมดรวม 17,898 ไร่

3.บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยอง ไทย-จีน จำกัด พื้นที่ทั้งหมดรวม 1,547 ไร่

นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มอมตะ เปิดพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ตามการส่งเสริมจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนเชิงพาณิชย์

รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นอุทยานศูนย์ข้อมูล, เขตปลอดอากร, ซื้อหรือซื้อเช่าที่ดิน (กรรมสิทธิ์ของนักลงทุนต่างชาติ 100%) และเป็นโรงงานสำเร็จรูปเพื่อเช่า คลังสินค้าขนาดเล็ก โรงงานสร้างตามความต้องการของลูกค้า เป็นต้น

ในขณะที่ งบการเงินครึ่งปีแรก 2567 (เฉพาะอมตะ) รายได้รวม 5,495.94 ล้านบาท กำไรสุทธิ 411.7 ล้านบาท

นอกจากนี้ เมื่อเดือน มี.ค.2567 กลุ่มอมตะแถลงทิศทางปี 2567 โดยตั้งงบลงทุน 5,000 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินเพิ่มในชลบุรี-ระยอง และขยายเฟสในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเดิม รับอานิสงส์นักลงทุนย้ายฐาน กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่มจีนเร่งสร้างฐานผลิตใหม่ในไทย อีกทั้งยังอยู่ระหว่างรอข้อสรุปการปิดการขายสัญญาซื้อที่ดินของลูกค้า

พร้อมคาดว่ายอดขายที่ดินในปี 2567 จะใกล้เคียงหรือมากกว่าปี2566 สอดรับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประกอบกับสถานการณ์การเมืองทำให้นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุน เพื่อผลิตสินค้าส่งออก อีกปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนจึงขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกที่มีความสำคัญมากขึ้น

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...