ยอดโอนคอนโดฯ ต่างชาติไตรมาส 2 ร่วง!ติดหล่มโอนเงินข้ามประเทศสะดุด

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า สถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในไตรมาส 2 ปี 2567   มีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด 3,342 หน่วย คิดเป็น 11.8% ของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งหมด ส่วนมูลค่าคิดเป็น 21.1% หรือมีมูลค่า 14,874 ล้านบาท

โดยภาพรวมไตรมาส 2 ปี 2567 การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยของคนต่างชาติ จำนวนหน่วย "ติดลบ" 6.2% มูลค่า “ติดลบ” 17.7% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 โดยมีข้อสังเกตว่า พบสัญญาณการโอนกรรมสิทธิ์ที่ “ลดลง” อย่างมีนัยสำคัญจากผู้ซื้อสัญชาติจีน รัสเซีย และเมียนมา 
 

โดยผู้ซื้อสัญชาติจีน มีจำนวนโอนมากสุด 1,276 หน่วย แต่เทียบ QoQ  ติดลบ 20% เทียบ YoY ติดลบ 25% อันดับสอง รัสเซีย โอนจำนวน 272 หน่วย เทียบ QoQ ติดลบ 8% เทียบ YoY ติดลบ 14%  อันดับสาม เมียนมา โอนจำนวน 246 หน่วย เทียบ QoQ ติดลบ 37% เทียบ YoY ติดลบถึง 132%!

ส่วนมูลค่าการโอนของผู้ซื้อสัญชาติจีนมีมูลค่ามากที่สุด 5,633 ล้านบาท เมื่อเทียบ QoQ ติดลบ 26% เทียบ YoY ติดลบ 36% อันดับสอง เมียนมา โอนมูลค่า 1,033 ล้านบาท เทียบ QoQ ติดลบ 53% เทียบ YoY บวก 33% อันดับสาม รัสเซีย โอนมูลค่า 951 ล้านบาท เทียบ QoQ บวก 3% เทียบ YoY ติดลบ 20% ขณะที่ อินเดีย ซื้อห้องชุดมีมูลค่าสูงสุด  ในราคาเฉลี่ย 6 ล้านบาท  และซื้อห้องชุดที่มีขนาดพื้นที่เฉลี่ยสูงสุด 71.3 ตร.ม.
 

"ยอดโอนคอนโดมิเนียมต่างชาติที่ลดลงในไตรมาส 2 เกิดจากปัญหาที่ผู้ซื้อชาวต่างชาติไม่สามารถโอนเงินมาซื้อได้เหมือนเดิม ทั้งรัฐบาล จีน และเมียนมา มีการสกัดไม่ให้มีการโอนเงินออกนอกประเทศเพื่อมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ขณะที่รัสเซียแซงก์ชันการโอนเงินออกนอกประเทศ ทำให้การโอนเงินมาซื้อคอนโดมิเนียมในไทยลดลง รวมถึงความคุ้นชินกับปัญหาสงครามทำให้ดีมานด์ลดลง ถือเป็นความเสี่ยงของดีเวลลอปเปอร์ที่เน้นขายคอนโดมิเนียมเจาะกลุ่มชาวต่างชาติ"

เมื่อพิจารณาภาพรวมในช่วงครึ่งแรกปี 2567 มีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ 7,280 หน่วย ติดลบ 0.8% คิดเป็นสัดส่วน 13.6% ของหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งหมดส่วนมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 24.6% หรือมีมูลค่า 32,888 ล้านบาท ติดลบ 6.6% สะท้อนให้เห็นว่า ไตรมาส 2 ฉุดตลาดลงพอสมควรจากไตรมาสแรกเป็นบวก แต่เมื่อรวม 2 ไตรมาสอยู่ในภาวะ “ติดลบ”

โดย ผู้ซื้อสัญชาติจีนยังคงมีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด มีจำนวน 2,872 หน่วย มูลค่ารวม 13,203 ล้านบาท อันดับ 2  เมียนมา 638 หน่วย มูลค่า 3,240 ล้านบาท อันดับ 3 รัสเซีย 567 หน่วย มูลค่า 1,874 ล้านบาท อันดับ 4 ไต้หวัน 326 หน่วย มูลค่า 1,592 ล้านบาท และ อันดับ 5 สหรัฐ 292 หน่วย มูลค่า 1,580 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลเมียนมาคุมเข้มการนำเงินออกนอกประเทศ ส่งผลกระทบต่อดีมานด์การซื้ออสังหาริมทรัพย์เมืองไทย บริษัทจึงต้องปรับแผนด้วยการหันไปขยายฐานลูกค้าไต้หวัน ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีกำลังซื้อเข้ามาทดแทน

โดยอนันดาจับมือกับพันธมิตรกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ อาทิ โธรน พร็อพเพอร์ตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียลเอสเตท, ชูเซ็ง อินเตอร์เนชั่นแนล เรียลเอสเตท ในไต้หวัน และธนาคารกรุงเทพ สาขาไต้หวัน จัดโรดโชว์ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงไทเป ซึ่งนำโครงการ “COCO PARC” ทำเลพระราม 4 และโครงการที่อยู่อาศัยระดับพรีเมียมอย่าง Ashton, Culture IDEO และ IDEO MOBI ไปนำเสนอในตลาดไต้หวัน

ขณะที่ พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ในเมียนมา ส่งผลให้ผู้ที่มีกำลังซื้อในเมียนมา หันมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยมากขึ้น แต่หากการซื้อขายสะดุด บริษัทก็พร้อมหันไปขยายฐานลูกค้าในตลาดอื่นมาทดแทน

ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทมีแผนเดินสายโรดโชว์เพื่อขยายตลาดลูกค้าต่างชาติไปสู่ตลาดใหม่ เช่น อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ในดูไบ อาบูดาบี และ อินเดีย ที่เศรษฐกิจเติบโตมากที่สุดในเอเชีย ขณะที่ UAE เป็นประเทศปลอดภาษี จึงมีกลุ่มนักลงทุนที่มีกำลังซื้อสูงจากหลายสัญชาติ พร้อมกันนี้ บริษัทจะยังคงเดินหน้าทำงานร่วมกับ Key Agent เพื่อรักษาฐานการเติบโตของตลาดไต้หวัน ฮ่องกง และจีน ควบคู่กันไปด้วย

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...