‘พิชัย’ เผยเศรษฐกิจไทยใกล้ ‘วิกฤติ’ แนะเร่งปรับรับโอกาสใหม่

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ถอดรหัส…โอกาสเศรษฐกิจประเทศไทย” ภายในงานเสวนาเดลินิวส์ ทอล์ก 2024 “Thailand: Future and Beyond ก้าวต่อไปของประเทศไทย“ ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) อยู่ที่ระดับฐานต่ำ ย้อนหลังไป 10 ปี จีดีพีโตเฉลี่ยเพียง 1.9-2.0% ขณะที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวที่ 2.5% แม้ว่าศักยภาพของไทยควรจะสามารถขยายตัวได้มากกว่านี้ที่ 3.5%

อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของไทยสามารถเปลี่ยนแปลงได้หากไม่ทำอะไรเลย และวันนี้ผมมองเห็นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ใน “ภาวะใกล้วิกฤติ” เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกกว่า 70% ของจีดีพี ขณะที่ปัจจุบันแนวโน้มมูลค่าการส่งออกเริ่มลดลงเนื่องจากการผลิตสินค้าในประเทศที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้ ดังนั้นแนวทางที่ควรจะทำคือการดึงการลงทุนใหม่ให้เกิดการผลิตในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (New Production Platform)

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่และเทคโนโลยีการผลิตใหม่ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับคนเพียง 1% ของยอดพีรามิดเท่านั้น ขณะที่คนชนชั้นกลาง ข้าราชการ และรากหญ้าอย่างเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน กลับไม่ได้เติบโตตามไปด้วย

นายพิชัย กล่าวว่า หากรัฐไม่สามารถสร้างโอกาสในการเติบโตทั้งส่วนยอดและฐานของพีรามิดไปพร้อมกันได้ ก็จะไม่สามารถบรรลุถึงวัตถุประสงค์ในการสร้างการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศได้อย่างยั่งยืน

ชี้โอกาสที่มองข้าม

ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องทบทวนตัวเองถึงจุดแข็งที่มีอยู่ รวมทั้งโอกาสที่มองข้าม ได้แก่

1.แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกกำลังเกิดการแบ่งขั้วแบ่งข้างอย่างชัดเจน ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต ดังนั้นจึงมีโอกาสสำหรับไทยที่ไม่ได้ถือข้างใคร ประกอบกับการที่ไทยตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ในภูมิภาค

2.การบุกตลาดใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเติบโตและร่ำรวยอย่างมาก

3.โอกาสของการเพิ่มขึ้นของประชากรใน 2 พื้นที่สำคัญ คือ อินเดีย และแอฟริกา ซึ่งใน 20 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก ซึ่งหมายความว่าเป็นกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำที่จะเพิ่มขึ้น สินค้าดั้งเดิมที่ไทยผลิตจะยังเป็นที่ต้องการ แม้ว่าเทรนด์ของโลกจะมุ่งไปสู่เทคโนโลยีใหม่ เรื่องความยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียวก็ตาม

4.ลักษณะภูมิประเทศของไทยที่เหมาะกับการเป็นพื้นที่เพาะปลูก ด้วยพื้นที่ราบกว่า 5.4 แสนตารางกิโลเมตร และการพัฒนาจากการทำเกษตรดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง

ลงทุนใหม่พร้อมมาไทย

รายงานตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าในช่วงปี 2556-2568 คาดว่าจะมียอดส่งเสริมการลงทุนราว 2 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำซึ่งจะทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องอีก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) คลาวด์เซอร์วิส ดาต้าเซ็นเตอร์ รวมถึงอาหารและไบโอเทค

“แน่นอนว่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วย่อมต้องเกิดการสูญเสีย แต่ถ้ามีการวางแผนและเตรียมตัวจะทำให้เกิดผลกระทบลดลง ซึ่งเทคโนโลยีจะเป็นโอกาสสำหรับเศรษฐกิจ และจะเป็นพื้นฐานใหม่สำหรับภาคอุตสาหกรรม”

หนุนเจรจาพื้นที่ทับซ้อน

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมดั้งเดิมในประเทศที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ก็ยังจำเป็นในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่ต้องใช้เวลา ซึ่งจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ยังคงสามารถแข่งขันได้

ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมไฮโดรคาร์บอน ซึ่งปัจจุบันมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงเนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น จากต้นทุนที่สำคัญคือความเป็นเจ้าของแหล่งทรัพยากร หรือการเป็นเจ้าของสัมปทาน

“หมายความว่าประเทศไทยจะไม่สามารถแข่งขันได้เลยหากไม่ได้เป็นเจ้าของแหล่งทรัพยากร ดังนั้นเราต้องกล้าๆ ที่จะเปิดการสำรวจอีกครั้ง ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีทรัพยากรอีกมาก“

อย่างไรก็ดี พื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ในกรอบการเจรจาตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา พื้นที่ทับซ้อนทางพลังงาน (Overlapping Claims Area : OCA) ซึ่งคาดว่าน่าจะมีปริมาณทรัพยากรที่ช่วยให้อุตสาหกรรมในประเทศต่อยอดและแข่งขันไปได้อีก 20-25 ปี ด้วยต้นทุนที่ถูกลงเหลือเพียง 2 ใน 3

นายพิชัย กล่าวว่า หากสามารถทำได้จะเป็นการดึง S-Curve ขึ้นมา สำหรับธุรกิจเก่าที่มีการลงทุนไปแล้วให้เกิดความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้เกิดขึ้น เกิดความคิดสมานฉันท์ในการนำไปสู่เรื่องนี้

หนุนต่างชาติเช่าอสังหาฯ 99 ปี

นายพิชัย กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจและการลงทุนมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้นการบริหารจัดการภาคอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบเดิมจึงไม่ตอบโจทย์การลงทุนใหม่อีกต่อไป ในวันนี้การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่จำเป็นต้องมีระยะเวลาในการเช่าเกินกว่า 30 ปี

โดยการออกกฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ ให้สิทธิการใช้กับผู้เช่า จะต้องให้เสมือนหนึ่งว่าใกล้เคียงกับความเป็นเจ้าของ (Ownership) ในที่ดินดังกล่าว เพื่อให้การเช่าอสังหาริมทรัพย์ถูกใช้ประโยชน์ได้ เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อธนาคาร ให้เช่าช่วงและโอนเปลี่ยนมือกันได้

ทั้งนี้แนวคิดการให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้ 99 ปี ความเป็นเจ้าของที่ดินจะยังเป็นของคนไทย เมื่อครบกำหนดจะกลายเป็นสมบัติของรัฐ ซึ่งถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าแค่การเก็บภาษีที่ดิน

"ประเทศไทยมีโอกาสที่ยังไม่ได้หยิบใช้ ซึ่งการจะหยิบฉวยโอกาสนั้นได้เพื่อสร้างการเจริญเติบโตของประเทศ จะต้องกำหนดสิ่งเหล่านี้ให้เป็นวิสัยทัศน์ของประเทศ ซึ่งการมีวิสัยทัศน์ที่ดีต้องมาจากความฝันที่นำไปปฏิบัติจริงและจะทำให้เกิดความยั่งยืน" นายพิชัยกล่าวทิ้งท้าย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...