'จีเอ็มเอ็ม มิวสิค' ดึง 'Warner Music Asia' ลงทุน 370 ล้านบาท ปลดล็อกธุรกิจเพลงโต

“จีเอ็มเอ็ม มิวสิค”(GMM Music) เดินหน้าประกาศความร่วมมือการลงทุนเชิงกลยุทธ์กับ“วอร์นเนอร์ มิวสิค เอเชีย” (Warner Music Asia - WMA)1ใน3 ผู้นำอุตสาหกรรมเพลงระดับโลกร่วมลงทุนเชิงกลยุทธ์ ต่อจากดีล TENCENT ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มชั้นนำจากประเทศจีนและTMEผู้นำธุรกิจดนตรีและความบันเทิงในเครือของเทนเซ็นต์ 

กลยุทธ์ดังกล่าว ยังตอกย้ำให้มูลค่าบริษัทของจีเอ็มเอ็ม มิวสิคปัจจุบันที่สูงกว่า 25,000 ล้านบาท 

สำหรับวอร์นเนอร์ มิวสิค เอเชีย จะร่วมลงทุนเชิงกลยุทธ์ในบริษัทด้วยเงินสด370ล้านบาทและจ่ายเงินประกันขั้นต่ำ(Minimum Guarantee)ที่315ล้านบาท เพื่อเร่งอัตราการเติบโตของบริษัทฯ และอุตสาหกรรมเพลงไทย ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมร่วมกันขยายธุรกิจไปสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้นในระดับโลก

ทั้งยังร่วมลงทุนตั้งค่ายเพลงใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและยกระดับคุณภาพอุตสาหกรรมเพลงไทยให้สร้างมูลค่าตลาดที่สูงขึ้น โดยใช้ระบบการจัดจำหน่ายชั้นสูงจากกลุ่มWarner (ADA)ตลอดจนร่วมผลักดันแผน “Spin-off” เพื่อเดินหน้าเสนอขายหุ้น IPO ของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค พร้อมตั้งเป้าสร้างกำไรสุทธิให้เติบโตขึ้นอีกเท่าตัวภายในปี 2573 ตอบรับช่วงขาขึ้นของอุตสาหกรรมดนตรีที่กำลังเข้าสู่คลื่นที่ 2 หรือ Music Second Wave

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีเอ็มเอ็ม มิวสิค กล่าวว่า ช่วง1-2 ปีที่ผ่านมา จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้ประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และล่าสุดเรามีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้การตอบรับจากพันธมิตรยักษ์ใหญ่รายที่ 4 ในการเข้ามาร่วมลงทุนเชิงกลยุทธ์อย่างWarner Music Asia (WMA)หนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่แห่งอุตสาหกรรมเพลงของโลกจากสหรัฐอเมริกา นับเป็นการตอกย้ำความสนใจที่มีต่ออุตสาหกรรมเพลงไทยในฐานะประเทศที่มีตลาดเพลงที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ความร่วมมือดังกล่าวยังสะท้อนการปลดล็อกมูลค่าบริษัทของGMM Musicที่มูลค่ามากกว่า 25,000 ล้านบาท(Unlock Value)และช่วยยกระดับวงการเพลงไทยในแง่ของการยกระดับคุณภาพการผลิต(Uplift Quality)อีกทั้งขยายตลาดสู่ระดับสากล(Upscale Opportunity)

สำหรับอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกได้เติบโตรวมมากกว่า100% ตลอดระยะเวลา 8 ปี นับจากปี 2557 – 2566 ซึ่งเป็นการเติบโตที่ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์(Music Second Wave Boom) และยังมีการคาดการณ์ว่าต่อจากนี้อีก 6 ปี อุตสาหกรรมเพลงจะเติบโตเพิ่มกว่า 100%อีกครั้งภายในปี 2573 

ขณะที่ปี 2566 ตลาดเพลงในภูมิภาคเอเชียมีอัตราการเติบโต15% สูงกว่าอัตราการเติบโตในตลาดโลกซึ่งมีการเติบโตที่10% (อ้างอิงการวิจัย Music in the Airจาก Goldman Sachs) โดยจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ในฐานะบริษัท ที่มีความแข็งแรงด้านคลังทรัพย์สินทางดนตรี (Music IP Assets) ที่ได้สั่งสม และมีการพัฒนาต่อยอดมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี ผนวกกับการมี Music Infrastructure ครบวงจร และใหญ่ที่สุดในไทย ในปี 2566  บริษัทมียอดรายรับที่ 3,914 ล้านบาท เติบโตขึ้น 27% และมีกำไรสุทธิ 402 ล้านบาท เติบโตขึ้น32% สามารถขับเคลื่อนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผ่าน Digital Business(การบริหารจัดการหารายได้ผ่าน Video และAudio Music Streaming) ซึ่งเป็นจุดแข็งเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัท

นอกจากนี้  ปี 2566 ยอดการรับชมรับฟังเพลงของGMM Music มียอด Stream สะสมทะลุกว่า 100,000 ล้านครั้ง(Stream) ในแพลตฟอร์มดิจิทัล สตรีมมิง เป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัท สามารถสร้างการเติบโตของรายได้เป็นประวัติการณ์หรือ New Highในปีที่ผ่านมา 

"การเข้ามาร่วมลงทุนเชิงกลยุทธ์ของ วอร์นเนอร์ มิวสิค เอเชีย จะยิ่งส่งผลบวกให้การสร้างรายได้ที่เติบโตของธุรกิจ Music IP ของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ในธุรกิจดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ”

ด้าน นายฟ้าใหม่ ดํารงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด จีเอ็มเอ็ม มิวสิค กล่าวว่า การเข้ามาร่วมลงทุนเชิงกลยุทธ์ดังกล่าวคือ การตอกย้ำความมั่นใจในอุตสาหกรรมเพลงไทยที่ทะยานสู่ช่วงขาขึ้น สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเพลงของโลก โดยการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของ

วอร์นเนอร์ มิวสิค เอเชียในบริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิคในครั้งนี้ได้กำหนดข้อตกลงที่จะมุ่งเน้นการขยายตลาดเพลงไทยสู่ตลาดโลก เพื่อต่อยอดมูลค่าของ Music IP Assets ของไทย โดยอาศัยศักยภาพของวอร์นเนอร์ มิวสิค เอเชียในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมดนตรีระดับโลก ขยายการรับรู้ของเพลงไทย และศิลปินไทยสู่ฐานผู้ฟังที่ใหญ่ขึ้นทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล สตรีมมิงอย่าง Spotify และ AppleMusic ซึ่งมียอดการใช้งานเติบโตมากที่สุด โดยเติบโตสูงถึง 86% และ 54% ตามลำดับในปีที่ผ่านมา 

“กลยุทธ์ดังกล่าวบริษัทจะได้ประโยชน์จากระบบการจัดจำหน่ายชั้นสูง คือ Global Distribution จากกลุ่มWarner (ADA)ที่สามารถสร้างรายได้ให้สูงขึ้นจากตลาดโลก และรักษาเสถียรภาพของรายได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการร่วมกันขยายธุรกิจบริหารศิลปิน และพัฒนาผลงานเพลงใหม่ๆ ของศิลปินจากทั้งสองฝ่าย ภายใต้เครือข่ายการบริหารศิลปินทั่วโลกของกลุ่ม Warner”

การลงทุนเชิงกลยุทธ์ของสองบริษัทจะเป็นรูปแบบ “Joint-Venture Operation” จัดตั้งค่ายเพลงเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตร่วมกัน ซึ่งจะมีการพัฒนาศิลปิน และเพลงใหม่ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น แลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญ และการเข้าถึงทรัพยากรด้านการผลิตระดับแนวหน้าของโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลงาน และตลาดเพลงไทยอีกทั้ง WMA ยังตกลงจ่าย Minimum Guaranteeที่ 315 ล้านบาท ต่อยอดมูลค่าของ Music IP Assets ให้จีเอ็มเอ็ม มิวสิคเพื่อสร้างการเจริญเติบโตของรายได้ต่อเนื่องตลอด 3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ การผสานจุดแข็ง แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทั้ง 2 ฝ่าย ยังเป็นการช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมเพลงไทย (Music Infrastructure)สู่การเป็นNew Music Economy ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา และใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ทั้งระบบ ตามแผนการ Spin-off IPO ที่ GMM Musicได้วางแผน และยึดมั่นเสมอมา”

ภายใต้ความร่วมมือนี้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค เชื่อมั่นว่าวอร์นเนอร์ มิวสิค เอเชียจะเป็นตัวเร่งอัตราการเติบโตทางธุรกิจที่สำคัญให้กับบริษัท ได้อย่างมีนัยสำคัญ บริษัทตั้งเป้าหมายในการทำกำไรสุทธิให้เติบโตอีกเท่าตัวภายในปี 2573 สอดรับกับแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงของโลกที่คาดการณ์ว่าจะทะยานเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัวในปีเดียวกัน

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...