‘เจเนอเรชันที่สูญหาย’ ของญี่ปุ่น ‘คนวัย 40’ ถูกแช่แข็งโอกาสงาน

คนกลุ่มที่ว่านี้ถูกเรียกกันว่าเป็น “เจเนอเรชันที่สูญหาย” หรือ “lost generation” โดยเป็นกลุ่มคนในวัย 40 และ 50 ต้นๆ

ในอดีต พวกเขาคือเด็กจบชั้นมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถหางานทำได้เพราะผลพวงเศรษฐกิจตกต่ำหลังฟองสบู่แตก ตลาดการจ้างงานในช่วงนั้นถูกเรียกว่าเป็น “ยุคน้ำแข็ง” (ice age) ลากยาวตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 จนถึงช่วงทศวรรษ 2000 ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับ “ความไม่มั่นคง” ในการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพ

ในปัจจุบัน พวกเขาคือกลุ่มคนที่ตกสำรวจทางโอกาส ไม่มีทั้งตำแหน่งงานบริหารระดับสูง และเงินเดือนก็ขึ้นน้อยมากจนถึงติดลบเมื่อเทียบกับเด็กรุ่นใหม่ๆ

เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียรายงานว่าเจเนอเรชันที่สูญหายเหล่านี้กำลังเผชิญกับปัญหาในการเติบโตทางอาชีพและการเติบโตของรายได้ เมื่อเทียบกับทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างของตลาดแรงงานญี่ปุ่น

แม้ว่าค่าจ้างโดยรวมของตลาดแรงงานญี่ปุ่นจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ข้อมูลแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนวัย 40-50 ปีนี้กลับได้รับผลบวกน้อยกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในตลาดแรงงานของญี่ปุ่น

ค่าจ้างคนรุ่นใหม่พุ่งสวนวัยกลางคน

ประเทศญี่ปุ่นเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่เกินระดับ 2% มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปีแล้ว สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลกที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น

ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการระบุว่า รายได้รวมต่อเดือนหรือค่าจ้างของคนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เมื่อเจาะลึกรายละเอียดพบว่าคนทำงานอายุ 20-30 ปี มีค่าจ้างเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 10,000 เยน (ประมาณ 2,428 บาท) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่คนทำงานอายุ 40 ปลายๆ มีค่าจ้างเพิ่มขึ้นเพียง 1,000 เยน (ประมาณ 242 บาท) ส่วนกลุ่มอายุ 50 ต้นๆ กลับมีค่าจ้างลดลง

พนักงานสำนักพิมพ์ชายวัย 40 ปีเศษรายหนึ่งผู้ใช้ชีวิตในโตเกียว เล่าว่า สมัยอายุ 30 ยังไม่ได้เป็นพนักงานประจำ เคยเผชิญกับปัญหาเรื่องรายได้ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ พนักงานอีกคนในวัยเดียวกัน เล่าว่า ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ ได้โบนัสน้อยมาก เงินเดือนก็ขึ้นช้า ช่วงวัย 20 กลางๆ รายได้ต่อปีแค่ราว 1 ล้านเยน น้อยกว่าคนทำงานวัยเดียวกันในสมัยนี้ 

กลุ่มคนที่ถูกละเลย

ในยุคน้ำแข็งที่การหางานยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร คนรุ่นใหม่ที่ได้งานทำประจำมักต้องเผชิญอุปสรรคในการก้าวหน้าในอาชีพอย่างหนัก โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญคือพนักงานรุ่นเก่าที่เข้ามาทำงานในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู มักครองตำแหน่งสำคัญและมีความมั่นคงในงานสูง ทำให้คนรุ่นใหม่ยากที่จะก้าวขึ้นไปแทนที่ นอกจากนี้การเลื่อนอายุเกษียณออกไปยิ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมาก

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในโครงสร้างผู้บริหารระดับสูง โดยสัดส่วนของผู้จัดการอาวุโสวัย 50 ต้น ๆ ลดลง 1.7 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้บริหารวัย 60 ต้น ๆ เพิ่มขึ้น 0.9 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่วัย 30 ต้น ๆ ก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.1 เปอร์เซ็นต์

นอกเหนือจากปัญหาการถูกแทนที่จากคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าแล้ว บุคคลในยุคน้ำแข็งยังเผชิญกับอุปสรรคในการเปลี่ยนงานอีกด้วย เนื่องจากประสบการณ์การทำงานที่จำกัดในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา ทำให้ขาดทักษะและเครือข่ายที่จำเป็นต่อการหางานใหม่

การสำรวจของกระทรวงแรงงาน พบว่าพนักงานชายวัย 40 ปลาย ๆ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มยุคน้ำแข็งมีอัตราการลาออกจากงานเพียง 5.4% ต่ำกว่าพนักงานวัย 30 ปลาย ๆ ถึง 2.3% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มนี้มีความลังเลในการเปลี่ยนงานมากกว่า ขณะที่พนักงานวัย 20 และ 30 ปี ราว 40% จะได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างหลังจากเปลี่ยนงาน แต่สำหรับกลุ่มยุคน้ำแข็ง สถานการณ์กลับตรงกันข้ามเพราะมีโอกาสได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างเพียง 30% เท่านั้น

นอกจากนี้พนักงานยุคน้ำแข็งยังถูกมองข้าม แม้ว่าบริษัทต่างๆในญี่ปุ่นเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเร่งให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปรับปรุงสภาพการทำงานเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาทำงานและรักษาพนักงานที่มีอยู่ให้คงอยู่ แต่นายจ้างหลายแห่งลังเลที่จะปรับขึ้นค่าจ้างให้กับพนักงานกลุ่มนี้

โทชิฮิโระ นากาฮามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัย Dai-ichi Life อธิบายว่า นายจ้างเหล่านี้มีแนวคิดว่าพนักงานยุคน้ำแข็งมีโอกาสในการเปลี่ยนงานน้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ จึงไม่จำเป็นต้องให้สวัสดิการที่ดี

คนวัย 40 เกษียณลำบากขึ้น

คนญี่ปุ่นช่วงวัยเลข 4 กำลังเผชิญกับวิกฤตการเงินส่วนบุคคล จากข้อมูลพบว่าสัดส่วนของคนวัย 40 ปีที่มีสินทรัพย์ทางการเงินรวมน้อยกว่า 1 ล้านเยน (ราว 2.3 แสนบาท) เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คิดเป็น 14% ของประชากรทั้งหมดในปี 2566

ยูสึเกะ ชิโมดะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งสถาบันวิจัยญี่ปุ่น ระบุว่ากลุ่มคนวัยนี้กำลังเผชิญกับความเสี่ยงในการ “เกษียณอายุที่ยากลำบาก” หากไม่มีการวางแผนทางการเงินที่ดี เนื่องจากสินทรัพย์ที่น้อยอาจไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตในช่วงเกษียณอายุ เนื่องจากสวัสดิการและระบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไป

สวัสดิการการจ้างงานตลอดชีวิตที่เคยเป็นจุดเด่นของบริษัทญี่ปุ่นกำลังค่อยๆ หายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพนักงานในยุคน้ำแข็ง หากไม่มีการพัฒนาทักษะใหม่ๆ เช่น ทักษะด้านดิจิทัล ก็อาจจะไม่ได้รับการปรับเงินเดือนหรือเลื่อนตำแหน่ง ทำให้ขาดความมั่นคงในอาชีพ และอาจต้องเผชิญกับการถูกแทนที่ด้วยพนักงานรุ่นใหม่ที่มีความสามารถมากกว่า

ความเหลื่อมล้ำทางรายได้กำลังกัดเซาะระบบสวัสดิการสังคม เมื่อคนส่วนใหญ่มีรายได้น้อยลง การสนับสนุนระบบสวัสดิการเช่น การจ่ายเบี้ยประกันสังคม หรือการชำระภาษีก็ลดลงตามไปด้วย ทำให้รัฐบาลขาดเงินทุนในการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง ผลกระทบที่ตามมาคือ คุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมลดลงและอาจเกิดความขัดแย้งในสังคมได้

ยิ่งไปกว่านั้น เจเนอเรชันที่สูญหายจำนวนมากไม่สามารถแต่งงานได้เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าผู้สูงอายุที่ยังโสดจะมีปัญหาทางต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายของผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ดี ประชากรญี่ปุ่นประมาณ 20% เป็นคนในยุคน้ำแข็ง ดังนั้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ จำเป็นต้องเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีเงินทุนเพียงพอในการดูแลผู้สูงอายุและรักษาความยั่งยืนของประเทศ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...