สตง. ห่วงก่อสร้างทางเชื่อมพระราม2 ล่าช้า สั่ง ทางหลวง – กทพ. เร่งแก้ปัญหาด่วน

นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แถลงความคืบหน้าผลการตรวจสอบโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ของกรมทางหลวง จำนวน 3 สัญญา

ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ตอน 1 กรุงเทพมหานคร ตามสัญญาเลขที่ สส.23/2562 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2562 วงเงินตามสัญญา 3,994.400 ล้านบาท (โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอน 1)

ตอน 2 ตามสัญญาเลขที่ สส.21/2562 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2562 วงเงินตามสัญญา 3,991.986 ล้านบาท

และตอน 3 ตามสัญญาเลขที่ สส.22/2562 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2562 วงเงินตามสัญญา 2,491.000 ล้านบาท รวมมูลค่าตามสัญญาเป็นเงินทั้งสิ้น 10,477.386 ล้านบาท ซึ่งกรมทางหลวงคาดว่างานก่อสร้างทั้ง 3 สัญญาจะแล้วเสร็จเดือนพฤศจิกายน 2567

โฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า จากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่า การบริหารสัญญาอาจไม่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์หรือขาดประสิทธิภาพ กล่าวคือ โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอน 1 มีจุดเริ่มต้นการก่อสร้าง Main Line ที่ กม. 11+959 ซึ่งจะเชื่อมต่อกับ Main Line โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยผู้ใช้บริการจะสามารถเข้าใช้งานทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอน 1 ของกรมทางหลวงได้โดยผ่านเส้นทางต่อไปนี้

ผู้ใช้บริการที่มาจากถนนพระราม 2 สามารถเข้าใช้งานทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอน 1 โดยผ่านทางขึ้น-ลงบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางเคหะธนบุรี ตั้งอยู่ที่ กม.7+800 ซึ่งการก่อสร้างส่วนงานดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

ผู้ใช้บริการที่มาจากทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สามารถเข้าใช้งานทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอน 1 โดยผ่านทางขึ้น-ลงบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางแสมดำ ตั้งอยู่ที่ กม.12+200 ซึ่งการก่อสร้างทางขึ้น-ลงดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเช่นเดียวกัน

 

 

“โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอน 1 มีความก้าวหน้าของงาน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ร้อยละ 95.851 ซึ่งกรมทางหลวงคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 แต่จากการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พบว่ามีผลงานก่อสร้างสะสม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน อยู่ที่ร้อยละ 67.85 และคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2568

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้ว่ากรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอน 1 แล้วเสร็จตามแผนงานในเดือนพฤศจิกายน 2567 แต่ประชาชนผู้ใช้บริการจะยังไม่สามารถใช้งานได้จนกว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะดำเนินการก่อสร้างทางขี้น-ลงให้แล้วเสร็จ  ซึ่งอาจเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 8 เดือน ที่ประชาชนไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางยกระดับถนนพระราม 2  ตอน 1 ตลอดทั้งสายได้” โฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น สตง. จึงได้มีจดหมายบันทึกถึงอธิบดีกรมทางหลวงเพื่อขอให้ชี้แจงเหตุผลหรือข้อเท็จจริงพร้อมแสดงพยานหลักฐานเพิ่มเติม และกรมทางหลวงได้มีหนังสือชี้แจงสรุปได้ว่า กรมทางหลวงได้ประสานขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเร่งรัดก่อสร้างเสาตอม่อ MLP02-21 กม.10+300 ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อของโครงการ โดยคาดว่าจะก่อสร้างเสาตอม่อแล้วเสร็จและให้กรมทางหลวงติดตั้งชิ้นส่วนสะพาน Ramp Bk-7 และ Ramp BK-8 ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2567 และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีแผนเร่งรัดการก่อสร้าง Main Line ช่วง กม. 10+300 ถึง กม. 12+000 ระยะทางประมาณ 1.7 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2568 เพื่อรองรับการเปิดให้ประชาชนใช้บริการ

จากข้อเท็จจริงและคำชี้แจงของกรมทางหลวงข้างต้น สตง. พิจารณาแล้วเห็นว่า ระยะเวลาแล้วเสร็จที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยคาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน 2568 ยังคงล่าช้ากว่ากำหนดการแล้วเสร็จในส่วนงานของกรมทางหลวงที่กำหนดไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้บริการทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอน 1 ตลอดทั้งสายเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 เดือน ดังนั้น เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ของโครงการ  สตง.จึงได้มีหนังสือแจ้งให้อธิบดีกรมทางหลวงดำเนินการดังนี้

1. ดำเนินการประสานกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเพื่อร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางและมาตรการในการเร่งรัดการก่อสร้าง โดยปรับแผนการทำงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยให้สอดคล้องกับการดำเนินการก่อสร้างของกรมทางหลวงที่ใกล้จะแล้วเสร็จ โดยเฉพาะการเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับทางขึ้น-ลงของโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยให้แล้วเสร็จในเวลาใกล้เคียงกับทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอน 1 ของกรมทางหลวง เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้ประโยชน์จากทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอน 1 ได้ทันที

2. ในโอกาสต่อไป หากงานก่อสร้างของกรมทางหลวงมีส่วนงานที่ต้องเชื่อมต่อ หรือมีส่วนงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างของหน่วยงานอื่นในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ กรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันวางแผนการก่อสร้างโดยจัดลำดับความสำคัญของส่วนงานที่ควรทำก่อน-หลังให้ชัดเจน โดยเฉพาะการก่อสร้างของส่วนงานที่เป็นจุดเชื่อมต่อหรือส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก

3. กรณีโครงการก่อสร้างทางขนาดใหญ่มีการแบ่งย่อยหลายสัญญา หรือมีหน่วยงานที่ต้องแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบในการก่อสร้างทาง Main Line หลายหน่วยงาน กรมทางหลวงและหน่วยงานนั้นๆ ควรพิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่ความรับผิดชอบให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินการก่อสร้างระหว่างกัน เช่น การก่อสร้างทางขึ้น-ลงของทางยกระดับ ตอน 1 ควรกำหนดให้เป็นงานก่อสร้างส่วนหนึ่งในสัญญาก่อสร้างทางยกระดับ ตอน 1 ของกรมทางหลวง เป็นต้น  

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...