การท่องเที่ยวเชิง ‘ดนตรี-กีฬา’ ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจล้านล้านดอลล์

ผลการศึกษาใหม่จากคอลลินสัน อินเตอร์เนชันแนล พบ การท่องเที่ยวเชิงกีฬาและดนตรีเติบโตมากเป็นประวัติการณ์ และคาดว่าอุตสาหกรรมอาจโตแตะระดับ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2575

การท่องเที่ยวเชิงกีฬามีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 5.647 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2566 และคาดว่าอาจโตแตะระดับ 1.33 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 8 ปีข้างหน้า ส่วนการท่องเที่ยวเชิงดนตรีคาดว่าจะเติบโตอีก 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์ มากกว่ามูลค่าในปี 2566 ที่ระดับ 6.6 พันล้านดอลลาร์ ราว 2 เท่า

ขณะที่ผลสำรวจนักเดินทาง 8,537 คน จาก 17 ประเทศที่เดินทางไปร่วมอีเวนต์ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หรือมีแผนเดินทางในอีก 12 เดือนข้างหน้า พบว่า ผู้คนราว 83% เดินทางด้วยเครื่องบินเพื่อไปร่วมงานกีฬา ขณะที่อีก 7% เดินทางไปร่วมงานคอนเสิร์ต

คริสโตเฟอร์ รอสส์” ประธานคอลลินสันในยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา บอกว่า 

“ผู้คนให้ความสำคัญกับคุณค่าของประสบการณ์มากกว่าวัตถุ ถ้าคุณกำลังไปร่วมงานกีฬาหรืองานดนตรี ประสบการณ์ไม่ได้เริ่มต้นตอนคุณเดินเข้าสเตเดียม แต่เริ่มตั้งแต่การวางแผน การเดินทางด้วยตัวเอง และเจอกับความตื่นเต้น”

สำหรับสัดส่วนคน 83% ที่เดินทางไปร่วมงานกีฬา ล้วนมุ่งหน้าไปชมการแข่งขันฟุตบอลมากที่สุด รองลงมาเป็นบาสเกตบอล งานโอลิมปิก งานฟอร์มูลาวัน และการแข่งขันเทนนิส และแม้โลกมีเครือข่ายสตรีมมิ่งมากมายที่ทำให้ผู้คนถึงงานแข่งขันเหล่านั้นได้ แต่รอสส์บอกว่า “แฟนคลับกีฬาระดับโลก เน้นสัมผัสประสบการณ์จริงมากขึ้น”

ชมกีฬาต้องไปสนามจริง

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเดินทางไปชมฟุตบอลที่ขอบสนามมากถึง 69% ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เพิ่งเดินทางไปชมการแข่งขันสด หรือวางแผนไปชมในปีหน้า และยังมีกลุ่มคนที่เป็นผู้เข้าชมฟุตบอลโลกในกาตาร์ปี 2565 (แต่ไม่รวมกลุ่มคนวางแผนชมฟุตบอลโลกในปี 2569)

ขณะเดียวกัน “การแข่งขันฟอร์มูลาวัน” ก็ได้ความนิยมมากขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ นับตั้งแต่เน็ตฟลิกส์เผยแพร่สารคดี Drive to Survive โดยในปี 2562 แฟนคลับงานแข่งขัน F1 ราว 30% ต่างบอกว่าสนใจกีฬานี้ตั้งแต่รับชมสารคดีดังกล่าว และในปี 2566 การแข่งขันในช่วงสุดสัปดาห์ มีผู้เข้าชมเฉลี่ยมากกว่า 270,000 คน จาก  195,000 คน ในปี 2562

นอกจากผู้คนสนใจกีฬามากขึ้นแล้ว ราคาตั๋วงานแข่งขันก็แพงขึ้นด้วย โดยราคาตั๋วที่นั่งแบบไพรม์แกรนด์สแตนด์ของงาน F1 ในสหราชอาณาจักรช่วงฤดูร้อนสูงถึง 600 ยูโร หรือราว 23,000 บาท ขณะที่ตั๋วที่นั่งทั่วไปราคาสูงกว่า 400 ยูโร หรือมากกว่า 15,000 บาท ซึ่งแพงกว่าสองปีก่อน ที่มีราคาประมาณ 300 ยูโร หรือราว 11,500 บาท

รอสส์ กล่าวว่า บัตรเข้าชมเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงกีฬา เพราะเศรษฐกิจนี้ยังมีเรื่องของการใช้จ่ายที่พัก มื้ออาหาร ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายสินค้าและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก

แฟนกีฬาจ่ายหนักจัดเต็ม

การท่องเที่ยวเชิงกีฬาเป็นการท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายมากที่สุด โดยผู้คน 51% ใช้จ่ายไปกับค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ มากกว่า 500 ดอลลาร์ต่อทริป (มากกว่า 17,000 บาท) ซึ่งยอดดังกล่าวยังไม่รวมราคาตั๋วเข้าชมงานต่างๆ

การแข่งขัน F1 Grand Prix ในลาสเวกัส เมื่อเดือน พ.ย. 2566 สามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมืองได้ 1.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่างานซูเปอร์โบวล์ในปีนั้น ราว 50%

“เป็นเพราะคนหนุ่มสาว” รอสส์กล่าวถึงแฟนคลับงาน F1 ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มเติมในการท่องเที่ยวเชิงกีฬามากที่สุด “มันดูขัดกับความรู้สึกนะ เพราะคุณมักคิดว่าคนกลุ่มนี้มีรายได้หลังหักภาษีน้อย”

ขณะที่การเดินทางเพื่อเข้าชมกีฬาอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้นไม่แพ้กัน

โอลิมปิกฤดูร้อนในกรุงปารีสปีนี้ ที่ว่ากันว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ยังคงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากพอที่จะหนุนให้ยอดจองในแอร์บีเอ็นบี (Airbnb) แพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว พุ่ง 133% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน และคาดว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายค่าที่พัก ค่าตั๋วเครื่องบิน และตั๋วชมการแข่งขัน ประมาณ 5,000 ดอลลาร์ (ราว 1.76 แสนบาท) ต่อคน

นอกจากนี้ บรรดาแฟนกีฬาต่างยินดีที่จะใช้จ่ายในสนามบินด้วยเช่นกัน เนื่องจากจากผลการศึกษาพบว่า แฟนกีฬามากกว่า 50% ใช้จ่ายในสนามบินเพียงอย่างเดียวราว 500 ดอลลาร์ (ราว 17,000 บาท) หรือมากกว่านั้น โดยกลุ่มที่ใช้จ่ายสูงสุดคือคนในช่วงวัย 25-34 ปี และ 1 ใน 3 ของคนกลุ่มนี้ใช้จ่ายในสนามบินมากกว่า 1,000 ดอลลาร์ (ราว 34,000 บาท) ขณะรอออกเดินทาง

คอนเสิร์ตหนุนเศรษฐกิจ

คอลลินสันยังได้กล่าวถึงงานดนตรีขนาดใหญ่หลายแห่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น ร็อคอินริโอ, โคเชลลา รวมถึงอีราส์ทัวร์ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่เป็นงานดนตรีทำสถิติทางเศรษฐกิจเป็นประวัติการณ์

ตามข้อมูลของยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ระบุ แฟนคลับของสวิฟต์หนุนยอดขายตั๋วเดินทางไปยังเมืองมิลาน ในอิตาลี และเมืองมิวนิก ในเยอรมนี เติบโต 45% ในช่วงที่มีจัดคอนเสิร์ตปีนี้ เมื่อเทียบกับปีก่อน และการทัวร์คอนเสิร์ตของสวิฟต์ หนุนให้ยอดจองโรงแรมระดับท็อปเทียร์ของกรุงปารีส พุ่งสูงมากกว่ายอดจองโรงแรมในงานโอลิมปิกเสียอีก

สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมบริการ คำถามสำคัญคือ “ธุรกิจจะสร้างรายได้จากเทรนด์เหล่านี้ได้อย่างไร” 

คอลลินสันยกตัวอย่างเครือโรงแรมหรูแมริออท อินเตอร์เนชันแนล ใช้อีราส์ทัวร์ดึงดูดสมาชิกใหม่ด้วยการเสนอโปรแกรมสิทธิประโยชน์ว่า สมาชิกมีสิทธิได้ตั๋วคอนเสิร์ตฟรีจากการจับฉลาก ขณะที่กลุ่มโรงแรม Auberge Resorts Collection ร่วมมือกับเมอร์เซเดส-เบนซ์ เตรียมจัดคอนเสิร์ตซีรีส์ใหม่ในเดือน ต.ค. ณ รีสอร์ตฟาร์มแบล็กเบอร์รี ในรัฐเทนเนสซี โดยจะมีการแสดงจากนักร้องชื่อดังมากมาย และตั๋วคอนเสิร์ตมีราคาเริ่มต้น 1,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 35,000 บาท

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...