ทุนจีนแห่ลงทุนอสังหาไทยแสนล้าน ชูกลยุทธ์ราคาสู้! ยึดหัวหาดเมืองศก.

สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ  พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ กล่าวว่า การเข้ามาของเงินทุนจากประเทศจีนทั้งรูปแบบ “ลงทุนโดยตรง” และเข้ามา “ร่วมกับคนไทย” หรือ “บริษัทไทย” เพื่อลงทุนหรือพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ หรือจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อทำธุรกิจในไทยนั้นมีมากขึ้นต่อเนื่อง 

หากพิจารณาข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า “จีน” มีมูลค่าการลงทุน 382,061 ล้านบาท เป็นอันดับ 3 สัดส่วน 9.48% รองจากญี่ปุ่น เป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่า 993,355 ล้านบาท สัดส่วน 24.65% อันดับ 2 สิงคโปร์ 473,572 ล้านบาท สัดส่วน 11.75%  จะเห็นว่า นิติบุคคลที่ได้เงินลงทุนจากจีน แม้จะเป็นอันดับ 3  ห่างญี่ปุ่น และสิงคโปร์ค่อนข้างมาก แต่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยปี 2567 มากกว่าปี 2566 ประมาณ 13% 


 

เมื่อดูข้อมูลนิติบุคคลที่มีเงินลงทุนจากจีน ธุรกิจที่นักลงทุนกลุ่มนี้ให้ความสนใจ อันดับแรก ได้แก่ การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ สำหรับยานยนต์ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น มูลค่า 19,474.88 ล้านบาท จำนวน 156 ราย ตามด้วย การผลิตยางล้อและยางใน มูลค่า 16,867.31 ล้านบาท จำนวน 17 ราย การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย มูลค่า 14,626.08 จำนวน  2,471 ราย การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น 13,656.88 ล้านบาท จำนวน  55 ราย และ การผลิตและการส่งไฟฟ้า มูลค่า 12,936.34 จำนวน 77 ราย 

คนจีนเน้นลงทุนไม่ใช่เพื่อพักอาศัย

สุรเชษฐ ขยายความต่อว่า นักลงทุนหรือนักธุรกิจจากจีนให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ “ไม่ใช่” เพื่อเป็นที่พักอาศัย เข้าใจง่ายๆ คือ การเข้ามาจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อลงทุนในคอนโดมิเนียมในประเทศไทย หรือ นอมินี อาจมีบางส่วนตั้งนิติบุคคลเพื่อบริหารจัดการคอนโดมิเนียมที่ซื้อไว้เพื่อลงทุนปล่อยเช่า ทั้งในรูปแบบปล่อยเช่าระยะยาวและระยะสั้น

“นิติบุคคลเหล่านี้มีการจัดตั้งตามกฎหมายประเทศไทยแบบ 100% มีเงินลงทุนที่ชัดเจนว่ามาจากจีน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อยที่เข้ามาไทยเพื่อซื้อคอนโดมิเนียมเท่านั้น! แต่ยังมีนักลงทุนอีกประเภทที่เข้ามาไทยจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยมีกรรมการบริษัทส่วนหนึ่งและคนที่มีอำนาจลงนามในบริษัทเป็นคนจีน”

กลุ่มผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน หรือ ร่วมทุน เพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมีทั้งแบบเข้ามาด้วยตัวเองแล้วเปิดบริษัท หรือ ร่วมทุนกับคนไทยเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบต่างๆ หรือเข้ามาแบบบริษัทต่างประเทศจากนั้นหาผู้ร่วมทุนเป็นรายโครงการ โดยจดทะเบียนตั้งบริษัทร่วมทุนเป็นรายโครงการ

“ประเภทหลังอาจหาตัวตนหรือความน่าเชื่อถือได้ยาก! และขาดความต่อเนื่อง เพราะชื่อบริษัทเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ กลุ่มบริษัทที่มีกรรมการ หรือ ผู้ร่วมทุนหลักเป็นชาวต่างชาติในประเทศไทยในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขายเป็นหลักในไทยส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีกรรมการส่วนหนึ่งเป็นคนจีน แม้ว่าบริษัทจะจดทะเบียนเป็นบริษัทไทยตามกฎหมายไทยก็ตาม”

จีนเน้นบริหารจัดการเองต่างจากญี่ปุ่น

ทั้งนี้ นักลงทุนจีน หรือ บริษัทจากจีน มักจะบริหารหรือจัดการทุกอย่างเอง ต่างจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่เลือกลงแต่เงินและให้บริษัทไทยเป็นฝ่ายบริหารจัดการทุกอย่าง ดังนั้น จึงอาจไม่ค่อยเห็นบริษัทจีนร่วมทุนกับบริษัทไทยมากเหมือนญี่ปุ่น แต่รูปแบบการเข้ามาซื้อกิจการ อาคาร โครงการ ที่ดิน โดยบริษัทจีนที่เข้ามาตั้งบริษัทย่อยหรือบริษัทสาขาในประเทศไทย รวมไปถึงการเข้ามาตั้งบริษัทที่มีกรรมการส่วนหนึ่งเป็นคนไทยนั้นจะมีมากกว่า

สำหรับบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขายแล้วมีกรรมการส่วนหนึ่งเป็นคนจีนนั้น จากข้อมูล พบว่า หลายบริษัทข้างต้นไม่เคยพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มาก่อน หรือไม่เคยทำอสังหาริมทรัพย์มาก่อนในต่างประเทศ แต่มาทำธุรกิจอื่นๆ ในไทยแล้วประสบความสำเร็จมีรายได้เยอะ จึงสนใจลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย หรือ โรงแรม ทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวต่างๆ 

“อาจจะมีมากกว่านี้ แต่ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงมากนัก หรือทำแบบไม่ออกหน้าว่าเป็นโครงการหรือเป็นเงินทุนของคนจีน อาจมีบางบริษัทที่ไม่มีความเคลื่อนไหวแล้ว ไม่มีการเปิดขายโครงการใดๆ หรือโครงการที่เปิดขายก่อนหน้านี้ก็เงียบไปแล้ว”

นอกจากนี้ มีหลายบริษัทปิดการขายและส่งมอบโครงการของตนเองได้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือ อาจมีปัญหาขลุกขลักบ้างถ้าทีมงานของบริษัทเป็นคนจีน เพราะขั้นตอนการตรวจรับบ้านหรือคอนโดมิเนียมในไทยอาจแตกต่างจากที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่สุดท้ายก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี บางบริษัทอาจมีปัญหาในโครงการที่ 1-3 จากนั้นค่อยๆ ปรับเปลี่ยนระบบ รูปแบบการทำงาน รูปแบบโครงการให้สอดคล้องกับสถานการณ์และกำลังซื้อของคนไทย

กลุ่มทุนจีนยังคงต้องการรายได้จากโครงการในไทยต่อเนื่อง อาจมีบางบริษัทที่พัฒนาเพียง 1 โครงการแล้วปิดบริษัทไปเลยทันทีที่โอนกรรมสิทธิ์ครบถ้วน 100% จากนั้นค่อยจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อพัฒนาโครงการใหม่ในอนาคต

“บริษัทที่มีการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในด้านพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยขายในประเทศจีนหรือประเทศต่างๆ เมื่อเข้ามาพัฒนาโครงการในไทย ก็ต้องมีผู้ซื้อที่เป็นคนจีนตามมาด้วยแน่นอน เพราะมีการทำการตลาด หรือ เปิดขายโครงการในจีน โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่สามารถขาย 49% ให้ชาวต่างชาติเข้ามาถือกรรมสิทธิ์ได้” 

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่หลายโครงการของบริษัทเหล่านี้จะมีสัดส่วนผู้ซื้อต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีนที่ค่อนข้างสูงอาจมีบ้างที่เต็มโควตา 49%

ชูกลยุทธ์ราคาสู้มากกว่าสร้างแบรนด์

อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล่านี้ยังต้องการกำลังซื้อคนไทยเป็นหลัก เพราะในระยะยาวการเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อคนไทยและสามารถทำให้คนไทยเลือกซื้อคอนโดมิเนียม หรือ บ้านจัดสรรของพวกเขาได้ จะเป็นการดีกว่าพึ่งพาเฉพาะกำลังซื้อคนจีนหรือชาวต่างชาติเท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่สามารถขายคนไทยได้ หรือขายได้น้อยมากจนไม่สามารถปิดการขายได้แบบที่เห็นในบางโครงการของบริษัทเหล่านี้ 

บริษัทที่ต้องการอยู่ในระยะยาวจึงต้องมีการปรับรูปแบบโครงการ วิธีคิด ฯลฯ ให้สอดคล้องกับตลาดและความต้องการของคนไทย ไม่สามารถยกรูปแบบการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในจีนมาไทยได้

“หลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจากจีนอาจดูเงียบลงไปตามเศรษฐกิจจีนและปัญหาของบริษัทแม่ของพวกเขา แต่ก็ยังมีหลายบริษัทที่เดินหน้าพัฒนาโครงการใหม่ต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าแบรนด์จีนไม่ค่อยทำตลาด เพราะกลัวถูกต่อต้านและความรู้สึกคนไทยที่มีต่อแบรนด์จีนไม่ดีเท่ากับญี่ปุ่น จีนจึงเน้นราคาเป็นหลัก”

ต่างชาติซื้อคอนโด75%เช่าที่ดิน 99 ปีจูงใจทุนจีน

อย่างไรก็ตาม การปรับโควตาคอนโดมิเนียมเป็น 75% ให้กับชาวต่างชาติ รวมถึงการเช่าที่ดินได้ 99 ปี หากมีการจัดตั้งเป็นทรัพย์อิงสิทธิ์ ทั้ง 2 เรื่องนี้ อาจเป็นปัจจัยที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว กรณีที่ทั้ง 2 เรื่องผ่านการพิจารณาและประกาศเป็นกฎหมาย

“ผู้ประกอบการต่างชาติโดยเฉพาะจีน อาจมองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยให้พวกเขาสร้างรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยได้มากขึ้นแน่นอน แม้ว่าช่วงนี้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จากจีน ยังมีปัญหาในประเทศให้แก้ไขก่อนก็ตาม แต่ถ้ากฎหมายผ่านแล้วพวกเขาฟื้นตัวก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ แน่นอนว่า...ผู้ประกอบการไทยที่คาดหวังว่าจะขายให้ชาวต่างชาติอาจไม่เป็นไปตามที่คิดก็ได้”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...