'เศรษฐา' สั่ง 'กฤษฎีกา - สภาพัฒน์' ร่วมศึกษามิกซ์ยูสท่าเรือคลองเตย

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ โดยระบุว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ศึกษาโครงการดังกล่าวอย่างละเอียดรอบคอบ พร้อมทั้งให้เพิ่มหน่วยงานกลางเพื่อเข้ามาช่วยศึกษา ซึ่งขณะนี้มี 2 หน่วยงานที่จะเข้ามาช่วย ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.

อย่างไรก็ดี ตามนโยบายรัฐบาลยืนยันว่าโครงการศึกษานี้ ไม่ได้ย้ายท่าเรือกรุงเทพ แต่จะเป็นการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ให้มีขีดความสามารถมากขึ้น จากเดิมที่เป็นโครงการพัฒนาแนวราบ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้พื้นที่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จึงศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการแนวสูง ที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับประชาชนโดยรอบท่าเรือกรุงเทพ

ขณะเดียวกัน การเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือกรุงเทพ กทท.จะศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยโครงการเชิงพาณิชย์ต่างๆ ต่อยอดในเรื่องของการขนส่งให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มโอกาสในการท่องเที่ยว รองรับเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว และกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดยเรื่องเหล่านี้นายกรัฐมนตรีให้ศึกษาเป็นไปตามกระบวนการ เน้นย้ำว่าต้องรอบคอบ แต่เรื่องเร่งรัดที่ต้องทำทันทีคือ การขยายขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือระนอง เพื่อรองรับโครงการแลนด์บริดจ์

“ตอนนี้เพิ่ม 2 หน่วยงานเข้ามาช่วยศึกษาโครงการให้รอบคอบมากขึ้น โดยจะมีทางกฤษฎีกา และ สศช. เข้ามาช่วย ซึ่งยังไม่ได้มีการนัดประชุม เพราะนายกฯ เพิ่งมอบหมายให้เพิ่มหน่วยงานเข้ามา คาดว่าเร็วๆ นี้จะประชุมร่วมกันครั้งแรก โดยเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน นายกฯ เน้นย้ำให้ศึกษาไปตามกระบวนการ”

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายให้ กทท.นำผลการศึกษาฉบับล่าสุดในปี 2562 เกี่ยวกับแผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ มาเป็นข้อเสนอของการพิจารณาทบทวนแผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ โดยภายใต้แผนที่ดำเนินการศึกษามานั้น จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด 2,353 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่เชิงพาณิชย์ในลักษณะผสมผสาน (Mixed-Use) โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย Smart Community ในลักษณะที่อยู่อาศัยแนวสูง และการพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว

วางบทบาทฮับขนส่งประเทศ 

อีกทั้งยังมอบหมายให้ กทท. สร้างรูปแบบธุรกิจ และกิจกรรมใหม่ที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ และตอบสนองความต้องการของผู้นำเข้า - ส่งออก เพื่อให้ท่าเรือกรุงเทพพัฒนาเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ที่สำคัญของประเทศ โดยส่งเสริมให้ท่าเรือกรุงเทพเป็นศูนย์กลางการให้บริการร่วมกับท่าเรือเอกชนในแม่น้ำเจ้าพระยา (Chaophraya Super Port) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ร่วมกับภาคเอกชน

นอกจากนี้ ยังดำเนินโครงการเขตปลอดอากร (Bangkok Port Free Zone) สร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจ และกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า คาดว่าจะมีรายได้จากการดำเนินการ 6-7 ล้านบาทต่อปี รวมไปถึงท่าเรือกรุงเทพยังมีแผนขยายขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้า คลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้าในอนาคต ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตกเป็นท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ และโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า และศูนย์เชื่อมโยงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

ด้าน นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย​ (กทท.) กล่าวว่า ผลการศึกษาพัฒนาท่าเรือกรุงเทพฉบับล่าสุดในปี 2562 จะมีการพัฒนาพื้นที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งในพื้นที่ท่าเรือ จะปรับปรุงให้เป็นท่าเรือสีเขียว บริการสายการเดินเรือด้วยระบบเทคโนโลยีต่างๆ ส่วนพื้นที่นอกเขตท่าเรือจะมีการพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส ซึ่งเคยมีการศึกษาไว้ทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การประชุม และที่อยู่อาศัยต่างๆ

จัดการพื้นที่ใช้ประโยชน์หลากหลาย

ขณะเดียวกัน กทท.ยังมีข้อเสนอในการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ด้วยโครงการใหม่ที่เกิดขึ้น อาทิ กิจการท่าเรือรองรับเรือสำราญเพื่อการท่องเที่ยว และการปรับปรุงท่าเรือชายฝั่ง และท่าเรือขนส่งทางทะเล ให้เป็นระบบอัตโนมัติ ถือเป็นการย่อส่วนท่าเรือขนส่งสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหา ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก แต่สามารถจัดสรรระบบขนส่งสินค้าให้รองรับตู้ขนส่งสินค้าในปริมาณเท่าเดิม ลดจำนวนรถบรรทุกเข้าออกพื้นที่ท่าเรือ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและสร้างมลภาวะ

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับผังโครงการแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือคลองเตยของ กทท. บนที่ดินรวม 2,353 ไร่ มีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท ก่อนหน้านี้ถูกจัดสรรออกเป็น 5 กลุ่มพัฒนา ประกอบด้วย

  • กลุ่มพัฒนาพื้นที่ A อาทิ อาคารสำนักงานท่าเรือใหม่ และอาคารสำนักงานเช่าเอกชน, โครงการที่พักอาศัย,โครงการพัฒนา Medical Hub, อาคารสำนักงาน, Smart Community, อาคารอยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการพนักงานการท่าเรือ, อาคารอยู่อาศัยประเภทเช่า และ Retail Mixed use
  • กลุ่มพัฒนาพื้นที่ B อาทิ Smart Port (กึ่งอัตโนมัติ), ท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออก, ท่าเทียบเรือสินค้าชายฝั่ง
  • กลุ่มพัฒนาพื้นที่ C อาทิ พื้นที่ Cruise Terminal, Retail Mixed use, อาคารสำนักงาน, พื้นที่พาณิชย์ Duty Free, โรงแรม, พื้นที่พาณิชยกรรม, อาคารจอดรถ, ศูนย์ฝึกอบรม, พื้นที่ศูนย์อาคารแสดงสินค้า และอาคารสาธารณูปโภค
  • ส่วนพื้นที่รองรับในการพัฒนาอนาคต X อาทิ พื้นที่คลังเก็บสินค้า, สำนักงาน E- Commerce, พื้นที่จอดรถบรรทุก, พื้นที่ ปตท.เช่าใช้
  • กลุ่มพัฒนาพื้นที่ G อาทิ Sport Complex และสวนสาธารณะ

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...