ทรัมป์ 2.0 จ่อใช้‘นิวเคลียร์’ ถล่มสงครามการค้าจีน

แม้นโยบายเศรษฐกิจของโจ ไบเดน จะเน้นการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์กับจีน ทว่า นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าส่วนใหญ่คาดว่า ทรัมป์จะสะบั้นและบั่นทอนความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลกให้เสื่อมถอยต่อไปอีก

“ชัยชนะของทรัมป์เป็นไปได้มากว่าจะเพิ่มความเป็นศัตรูทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐกับจีนมากขึ้น เพิ่มการตัดขาดทางการค้าและการเงินระหว่างสองประเทศ” เอสวาร์ ปราสาท อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ กล่าวกับซีเอ็นบีซี

ทรัมป์ถูกคาดหมายมากว่าต้องเจอกับรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส หลังไบเดนถอนตัวออกไปแล้วรับรองเธอลงชิงตัวแทนพรรคเดโมแครตสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน พ.ย. ปราสาทและผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ มองว่า แนวทางที่แฮร์ริสใช้กับจีนน่าจะคล้ายกับไบเดน

 จะว่าไปแล้วทั้งทรัมป์และไบเดนต่างมีท่าทีกีดกันทางการค้า แต่ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีแต่งกันอย่างมาก

“ทรัมป์พึ่งพาการเก็บภาษีนำเข้าจากจีน ส่วนไบเดน แม้ยังคงภาษีเหล่านั้นไว้แถมเก็บภาษีเพิ่มจากสินค้าบางตัว กลับเน้นการจำกัดจีนไม่ให้เข้าถึงการถ่ายโอนเทคโนโลยีและชิปคอมพิวเตอร์มากขึ้น” ปราสาท อดีตหัวหน้าฝ่ายศึกษาการเงินและฝ่ายจีนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ให้ความเห็นเพิ่มเติม

  • มนุษย์ภาษี

สิ่งที่แตกต่างมากที่สุดของทรัมป์จากนโยบายการค้าในยุคไบเดน น่าจะเป็นการเก็บภาษีจีน ทรัมป์ผู้ประกาศตนเป็น “มนุษย์ภาษี” เริ่มต้นทำสงครามการค้ากับรัฐบาลปักกิ่งตอนเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก เขาเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนหลายระลอก มูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ โดยไม่สนคำเตือนที่ว่า ภาษีดังกล่าวจะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นสร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภค

ส่วนไบเดนเมื่อเอาชนะทรัมป์ได้ในปี 2563 ยังคงภาษีจากยุคทรัมป์ไว้แล้วเก็บเพิ่มเติมอีกราว 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ จากสินค้าจำพวกรถยนต์ไฟฟ้า โซลาร์เซลส์ แบตเตอรีลิเทียม เหล็กและอลูมิเนียม

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า แฮร์ริสน่าจะคงนโยบายภาษีของไบเดนเอาไว้ ขณะที่ทรัมป์เสนอเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่ 60% เป็นอย่างน้อย

“ผมไม่แน่ใจว่าทรัมป์จะยินดีใช้มาตรการสุดโต่งแบบนั้นหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าเขาน่าจะขึ้นภาษีไปถึงระดับหนึ่งในช่วงดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2” สตีเฟน เวย์เมาธ์ อาจารย์ด้านเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์กล่าว

 นักเศรษฐศาสตร์นาม สตีเฟน โรช เผยว่า การที่ทรัมป์เพิ่มภาษีในการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 “เปรียบได้กับการใช้นิวเคลียร์” ในความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

วิลเลียม เรนช์ ประธานฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศ ศูนย์ยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา กล่าวว่า ภาษีเสี่่ยงทำให้เกิดสงครามการค้าอีกครั้ง ยุติการแลกเปลี่ยนสินค้าส่วนใหญ่ระหว่างสหรัฐกับจีนในระดับที่ต้องใช้ “ต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล”

ต่อให้ทรัมป์ไม่ได้มีเป้าหมายตัดขาดเต็มตัว แต่แค่บีบให้ปักกิ่งเจรจาทำข้อตกลงการค้าที่เอื้อประโยชน์ให้สหรัฐมากขึ้น ก็มีเหตุผลน้อยมากให้เชื่อว่าวิธีการนี้ได้ผลในทัศนะของเรนช์

รัฐบาลทรัมป์บรรลุ “ข้อตกลงการค้าเฟสหนึ่งกับจีน” ในปี 2562 แต่ได้รับการปฏิบัติจริงเพียงไม่กี่ข้อ และเฟสต่อๆ มาก็ไม่เคยเกิดขึ้น

นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า การที่ทรัมป์เลือกเจดี แวนซ์ มาเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดี เป็นการส่งสัญญาณเพิมเติมว่า เขาเอาจริงกับแผนการขึ้นภาษี สมาชิกวุฒิสภาจากรัฐโอไฮโอรายนี้เป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันให้เก็บภาษีจีน แถมยังชี้ชัดว่า ประเทศนี้เป็นภัยคุกคามใหญ่สุดที่สหรัฐกำลังเผชิญ

“ถ้าผมเป็นผู้กำหนดนโยบายของจีน การเลือกแบบนี้คงทำให้ผมประสาทเสีย” อาร์เธอร์ ตง อาจารย์ด้านยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์กล่าว

  • เทควอร์

ในทางตรงข้าม นโยบายหลักของรัฐบาลไบเดน-แฮร์ริสเน้นที่การจำกัดการถ่ายโอนเทคโนโลยีของจีน และการอุดหนุนโดยตรงภายในประเทศเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคและซัพพลายเชนในสหรัฐ

รัฐบาลเพิ่มรายชื่อเทคโนโลยีและบริษัทจีนที่ต้องถูกสหรัฐควบคุมการส่งออกขึ้นอีกมาก เพื่อตัดกำลังอุตสาหกรรมเทคสำคัญในจีน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ทันสมัย ซึ่งรัฐบาลทรัมป์เคยออกมาตรการควบคุมคล้ายๆ กัน

รัฐบาลไบเดนยังประกาศระเบียบควบคุมการลงทุนของสหรัฐในบริษัทจีนที่พัฒนาเทคโนโลยีอ่อนไหว โดยอ้างความกังวลเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ

ความเคลื่อนไหวที่ถือว่าใหญ่สุดของไบเดนคือการลงนามกฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ในเดือน ส.ค.2565 จัดสรรงบประมาณเกือบ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ลงทุนผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ และทำวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับจีน

คริส มิลเลอร์ นักเขียนหนังสือเรื่อง “สงครามชิป” ตั้งข้อสังเกตว่าการควบคุมการส่งออกและกฎหมายชิปผ่านความเห็นชอบจากทั้งสองพรรค ดังนั้นนโยบายทำนองนี้น่าจะยังคงความสำคัญต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย.

“ผมคาดว่าสหรัฐจะเพิ่มความเข้มงวดขึ้นอีกหนึ่งหรือสองระดับ ไม่ว่าใครชนะการเลือกตั้งก็ตาม” นักเขียนคนดังแสดงทัศนะ

  • การทูต

รอร์รี แดเนียลส์ กรรมการผู้จัดการสถาบันนโยบายสังคมเอเชียกล่าวว่าสมัยที่ 2 สำหรับทรัมป์จะส่งผลต่อการทูตและการเจรจาของสหรัฐกับจีนนอกเหนือไปจากเรื่องการค้าเช่นกัน

สมัยทรัมป์นั้นช่องทางเจรจานโยบายระหว่างสองประเทศลดลงอย่างมาก ขณะที่รัฐบาลไบเดนเน้นย้ำความพยายามเกี่ยวข้องทางการทูต

ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลปัจจุบันยังพยายามประสานงานกับ “พันธมิตรใจเดียวกัน” มากยิ่งขึ้น เช่น ล็อบบี้ญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ให้ร่วมมือจำกัดเซมิคอนดักเตอร์

นิก มาร์โร หัวหน้านักวิเคราะห์การค้าโลกจากอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) คาดว่า รัฐบาลเดโมแครตในอนาคตจะยังคงใช้แนวทางพหุภาคีต่อไป แต่ทรัมป์จะใช้แนวทาง “ข้ามาคนเดียว” มากขึ้น ทำให้สหรัฐออกมาตรการมาใช้กับจีนได้รวดเร็วยิ่งกว่า แต่ไม่ว่าใครได้นั่งในทำเนียบขาว เขาเชื่อว่า ความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนจะยังคงไม่ราบรื่นในช่วงเวลาที่เหลือของทศวรรษนี้

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ดีมานด์ออฟฟิศย่านซีบีดีกทม.พุ่ง! รับอานิสงส์ต่างชาติย้ายสำนักงานใหญ่

ปัญญา เจนกิจวัฒนาเลิศ กรรมการบริหารหัวหน้าส่วนพื้นที่สำนักงาน บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย...

แรงเหวี่ยง“ลานีญา-ส่งออกสัญญาณดี” หนุนจีดีพีเกษตรปี67โต0.2-1.2%

ตั้งแต่ไทยเข้าสู่ฤดูฝน (20 พ.ค. 2567) ถึง ณ วันที่ 27 ส.ค. 2567 มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากอุท...

ถ้าจะลาออก จะ ”บอกเจ้านายยังไงดี” ให้เกิดผลดีกับทุกฝ่าย !?

Part.1.เรื่องธรรมดา กับ เรื่อง ไม่ธรรมดา เมื่อพนักงาน ลาออก !? เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่แต่ละที่...

เตรียมโรดทริป 'อันดามัน' เส้นทางใหม่ ถนนเลียบชายฝั่ง เชื่อม 6 จังหวัดยอดฮิต !

โครงการศึกษาความเหมาะสมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง – สตูล หนึ่งใ...