‘ซาอุฯ’ ทุ่ม 1 แสนล้าน มุ่งขึ้นแท่นผู้ผลิต ‘เชลล์แก๊ส’ เบอร์ 3 ของโลก

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า “ซาอุดีอาระเบีย” ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก วางแผนลงทุนกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน (Shale Gas) เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐ และรัสเซีย เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศกำลังมุ่งสู่สังคมปลอดคาร์บอน

พื้นที่สำคัญสำหรับแผนการของซาอุดีอาระเบียคือ “แหล่งก๊าซ Jafurah” ทางตะวันออกของประเทศ แหล่งก๊าซ Jafurah ถือเป็นแหล่งก๊าซหินดินดานที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง มีปริมาณสำรองที่ยืนยันแล้วที่ 229 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณก๊าซธรรมชาติเหลวที่ญี่ปุ่นนำเข้าเป็นเวลา 70 ปี โดย Shale Gas คือ ก๊าซธรรมชาติที่เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ที่อยู่ใต้ชั้นหินดินดาน เป็นเวลาหลายร้อยล้านปี

ทั้งนี้ บริษัทพลังงาน Saudi Aramco ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศได้ระบุว่า บริษัทคาดว่าจะลงทุนในแหล่งก๊าซ Jafurah อย่างน้อย 100,000 ล้านดอลลาร์ โดยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน บริษัททำการสั่งซื้องานก่อสร้างโรงงาน และงานอื่นๆ มูลค่าประมาณ 25,000 ล้านดอลลาร์ และมีการคาดการณ์ว่า การผลิตก๊าซจะเริ่มขึ้นในปี 2025

ซาอุดีอาระเบียจะนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาใช้ผ่านบริษัทผู้ให้บริการด้านน้ำมัน โดยอามีน นาสเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Saudi Aramco เคยประกาศไว้ว่า “การปฏิวัติก๊าซหินดินดานครั้งใหม่กำลังเกิดขึ้น”

นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียไม่ได้มองแค่แหล่ง Jafurah เพียงอย่างเดียว ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติทั้งหมดของซาอุดีอาระเบียจะเพิ่มขึ้น 60% จากระดับปี 2021 เป็น 21,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในปี 2030  ซึ่งเทียบเท่ากับก๊าซธรรมชาติเหลวประมาณ 150 ล้านตันต่อปี หากบรรลุเป้าหมายนี้ ประเทศคาดว่าจะกลายเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

ก๊าซที่ผลิตได้จะถูกนำไปใช้สำหรับผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ และวัตถุประสงค์อื่นๆ โดยในปัจจุบัน โรงไฟฟ้าของซาอุดีอาระเบียใช้ก๊าซธรรมชาติ 60% และน้ำมัน 40% ประเทศมีเป้าหมายที่จะยกเลิกการใช้ “น้ำมัน” ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษสูงออกจากระบบการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2030 โดยแทนที่ด้วยก๊าซ และพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งซาอุดีอาระเบียยังพิจารณาที่จะส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในอนาคตด้วย

เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนไปใช้ก๊าซหินดินดาน ซาอุดีอาระเบียประกาศในเดือนมกราคม ว่า จะหยุดแผนการขยายกำลังการผลิตน้ำมันดิบ จากเดิมทีประเทศมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นทั้งหมด 13 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2027

ตามการคาดการณ์ของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของอังกฤษอย่าง BP หากโลกประสบความสำเร็จในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ความต้องการน้ำมันในปี 2050 จะลดลง 70% เมื่อเทียบกับปี 2022 ขณะที่ความต้องการก๊าซธรรมชาติจะลดลงเพียง 50% แต่ถ้าหากยังคงมีกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม และแนวโน้มอื่นๆ ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ความต้องการน้ำมันจะลดลง 20% ในขณะที่ความต้องการก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้น 20%

คาเรน ยัง นักวิจัยอาวุโสจากมหาวิทยาลัมโคลัมเบีย กล่าวว่า “การมีแหล่งก๊าซธรรมชาติภายในประเทศ เป็นกลยุทธ์ความยั่งยืนสำหรับบริษัทพลังงานที่รัฐเป็นเจ้าของ เพื่อลงทุนในแหล่งผลิตภายในประเทศและลงทุนในแหล่งผลิตต่างประเทศ”

เธอเสริมว่า “เป็นสิ่งสมเหตุสมผลที่บริษัทเหล่านี้จะกระจายการลงทุน เช่นเดียวกับที่เราเห็นพวกเขากำลังทำในด้านพลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน รวมถึงความสามารถด้านพลังงานแบบครบวงจรในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการกลั่น”

อ้างอิง: nikkei

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ดีมานด์ออฟฟิศย่านซีบีดีกทม.พุ่ง! รับอานิสงส์ต่างชาติย้ายสำนักงานใหญ่

ปัญญา เจนกิจวัฒนาเลิศ กรรมการบริหารหัวหน้าส่วนพื้นที่สำนักงาน บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย...

แรงเหวี่ยง“ลานีญา-ส่งออกสัญญาณดี” หนุนจีดีพีเกษตรปี67โต0.2-1.2%

ตั้งแต่ไทยเข้าสู่ฤดูฝน (20 พ.ค. 2567) ถึง ณ วันที่ 27 ส.ค. 2567 มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากอุท...

ถ้าจะลาออก จะ ”บอกเจ้านายยังไงดี” ให้เกิดผลดีกับทุกฝ่าย !?

Part.1.เรื่องธรรมดา กับ เรื่อง ไม่ธรรมดา เมื่อพนักงาน ลาออก !? เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่แต่ละที่...

เตรียมโรดทริป 'อันดามัน' เส้นทางใหม่ ถนนเลียบชายฝั่ง เชื่อม 6 จังหวัดยอดฮิต !

โครงการศึกษาความเหมาะสมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง – สตูล หนึ่งใ...