อยากได้บ้าน ต้องแต่งงานก่อน นโยบายปั๊มลูกของ ‘สิงคโปร์’ ทำสถิติหย่าร้างพุ่ง

ในขณะที่สังคมหลายแห่งมักยึดถือค่านิยมว่า ควรมีบ้านมีรถก่อนแต่งงานเพื่อความมั่นคงในชีวิตคู่ แต่ใน “สิงคโปร์” นั้นกลับไม่ใช่ ต้องแต่งงานก่อนถึงจะซื้อที่อยู่ได้ ยิ่งแต่งงานเร็วก็ยิ่งมีโอกาสได้บ้านเร็วขึ้น นั่นก็เพราะประเทศกำลังเผชิญปัญหา “สังคมสูงวัย” เด็กเกิดน้อย ประกอบกับราคาที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงลิ่ว การหาที่อยู่อาศัยด้วยตัวเองจึงกลายเป็นเรื่องยาก

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีลูก รัฐบาลจึงใช้กลยุทธ์จูงใจผ่านนโยบายที่อยู่อาศัย ผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของแฟลตราคาประหยัดที่สร้างโดยรัฐบาล พร้อมเงินอุดหนุนจากรัฐ จำเป็นต้องผ่านพิธีหมั้นหมายหรือแต่งงานก่อน

ผลปรากฏว่าหนุ่มสาวตัดสินใจแต่งงานกันเร็วขึ้นเพื่อต้องการมีที่อยู่เป็นของตัวเอง เซเรนา หว่อง (Serena Wong) และแฟนถือเป็นตัวอย่างคู่รักที่ต้องการมีบ้าน พวกเขาต้องวางเงินมัดจำก่อน 40,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 1 ล้านบาท และต้องรอคอยอีก 5 ปีในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อซื้ออพาร์ตเมนต์ 3 ห้องนอนในราคา 620,000 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือราว 16 ล้านบาท ในย่านควีนส์ทาวน์ ซึ่งถ้าทั้งคู่ไม่ซื้อจากรัฐบาลแต่ไปซื้อจากตลาดขายต่อ จะมีราคาแพงขึ้นกว่า 50%

“พวกเรารู้ตรงกันว่า เราต้องการอะไรในความสัมพันธ์นี้ และมีแพลนจะแต่งงานกันอยู่แล้ว แต่ราคาบ้านได้เร่งทุกอย่างให้เร็วขึ้น” หว่อง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจวัย 28 ปีจากบริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่งกล่าว

หลังจากได้ที่อยู่แล้ว คู่รักจะต้องยื่นสำเนาใบทะเบียนสมรสให้กับคณะกรรมการการเคหะสิงคโปร์ (Housing & Development Board) ภายในสามเดือนหลังจากได้รับกุญแจห้องชุด

ทว่าในหลายปีที่ต้องรอห้องที่กำลังสร้าง ถ้าทั้งคู่เปลี่ยนใจหรือหย่าร้างกันก่อนจะถึงวันส่งมอบห้อง สิ่งที่จะตามมาก็คือ พวกเขาจะขาดทุนและต้องทิ้งเงินดาวน์สูงถึง 20% ไป

- แฟลตและตึกสูงในสิงคโปร์ (เครดิต: AFP) -

นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดเรื่องรายได้รวมของคู่รักที่ซื้อแฟลตใหม่ ไม่เกิน 14,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 3.7 แสนบาทต่อเดือน

ฟิลลิส คัม (Phyllis Kum) นักบัญชีวัย 25 ปีกล่าวว่า “ถ้ารายได้ของเราเพิ่มขึ้น เราอาจจะยื่นขอซื้อแฟลตไม่ได้” โดยเธอได้จองซื้อแฟลตมูลค่า 550,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 14 ล้านบาทเมื่อเดือนธันวาคม 2023 ซึ่งจะสร้างเสร็จในปี 2027 อีกทั้งต้องอยู่ในแฟลตนี้เป็นเวลาอย่างต่ำ 5 ปี ถึงจะสามารถขายต่อได้

แต่งงานมากขึ้น แต่การหย่าร้างก็สูงขึ้น

แม้ว่าโครงการแฟลต “สร้างตามสั่ง” (Build-to Order) สำหรับคู่รักจะช่วยกระตุ้นให้หนุ่มสาวสิงคโปร์แต่งงานกันมากขึ้น แต่ในอีกด้าน ก็เพิ่มอัตราการหย่าร้างให้สูงขึ้นตามไปด้วย

งานวิจัยที่เพิ่งเผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ พบว่า อัตราการแต่งงานและหย่าร้างของชาวสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่สิงคโปร์เปิดตัวโครงการแฟลตดังกล่าวในปี 2001 และขยายโครงการตั้งแต่ปี 2011

ข้อมูลวิเคราะห์ตั้งแต่ช่วงปี 2000 ไปจนถึงปี 2014 ของงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า “อัตราการแต่งงาน” ของผู้หญิงอายุ 25 ถึง 29 ปี เพิ่มขึ้นจาก 45% เป็นเกือบ 60% ส่วนอัตราการแต่งงานของผู้ชายอายุ 30 ถึง 34 ปี เพิ่มขึ้นจาก 22% เป็น 37%

ทว่าขณะเดียวกัน “อัตราการหย่าร้าง” ก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย โดยเพิ่มขึ้นจาก 4% เป็น 7.2% ในผู้หญิงอายุ 30 ถึง 34 ปี และจาก 3.5% เป็น 6.3% ในผู้ชายอายุ 35 ถึง 39 ปี โดยงานวิจัยให้คำอธิบายที่เป็นไปได้ว่า โครงการแฟลต “สร้างตามสั่ง” อาจเร่งรัดการตัดสินใจแต่งงาน

ซิง เทียน ฝู (Sing Tien Foo) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์และเป็นผู้ร่วมเขียนงานวิจัย กล่าวว่า “การแต่งงานไม่ควรเป็นเพียงเรื่องของที่อยู่อาศัย แต่ควรเป็นเรื่องของความรัก”

อาจารย์ท่านนี้กล่าวว่า งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาข้อมูลของประชากรประมาณ 2 ล้านคน ผลการวิจัยสรุปว่า คู่รักที่อาศัยอยู่ในแฟลตโครงการ Build-to Order มีแนวโน้มที่จะ “แต่งงานตอนอายุน้อยกว่า และมีโอกาสสูงที่จะอยู่ด้วยกันได้ไม่นาน” เมื่อเทียบกับคู่รักชาวสิงคโปร์ที่อาศัยอยู่ในที่อยู่ประเภทอื่น ๆ

- คู่รักสิงคโปร์ (เครดิต: AFP) -

ที่อยู่อาศัยกลายเป็นสาเหตุหย่าร้าง

โดโรธี ตัน (Dorothy Tan) รองหัวหน้าฝ่ายกิจการครอบครัวและการหย่าร้างของบริษัทกฎหมาย PKWA Law Practice LLC บอกว่า ค่าใช้จ่ายที่สูงของที่อยู่อาศัยและงานปรับปรุงบ้าน เป็นปัจจัยที่ทำให้คู่รักบางคู่ประสบปัญหาทางการเงิน จนถึงเป็นเหตุผลไปสู่การหย่าร้าง นอกจากนี้ คู่รักบางคู่ที่กำลังแยกทางกัน ยังตกลงกันไม่ได้ด้วยว่าใครควรได้กำไรจากการอยู่บ้านหลังเดิมต่อไป

นิโคเล็ตต์ บิกเกอร์สตาฟ (Nikolette Biggerstaff) ผู้ช่วยสัตวแพทย์หญิงวัย 29 ปีคนนี้เลิกรากับแฟนเก่าเมื่อปี 2019 ก่อนที่ทั้งคู่จะได้กุญแจคอนโดด้วยซ้ำ เธอเล่าว่า ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น และการตัดสินใจเลิกกัน เป็นไปด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย

เธอเล่าต่อว่า สามีเก่าที่ได้รับสิทธิ์ดูแลลูกสาววัย 6 ขวบ ได้ซื้อส่วนของเธอในห้องชุด หลังจากที่ทั้งคู่เขียนจดหมายอธิบายสถานการณ์ให้กับนิติบุคคลของโครงการ เธอเสริมว่า ตัวเธอเองก็ไม่สามารถที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในบ้านและค่าผ่อนบ้านต่อไปได้ ดังนั้นนี่จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับลูกของพวกเขา

ขณะที่โมฮาเหม็ด ไบรอส (Mohamed Baiross) ทนายความด้านการหย่าร้างกล่าวว่า ได้รับการสอบถามอย่างน้อย 50 ครั้งในแต่ละเดือนจากคู่รักที่ต้องการเลิกรา ซึ่งสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสถานภาพการสมรสของพวกเขาก็หนีไม่พ้นเรื่อง “ที่อยู่อาศัย”

เจ้าของแฟลตจำเป็นต้องพักอาศัยอย่างต่ำ 5 ปีถึงจะขายต่อได้ โดยหากมีการหย่ากันก่อนครบ 5 ปี หมายความว่าต้องขายแฟลตคืนให้กับรัฐบาล ซึ่งอาจจะขาดทุน ในขณะที่การอดทนรอจนครบกำหนดจะรับประกันกำไรได้แน่นอน ด้วยเหตุนี้บางคู่จึงตกลงที่จะอยู่ด้วยกันต่อไปจนกว่าจะสามารถขายห้องได้

“นี่เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้พวกเขาต้องทนอยู่ร่วมกันในบ้านเดียวกัน แม้ว่าจะเกลียดกันแค่ไหนก็ตาม” โมฮัมหมัด ผู้จัดการหุ้นส่วนของบริษัทกฎหมายไออาร์บี ลอว์ กล่าว

อ้างอิง: bloomberg, property, sing

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ดีมานด์ออฟฟิศย่านซีบีดีกทม.พุ่ง! รับอานิสงส์ต่างชาติย้ายสำนักงานใหญ่

ปัญญา เจนกิจวัฒนาเลิศ กรรมการบริหารหัวหน้าส่วนพื้นที่สำนักงาน บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย...

แรงเหวี่ยง“ลานีญา-ส่งออกสัญญาณดี” หนุนจีดีพีเกษตรปี67โต0.2-1.2%

ตั้งแต่ไทยเข้าสู่ฤดูฝน (20 พ.ค. 2567) ถึง ณ วันที่ 27 ส.ค. 2567 มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากอุท...

ถ้าจะลาออก จะ ”บอกเจ้านายยังไงดี” ให้เกิดผลดีกับทุกฝ่าย !?

Part.1.เรื่องธรรมดา กับ เรื่อง ไม่ธรรมดา เมื่อพนักงาน ลาออก !? เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่แต่ละที่...

เตรียมโรดทริป 'อันดามัน' เส้นทางใหม่ ถนนเลียบชายฝั่ง เชื่อม 6 จังหวัดยอดฮิต !

โครงการศึกษาความเหมาะสมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง – สตูล หนึ่งใ...