แผนโต ‘อควา‘ ผนึก ’บุญรอด-ใบหยก' ร่วมทุน ตั้ง ‘เอฟเอบี’ ลุยธุรกิจอาหาร

พร้อมเดินหน้าเสริมพอร์ตใหญ่ “อควา” หนุนรายได้ปี 67 แตะ 1,000 ล้านบาท ปี 68 โตเท่าตัว 2,000 ล้านบาท รับรู้กำไรทันที

นายฉาย บุนนาค รักษาการประธานกรรมการบริหาร บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ AQUA เปิดเผยถึงธุรกิจใหม่ภายใต้ บริษัท เอฟเอบี ฟู้ด โฮลดิ้ง จำกัด หรือ FAB  ดำเนินธุรกิจอาหารซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง “อควา บุญรอดบริวเวอรี่ และกลุ่มใบหยก” โดย อควา ลงทุนถือหุ้น 51% มีมูลค่าเงินลงทุน 1,275 ล้านบาท จากมูลค่ารวม 2,500 ล้านบาท นับเป็นการเปลี่ยนแปลง New S-Curve ของบริษัทดันรายได้จากธุรกิจอาหารขึ้นมาเป็นรายได้หลัก และทำกำไรได้ทันที คาดว่าดีลลงทุนจะแล้วเสร็จเดือน ต.ค.นี้ และรับรู้รายได้ กำไรตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2567 

“ธุรกิจอาหารเป็นพอร์ตรายได้หลักบริษัทด้วย 8 แบรนด์ จำนวน 240 สาขา ร้านอาหารที่นำเข้ามาล้วนมีกำไรหมดทุกแบรนด์ ยิ่งทางกลุ่มบุญรอดมีแบรนด์อาหารจำนวนมาก มีกลุ่มใบหยกที่เชี่ยวชาญเข้ามาบริหาร แค่ทำให้มีความน่าสนใจจับตลาดลูกค้ากลุ่มใหญ่ ร้านแมสมากขึ้น จะเห็นการเติบโตทันที ซึ่งปีนี้จะขยายและปรับจากแบรนด์ที่มีอยู่ก่อนจะพิจารณาเพิ่มลงทุน”

นายชัยพิพัฒน์ แก้วไตรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ AQUA กล่าวว่า ธุรกิจอาหารเช้ามีสัดส่วนรายได้เป็น 70-60% ส่วนธุรกิจคลังสินค้าอยู่ที่15 % โลจิสติกส์ 15 % และที่เหลือเป็นธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากหลังรวมกันแล้ว จะมีรายได้เข้ามาทันทีไตรมาส 4 ปี 67 ประมาณ 300- 400 ล้านบาท ส่งผลทำให้รายได้รวมปีนี้เป็น 1,000 ล้านบาท และหากเต็มปีรายได้ของ 8 แบรนด์อยู่ที่ 1,600-1,700 ล้านบาท มีอัตรากำไรสูงเป็นเลขสองหลัก

จากการถึงจุดคุ้มทุนได้ทันทีไตรมาส 4 ปี 67 เพราะแต่ละแบรนด์มีกำไรอยู่แล้ว บวกกับการลงต้นทุนด้านซัพพลายอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ และบริษัทยังมีรายได้ประจำจากธุรกิจคลังสินค้าที่พึ่งทำสัญญา 7 ปี มูลค่า 1,700 ล้านบาททยอยรับรู้รายได้ปีละ 200 ล้านบาท ส่งผลทำให้คาดปี 2568 บริษัทจะมีรายได้2,000 กว่าล้านบาท และรับรู้กำไรจากธุรกิจอาหาร

สำหรับแหล่งเงินทุนการลงทุนครั้งนี้มาจากเงินสด การขายสินทรัพย์ และเงินลงทุนก่อนหน้านี้เช่น ป้ายโฆษณา และเงินกู้ ซึ่งบริษัทยังมีความแข็งแกร่งทางด้านเงินทุนล่าสุดได้จ่ายคืนหุ้นกู้ไปเรียบร้อยแล้ว 629 ล้านบาทและเตรียมออกหุ้นกู้ชุดใหม่มูลค่า 600 ล้านบาทอายุ 2ปี 9เดือน อัตราดอกเบี้ย 7-7.2% ประมาณช่วงต้นส.ค. นี้

“หลังลงทุนธุรกิจอาหาร AQUA จะมีพอร์ตรายได้ 2 กลุ่ม คือธุรกิจเงินสดเข้ามาเป็นรายได้ประจำประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อปี และธุรกิจอาหารแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ สเต็ก อาหารไทย อิซากะยะ และราเมน ซึ่งการได้ทั้งกลุ่มบุญรอดและใบหยกเข้ามาร่วมลงทุนสินค้ามีความแข็งแกร่งต้องมีการปรับด้านมาร์เก็ตติ้งการทำแบรนด์ให้แข็งแกร่งและยังไม่มีแผนลงทุนซื้อแบรนด์เพิ่มตอนนี้”

สำหรับการร่วมลงทุนใน FAB อควา ถือหุ้น 51 % กลุ่มบุญรอดบริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ถือหุ้น 40% และ“เบียร์ ” ปิยะเลิศ ใบหยก รองประธานกลุ่มโรงแรมใบหยก ถือหุ้น 9%

บุญรอดฯ  สร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจร้านอาหาร 

นายภูริต ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีธุรกิจอาหารที่ขับเคลื่อนภายใต้ฟู้ด แฟ็คเตอร์ หากทำสิ่งเดิมไม่เพียงพอ แต่ต้องสร้างสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ซึ่งจากการเห็นเบียร์ ใบหยก ทำร้านอาหารและประสบความสำเร็จหลายแบรนด์หลายร้าน จึงมองการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับร้านอาหารได้ ขณะที่อควา คอร์ปอเรชั่น ของฉาย มองหาการเติบโตใหม่ๆหรือ New S-Curve เมื่อดูจุดแข็งแต่ละราย จึงมองศักยภาพสร้างการเติบโตได้

สำหรับแนวทางการทำธุรกิจร้านอาหารในอนาคต แต่ละแบรนด์จะเห็นสิ่งใหม่ๆมากขึ้น นำจุดแข็ง ความถนัดแต่ละฝ่ายมาเติมเต็ม เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่

“ตัวผมชอบทำธุรกิจเครื่องดื่ม และมองหาคนที่มีแพชชั่นมาทำธุรกิจอาหาร ไม่เช่นนั้นธุรกิจนี้ไม่เกิด เพราะการสร้างอะไรสักอย่าง คิดแบบเดิมๆไม่ได้ ต้องสร้างสิ่งใหม่ หาคนที่ใช่ และเบียร์ ใบหยกทำธุรกิจร้านอาหารสำเร็จหลายร้าน และน่าจะทำให้เราเติบโตมากขึ้น คุณฉาย และอควาฯ ก็มองหา New S-Curve ดังนั้น 3 คนจึงน่าจะเติมเต็มซึ่งกันและกันได้”

เดินเกมซีนเนอร์ยีเสริมแกร่ง

นายปิยะเลิศ ใบหยก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอฟเอบี ฟู้ดโฮดิ้ง จำกัด (FAB) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ได้ตั้งบริษัทใหม่ เอฟเอบี และตนเป็นซีอีโอ ภารกิจสำคัญเมื่อรวมพอร์ตโฟลิโอร้านอาหาร 8 แบรนด์ จำนวน 204 สาขา ได้แก่ ซานตาเฟ่ ซานตาเฟ่ อีซี่ เหม็งแซ็ปนัว จากฟู้ด แฟ็คเตอร์ ร้านเซไค โนะ ยามะจัง(Sekai no Yamachan) อิคโคฉะ ราเมน และ อุชิดายะ ราเมน ส้มตำเจ๊แดง สามย่าน ของตนเอง และร้านราเมงเดส จากอควา คอร์ปอเรชั่น

การร่วมมือครั้งนี้ จะเห็นการซีนเนอร์ยีหลายด้าน เช่น การใช้ครัวกลางของอควา คอร์ปอเรชั่น เตรียมความอร่อยของเมนูราเมน การซื้อวัตถุดิบร่วมกันจากซัพพลายเออร์ ใช้โลจิสติกส์และขนส่งร่วมกัน เช่น ร้านส้มตำเจ๊แดงสามย่าน และซานตาเฟ่ ต้องซื้อหมูปริมาณมาก รวมถึงการผนึกทีมงาน พนักงานกว่า 1,000 ชีวิต ส่งผลให้การบริหารจัดการต้นทุนดีขึ้น เฉพาะต้นทุนอาหารเบื้องต้นคาดว่าจะลดลง 2-3%

ส่วนแผนรุกธุรกิจร้านอาหาร จะลุยรีเฟรชแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอให้สดใส ดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้น นำร่องร้านซานตาเฟ่ เนื่องจากมีสาขาจำนวนมากกว่า 120 สาขา เป็นพอร์ตใหญ่ที่ทำเงินสูงสุด แบรนด์แกร่งบริการลูกค้ากว่า 20 ปี อยู่ในทำเลเด่น หากสร้างสิ่งใหม่ๆได้ ธุรกิจจะสปีดเติบโตได้ รวมถึงการเดินหน้าขยายร้านส้มตำเจ๊แดงสามย่าน บุกต่างจังหวัดครั้งแรก ใช้กลยุทธ์ความร่วมมือ(Collaboration)กับร้านเหม็งแซ็ปนัว ซึ่งมีจิ้มจุ่มไปเสิร์ฟลูกค้าด้วย

รวมพลัง 8+1 แบรนด์

นอกจาก 8 แบรนด์ร้านอาหาร บริษัทยังมีแผนพัฒนาอีก 1 แบรนด์ใหม่หมวดอาหารปิ้งย่าง จะเปิดตัวปี 2568 จากปัจจุบันมี 4 หมวด ได้แก่ ร้านสเต๊ก อาหารไทย อิซากายะ และราเมน บริษัทยังเปิดกว้างการซื้อแบรนด์ใหม่ ร่วมทุนกับพันธมิตรเพิ่ม ซึ่งหลังจากผนึกอควา คอร์ปอเรชั่น และฟู้ด แฟ็คเตอร์ มีผู้ประกอบการ นักลงทุนนำเสนอการเป็นพาร์ตเนอร์อีกหลายแบรนด์

ด้านแผนขยายสาขา ปี 2568 จะเปิดร้านอาหารเพิ่มกว่า 40 สาขา ทำให้มีร้านแตะ 250 สาขา โดยซานตาเฟ่ และส้มตำเจ๊แดงสามย่านจะเป็นหัวหอกและซีนเนอร์ยี เช่น ใช้พื้นที่ 30 ตารางเมตร(ตร.ม.)ของร้านซานตาเฟ่ ที่มีขนาดใหญ่ ให้ส้มตำเจ๊แดงฯเสิร์ฟลูกค้า นอกจากนี้ บริษัทจะมีการทำร้านแฟล็กชิปบนเนื้อที่ 3 ไร่ ย่านทาวน์อินทาวน์ โดยรวม 8 แบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอเสิร์ฟลูกค้า

“ถ้าให้สวย เราอยากสร้างแบรนด์ใหม่เพิ่มปีละ 1 แบรนด์ แต่ภารกิจแรกในฐานะซีอีโอ ขอรีเฟรชแบรนด์ที่มีให้สดใส ผู้บริโภคเห็นแล้วเตะตา น่าเข้าก่อนมาใช้บริการ ส่วนการมองภาพใหญ่จะเป็นเชนหรือเครือข่ายร้านอาหาร และนำเอฟเอบี เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่มองถึงขั้นนั้น”

สร้างสิ่งใหม่ คำนึงถึงผู้บริโภคกำลังซื้อแผ่ว

นายปิยะเลิศ กล่าวอีกว่า หลังรวมพอร์ตร้านอาหารภายใต้เอฟเอบี บริษัทมีรายได้รวมราว 1,700 ล้านบาท แบ่งเป็นจากฟู้ด แฟ็คเตอร์กว่า 1,000 ล้านบาท จากอควา คอร์ปอเรชั่นกว่า 100 ล้านบาท และจากร้านอาหารที่ตนเองลงทุนกว่า 500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจอาหารในเวลานี้ ยอมรับมีความท้าทาย โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อชะลอตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคประหยัด ทานอาหาร ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยน้อยลง คิดก่อนจ่ายมากขึ้น ดังนั้นการรุกธุรกิจจึงต้องโฟกัสพื้นที่ จังหวัดที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้

“ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารแข่งขันสูง จำนวนร้านเยอะมาก เราจึงอยากทำให้แบรนด์สดใส ลูกค้าเห็นแล้ว..อุ๊ยร้านใหม่ เมนูใหม่ ต้องการเข้ามาใช้บริการ ส่วนเศรษฐกิจกำลังซื้อที่ท้าทาย คนใช้เงินระวังมากขึ้น ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เราจึงต้องคำนึงถึงกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...