เตรียมตัวรับความผันผวน

เข้าสู่กลางไตรมาส 3 ภาพเศรษฐกิจและตลาดการเงิน กำลังคลี่คลายลงทีละเปราะ กล่าวคือ หนึ่ง ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีแนวโน้มว่าจะลดดอกเบี้ยลงในไม่ช้า สอง การแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐน่าจะเข้มข้นขึ้น และสาม เศรษฐกิจจีนชะลอลงรุนแรงขึ้น และต้องการมาตรการกระตุ้นที่ชัดเจนขึ้นจากภาครัฐ แต่สัญญาณจากภาครัฐคือมุ่งเน้นการเติบโตที่มีคุณภาพมากกว่า โดยในประเด็นแรก เรื่องโอกาสในการลดดอกเบี้ยของ Fed ที่มากขึ้นนั้น เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจอเมริกาเริ่มมีทิศทางชะลอลงชัดเจนขึ้น โดยสัญญาณล่าสุดโดยรายงานของ Fed รายสาขา (Fed Beige book) ไตรมาส 3 เริ่มส่งสัญญาณว่ากว่าครึ่งของเศรษฐกิจสหรัฐในรายภูมิภาคเริ่มทรงตัวหรือชะลอลง ขณะที่เงินเฟ้อเริ่มลดลงเนื่องจากประชาชนลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยและหันมาใช้จ่ายสินค้าจำเป็นมากขึ้น นอกจากนั้นหากพิจารณาในประเด็นเงินเฟ้อก็พบว่าชะลอลงมาชัดเจนมากขึ้น โดยเงินเฟ้อผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) ลดลงต่อเนื่องกันสามเดือน โดยล่าสุดมาอยู่ที่ 2.97% จาก 3.47% ในเดือน ก.พ. ขณะที่อัตราว่างงานเดือนล่าสุด (มิ.ย.) อยู่ที่ 4.1% ของกำลังแรงงานรวม ภาพเหล่านี้ทำให้ Fed สามารถมั่นใจได้มากขึ้นว่าจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 

ในส่วนของประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดี การแข่งขันระหว่างพรรคเดโมแครตกับรีพับบริกกันดูจะเข้มข้นขึ้น หลังรองประธานาธิบดีคาเมลา แฮริส มีเสียงเพียงพอที่จะเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แข่งกับอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ที่มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นหลังมีความพยายามลอบสังหารแต่ไม่สำเร็จ จึงต้องจับตาดูกระแสของทั้งสองผู้สมัครอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหากแฮริสชนะการเลือกตั้ง นโยบายของแฮริสไม่น่าจะแตกต่างจากของไบเดนมากนัก ขณะที่ในส่วนของ ทรัมป์ หลายฝ่ายมองว่า นโยบายของอดีตประธานาธิบดีจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เช่น (1) การขึ้นภาษีการค้าจากจีน 60% และจากทั่วโลก 10% (2) การเนรเทศแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมาย และ (3) การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาเป็นการถาวร อย่างไรก็ตาม เราอาจไม่เห็นด้วยกับมุมมองของตลาดมากนัก เพราะเชื่อว่าหากทรัมป์ชนะจริง นโยบายหลายประการอาจทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ความเสียหายจะถูกจำกัด อย่างไรก็ตาม เรามองว่า เมื่อทรัมป์กลับมา ความผันผวนปั่นป่วนจะมากขึ้นอย่างแน่นอน 

ในส่วนของเศรษฐกิจจีนนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของ GDP ไตรมาสที่สอง รวมไปถึงตัวเลขรายเดือน เช่น ยอดค้าปลีก การผลิตอุตสาหกรรมและการลงทุนสินทรัพย์ถาวร ชี้ถึงทิศทางที่ชะลอตัว ภาพดังกล่าวบ่งชี้ถึงสามวิกฤติของจีน อันได้แก่ วิกฤติเงินฝืด วิกฤติรายได้ และวิกฤติอสังหาฯ รวมถึงบ่งชี้ว่ามาตรการที่ทางการจีนแก้ไขอยู่ในปัจจุบันอาจไม่ได้ผลเต็มที่ และสัญญาณล่าสุดจากการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์วาระที่สาม หรือ Third plenum ก็ส่งสัญญาณดังคาด โดยยังคงมุ่งเน้นที่จะพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการใช้การผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง (Advance manufacturing) เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงแบตเตอรี่ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า การมุ่งเน้นดังกล่าวจะนำไปสู่ความตึงเครียดทางการค้า เห็นได้จากการส่งออกของจีนที่เพิ่มขึ้นได้กระตุ้นให้เกิดรัฐบาลสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเริ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกครั้ง

ภาพทั้งสามทำให้การลงทุนในสหรัฐน่าสนใจ แต่การลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่มูลค่าของหุ้นค่อนข้างแพงแล้ว (High valuation) ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในหุ้นในตลาดที่ตัวเล็กลง อย่างไรก็ตาม เรามองว่า ในระยะต่อไป ความผันผวนในการลงทุนอาจเริ่มมีมากขึ้นจากปัจจัย 3 ประการ 

ประการแรก Valuation ของหุ้นที่อยู่ในระดับสูง โดยอัตราส่วนราคาต่อกำไร (Cyclically Adjusted Price-Earnings (CAPE)) ซึ่งเป็นมาตรวัดที่จัดทำโดย Robert Shiller จากมหาวิทยาลัย Yale อยู่ที่ 36 ซึ่งอยู่ระดับเดียวกับช่วงฟองสบู่ดอทคอมก่อนฟองสบู่แตกในปี 2001 และด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงในปัจจุบัน ราคาหุ้นของสหรัฐจะต้องลดลงประมาณหนึ่งในสามเพื่อให้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของหุ้นและผลตอบแทนพันธบัตร (Earning yield gap) กลับมาสู่ค่าเฉลี่ยในปัจจุบัน 

ประการที่สอง ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ เช่น หากทรัมป์ชนะตำแหน่งประธานาธิบดีของอเมริกาและประกาศใช้อัตราภาษีที่เขาสัญญาไว้ อาจเกิดการตอบโต้มาตรการกีดกันทางการค้า (Trade retaliation) ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและเงินเฟ้อสูงขึ้น 

ประการที่สาม ปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และรายได้ของบริษัทจดทะเบียน เช่น ในปัจจุบัน ตลาดได้คาดการณ์ (Priced-in) สถานการณ์ Soft landing หรือการที่เงินเฟ้อชะลอลงแต่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ แต่หากเกิดสถานการณ์อื่นใด เช่น สถานการณ์ “No landing” หรือการที่เงินเฟ้อหยุดการชะลอตัวลง ขณะที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อเนื่อง อาจทำให้หุ้นขึ้นต่อและเสี่ยงต่อการปรับฐานที่รุนแรงขึ้น 

ในส่วนของหุ้นไทยเรามองว่า ยังมีความท้าทายอยู่อีกหลายประการเช่นหนึ่ง ถึงแม้ทิศทางทางเศรษฐกิจในภาคใหญ่จะมีทิศทางที่น่าจะดีขึ้นในระยะต่อไป แต่เศรษฐกิจในประเทศที่ค่อนข้างเปราะบาง จากภาคการผลิตที่ชะลอมาอย่างยาวนานรวมไปถึงภาคการท่องเที่ยวที่เป็นฤดูโลว์ซีซั่น ทำให้เสร็จในช่วงไตรมาส 2-3 อาจจะดูไม่ค่อยสดใสนักในภาพใหญ่ นอกจากนั้นความเสี่ยงในเรื่องของการเมืองก็ยังคงดำรงอยู่จนกว่าจะมีความชัดเจนในคดีของนายกรัฐมนตรี ทำให้เรายังคงแนะนำกลยุทธ์ Wait and See แต่หากต้องการลงทุน เราแนะนำว่าควรเลือกหุ้นที่คาดว่ากำไรยังเติบโตได้ หุ้นที่มีพื้นฐานดีและมี ESG Rating สูง รวมถึงหุ้นที่ประกันความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเราแนะนำ MINT BEM OSP TU KCE CPF HANA TOP BEM MINT OSP BBL SCGP AOT CPALL BDMS BBL GULF PTTEP

ขอให้นักลงทุนโชคดี

- รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก : https://linktr.ee/InnovestX

- เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน โหลดเลย คลิก https://innovestx.onelink.me/23if/ek1n76zm

- ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก : https://bit.ly/respublisher

#InnovestX #InnovestXResearch #InnovestXApp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ

*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...