รู้จัก Yolé ไอศกรีมไม่มีน้ำตาลจากสเปน ส่วนสาขาในไทยมี ‘บิวกิ้น’ เป็นหุ้นส่วน

ห้างใจกลางกรุงอย่าง “เซ็นทรัลเวิลด์” (centralwOrld) มักเป็นหมุดหมายแรกๆ ของแบรนด์น้องใหม่ที่ต้องการลั่นกลองรบ-บุกตลาดไทยอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา หากใครได้แวะเวียนไปที่เซ็นทรัลเวิลด์บ้างก็อาจจะพอสะดุดตากับร้านไอศกรีมโยเกิร์ตที่มีคนรอต่อคิวแถวยาวตลอดเวลา มองเข้าไปด้านในร้านจะเห็นตู้ใส่ท็อปปิ้งผลไม้สดและธัญพืชวางเรียงรายให้เลือกชิมกัน แหงนมองขึ้นไปยังป้ายร้านพบว่า เป็นร้านใหม่แกะกล่องที่ไม่เคยเปิดทำการในไทยมาก่อน “Yolé” หรืออ่านว่า “โยเล่” คือแบรนด์ไอศกรีมโยเกิร์ตเนื้อเนียนนุ่มที่เรากำลังพูดถึง

จากปลายปี 2566 จนถึงตอนนี้ (กรกฎาคม 2567) “โยเล่” เปิดมาแล้ว 3 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์ สยามพารากอน และห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางกะปิ และดูเหมือนว่า จะได้รับกระแสตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะแม้จะเป็นร้านของหวาน แต่ “โยเล่” กลับชูจุดเด่นตั้งแต่ป้ายหน้าร้านด้วยสโลแกน “0% Sugar Added” หรือน้ำตาล 0% ร้านขายของหวานที่ไม่เติมความหวานจะอร่อยได้อย่างไร?

นี่คือโจทย์สำคัญที่ถูกคิดและพัฒนาสูตรขึ้นตั้งแต่วันแรกๆ ของสองพี่ชาวสเปนอย่าง “มิกูเอล ดิแอซ” (Miguel Diaz) และ “จาเวียร์ ดิแอซ” (Javier Diaz) กระทั่งปัจจุบันมี “มาร์ธา ดิแอซ” (Marta Diaz) รับหน้าที่ผู้บริหารนำทัพโยเล่ขยายสาขาทั่วโลกต่อเนื่อง

เริ่มจากซื้อแฟรนไชส์มาขายจนดังระเบิด สุดท้ายหันมาปั้น Yolé เอง

แม้จะเปิดร้านอย่างเป็นทางการในปี 2561 แต่จริงๆ แล้ว “โยเล่” ถูกคิดค้นและพัฒนาสูตรซอฟต์เสิร์ฟโยเกิร์ตไม่มีน้ำตาลก่อนลั่นระฆังนานกว่า 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2560 โดยสองพี่น้องตระกูลดิแอซเกิดไอเดียอยากทำไอศกรีมที่แหกทุกกฎเมนูของหวาน นั่นคือแคลอรีต่ำ และต้องไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบเลย

ตลอด 3 ปี จึงเป็นช่วงที่ทั้งคู่คิดค้น-ปรับแก้สูตรกันอย่างแข็งขัน จนถึงปี 2560 พี่น้องดิแอซได้ก่อร่างทีมเชฟขึ้น ประกอบด้วยคนทำไอศกรีม นักโภชนาการ และนักวิทยาศาสตร์การอาหาร เพื่อทำให้ของหวานที่ดีต่อสุขภาพมีรสชาติอร่อยถูกปากผู้บริโภคมากพอที่จะขายได้ด้วย

ทว่า หากย้อนกลับไปก่อนการถือกำเนิดขึ้นของ “โยเล่” พบว่า พี่น้องดิแอซคลุกคลีในวงการอาหารมายาวนาน พื้นเพของทั้งคู่เกิดที่เมืองมาลากา ประเทศสเปน จากนั้นจึงย้ายมาอยู่ที่สิงคโปร์ ทั้งสองคนร่วมกันลงขันซื้อแฟรนไชส์ไอศกรีมโยเกิร์ตแบรนด์ “เหยาเหยา” (Llao llao) มาเปิด โดย “เหยาเหยา” มีต้นกำเนิดที่สเปนเช่นกัน ปรากฏว่า สองพี่น้องบริหารธุรกิจได้อย่างราบรื่น สามารถขยายร้านแฟรนไชส์ไปทั่วเอเชียกว่า 100 แห่ง นับเป็นแฟรนไชส์ซีของแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้นเลยทีเดียว

แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งทั้งคู่ก็เริ่ม “คิดใหญ่” อยากปั้นแบรนด์เป็นของตัวเอง นั่นจึงเป็นที่มาของ “โยเล่” ที่ในช่วงแรกเริ่มยังเป็นสูตรเติมน้ำตาลตามปกติ ประเดิมเปิดสาขาแรกที่สิงคโปร์และได้รับการตอบรับที่ดีจากฐานลูกค้าเดิม ระหว่างนั้นเองที่พี่น้องดิแอซเริ่มมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทำอย่างไรจะลดจำนวนแคลอรีของสินค้าลง และพอจะมีวิธีไหนบ้างหรือไม่ที่ไอศกรีมไม่ต้องใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบเลย นี่คือความท้าทายที่บ้าคลั่งพอสมควร เพราะน้ำตาลและนมเป็นหัวใจสำคัญของการทำขนมหวาน

ใครเลยจะไปคิดว่า ถัดจากนั้นเพียง 1 ปี “โยเล่” ปรับคอนเซปต์ใหม่ ประกาศกร้าวขายไอศกรีมโยเกิร์ตน้ำตาล 0% ที่ยังคงความอร่อยเหมือนเดิม 100% ไม่เพียงตักขายที่หน้าร้าน แต่พี่น้องดิแอซยังขยายโมเดลโยเล่แบบกล่องและแบบแท่งวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตด้วย ทำให้ช่วงที่เกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดใหญ่ระหว่างปี 2563 ถึง 2565 แบรนด์จึงไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองมากนัก ทั้งยังประสบความสำเร็จจนขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟในสิงคโปร์ด้วย

สูตรเร่งโต คือไปต่างประเทศ แตกโมเดลถี่ยิบ ทำให้ Yolé เป็นที่รู้จักมากที่สุด 

หลังจากได้รับการตอบรับที่ดีมากในสิงคโปร์ “โยเล่” ไม่รอช้า ตั้งเป้าสเกลต่อในระดับโลกทันที ความตั้งใจเดิมของ “มิกูเอล” คือเขาต้องการสยายปีกซอฟต์เสิร์ฟโยเกิร์ตน้ำตาล 0% ตั้งแต่ปี 2562 แต่ก็อย่างที่ทุกคนทราบดีว่า ระหว่างนั้นทั่วโลกถูกแช่แข็งชั่วคราวจากวิกฤติการณ์โควิด-19 แผนการขยายธุรกิจด้วยโมเดลแฟรนไชส์จึงหยุดชะงักไปชั่วครู่ กระทั่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลายในช่วงกลางปี 2564 “โยเล่” จึงเริ่มต้นบุกยุโรป โดยมี “กรุงลอนดอน” เป็นโลเกชันแรก

“มิกูเอล ดิแอซ” เคยให้ความเห็นกับเว็บไซต์ “Singapore Business Review” ไว้ว่า ตนมีแผนนำ “โยเล่” ไปอยู่ทุกที่ทั่วโลก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งการทำการตลาดผ่าน “OmniChannel” รวมถึงตัวแฟรนไชส์ซีและผู้จัดจำหน่ายรายย่อยด้วย เขาต้องการให้โยเล่เป็นแฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก แต่ให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น เชื่อว่า หากแบรนด์มีช่องทางการขายมากขึ้นก็จะช่วยสร้างการรับรู้เพิ่มขึ้นอีกทวีคูณ 

ทั้งนี้ ช่องทางที่ผู้ก่อตั้งแบรนด์หมายถึง คือการขยายฟอร์แมตร้านค้าที่ไม่ได้มีเพียงโมเดลร้านคีออส (Kiosk) แต่จากฐานข้อมูลของ “โยเล่” พบว่า มีรูปแบบร้านค้าให้แฟรนไชส์เลือก 5 แบบ ได้แก่ Yolé Corner บาร์ขนาดเล็ก พื้นที่ 2 ถึง 6 ตารางเมตร, Yolé Mini หรือ Food Truck พื้นที่ 7 ตารางเมตร  ถึง 14 ตารางเมตร, Yolé Kiosk พื้นที่ 8 ตารางเมตร ถึง 30 ตารางเมตร, Yolé Shop พื้นที่ 25 ตารางเมตร ถึง 60 ตารางเมตร และ Yolé Café พื้นที่ 100 ตารางเมตรเป็นต้นไป โดยหากเป็นฟอร์แมตกะทัดรัดอย่าง “Yolé Corner” ก็จะมีข้อจำกัดเรื่องเมนู พร้อมเสิร์ฟเฉพาะแบบถ้วยหรือโคนไอศกรีมเท่านั้น

ปัจจุบัน “โยเล่” ขยายออกไปแล้ว 21 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง และอเมริกาเหนือ ส่วนความเคลื่อนไหวล่าสุดของ “โยเล่” ตามรายงานข่าวระบุว่า ไม่ได้บริหารโดยมิกูเอลหรือจาเวียร์อีกแล้ว แต่มี “มาร์ธา ดิแอซ” เข้ามาดำรงตำแหน่งซีอีโอตั้งแต่ปี 2565

เธอเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ “CEO Insight Asia” ว่า ตอนนี้เป้าหมายที่วาดหวังไว้ คือการพา “โยเล่” ขึ้นสู่หนึ่งในห้าแบรนด์ไอศกรีมชั้นนำของโลก เชื่อว่า จุดแข็งของแบรนด์อย่างโปรดักต์น้ำตาล 0% และไอศกรีมแพลนต์เบส รวมถึงหมุดหมายการเป็นของหวานที่ดีต่อสุขภาพจะช่วยเพิ่มมนต์เสน่ห์ให้ผู้บริโภคหลงรักโยเล่ได้ไม่ยาก

Yolé ประเทศไทย เปิดมา 7 เดือน มี “บิ้วกิ้น-พุฒิพงศ์” เป็นหุ้นส่วน

ไทยเป็น 1 ใน 21 ประเทศที่โยเล่กล่าวถึง เริ่มเปิดร้านอย่างเป็นทางการราวๆ เดือนธันวาคม 2566 ที่ชั้น 7 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์เป็นแห่งแรก ปรากฏว่า กระแสตอบรับดีเกินคาด เดือนมีนาคม 2567 จึงเปิดสาขาที่สอง บริเวณชั้น G ศูนย์การค้าสยามพารากอน และต่อเนื่องในเดือนเมษายน 2567 ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางกะปิ จนถึงตอนนี้ร้านโยเล่ในไทยมีทั้งหมด 3 แห่งแล้ว

สำหรับแฟรนไชส์ซีในไทยบริหารภายใต้ บริษัท เมจิคอล คราฟส์แมน จำกัด มี บริษัท แอล เอ็น จี ฟู๊ด โปรดักส์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 45.25% โดย บริษัท แอล เอ็น จี ฟู๊ด โปรดักส์ จำกัด เป็นผู้บริหารร้านก๋วยเตี๋ยวเก่าแก่อย่าง “ลิ้มเหล่าโหงว ตำนานลูกชิ้นปลาเยาวราชที่มีอายุยาวนานกว่า 80 ปี ปัจจุบันขยายสาขาไปแล้ว 18 แห่ง ตัวธุรกิจของหวานอย่าง “โยเล่” จึงน่าจะเข้ามาช่วยเสริมทัพความแข็งแกร่งให้ฟากฝั่งธุรกิจของหวาน หลังจากที่รีแบรนด์ก๋วยเตี๋ยวลิ้มเหล่าโหงวขึ้นห้างไปราวๆ 4 ปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ ยังมี “พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล” หรือ “บิวกิ้น” ศิลปินชื่อดังถือหุ้น 15% และ “กิตติพัฒน์ บริบูรณ์ชัยศิริ” ลูกชายของ “จงรัก บริบูรณ์ชัย​ศิริ” เจ้าของร้านลิ้มเหล่าโหงว ถือหุ้นอีก 10% ด้วย โดยพบว่า กระแสในโซเชียลมีเดียมีการพูดถึงไอศกรีมโยเกิร์ตโยเล่ว่า “ไอติมบิวกิ้น” มีเมนูโปรดที่เจ้าตัวโปรดปรานอย่าง “Twist” ให้แฟนคลับได้ตามไปลิ้มรสกันอีกด้วย

 

อ้างอิง: CEO Insight Asia, Connect America, Creden Data, Global Franchise, Yole Global, Singapore Business Review, Trade Key, Yole 1, Yole 2

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...