‘ไทยเบฟ’เดินเกมยึดเบอร์ 1 อาหารและเครื่องดื่มอาเซียน

พร้อมเดินหน้าบุก 4 ตลาดยุทธศาสตร์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์  ขณะที่ภาพหลังแลกหุ้นเสร็จสมบูรณ์ ดันรายได้รวมทะยานแตะ 335,766 ล้านบาท ทิ้งห่างคู่แข่งเบอร์ 2 ซานมิเกล ถึง 88,758 ล้านบาท

อาณาจักรเครื่องดื่มและอาหาร “แสนล้านบาท” อย่าง “ไทยเบฟเวอเรจ” เดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักอย่างต่อเนื่อง และทิ้งหุ้นทั้งหมดในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้บริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด

สำหรับการประกาศเสนอการแลกหุ้นของไทยเบฟ ดำเนินการผ่านบริษัท InterBev Investment Limited หรือIBIL กับบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ จำกัด หรือ TCC Assets Limited (TCCAL)

โดยการแลกหุ้นครั้งนี้จะไม่มีการจ่ายเงินสดจาก IBIL หรือไทยเบฟ ขณะที่ข้อเสนอการแลกหุ้นนี้ IBIL จะโอนหุ้นบริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หรือ Frasers Property Limited (FPL) ที่ถืออยู่ทั้งหมด 28.78% ให้กับทีซีซี แอสเแซ็ทส์ และทีซีซี แอสแซ็ทส์ จะโอนหุ้นบริษัท เฟรเซอร์แอนด์นีฟ จำกัดหรือ Fraser and Neave Limited (F&N) ที่ถืออยู่ 41.30% ให้กับ IBIL

ทั้งนี้ หากข้อเสนอการแลกหุ้นเสร็จสมบูรณ์ ไทยเบฟจะไม่มีการถือครองหุ้นเฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ฯ ซึ่งเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่สัดส่วนการถือหุ้นในเอฟแอนด์เอ็น ซึ่งถือหุ้นโดยอ้อมผ่าน IBIL จะเพิ่มขึ้นจาก 28.31% เป็น 69.61% ในทางกลับกันทีซีซี แอสแซ็ทส์ จะมีสัดส่วนการถือหุ้นในเอฟแอนด์เอ็นลดลงเหลือ 17.60% จากปัจจุบันถืออยู่ 58.90% และสัดส่วนการถือหุ้นในเฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 86.90% จากปัจจุบันถืออยู่ 58.10%

ภารกิจรักษาบัลลังก์ “ผู้นำ” เครื่องดื่มและอาหารอาเซียน

นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการต่างประเทศ และผู้บริหารสูงสุดการเงินและการบัญชีกลุ่ม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า เป้าหมายของข้อเสนอการแลกหุ้นครั้งนี้ บริษัทต้องการเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจในฐานะผู้นำที่มั่นคงและยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน และตอกย้ำความเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารอย่างแท้จริง ด้วยการถอนการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ประภากร ทองเทพไพโรจน์

นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์หรือ NAB ของบริษัท และตราสินค้าเครื่องดื่มและอาหารของเอฟแอนด์เอ็น ในการขยายความสามารถในการเข้าถึงตลาด(Reach)ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งผ่านความร่วมมือกันด้านการดำเนินงาน ทำให้ไทยเบฟมีความแข็งแกร่งทางการเงินมากขึ้นโดยมีกำไรสุทธิจากประมาณการณ์ล่วงหน้าเพิ่มขึ้น รวมถึงมีอัตราส่วนหนี้สินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ที่ดีขึ้น

สำหรับรายละเอียดการทำธุรกิจ ข้อเสนอการแลกหุ้นจะดำเนินการในอัตราส่วนประมาณ 1.88 หุ้น เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ ต่อ 1 หุ้น เอฟแอนด์เอ็น(อัตราส่วนการแลกหุ้น) โดยอัตราส่วนนี้ถูกกำหนดจากราคาที่ต่อรองกันระหว่างผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งได้ราคาเฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ที่หุ้นละ 1.89 เหรียญสิงคโปร์ และเอฟแอนด์เอ็นหุ้นละ 3.55 เหรียญสิงคโปร์

รายได้ไทยเบฟขึ้นเบอร์ 1 เครื่องดื่มและอาหารในอาเซียน แซงซานมิเกล ส่วนปี 2566 มาร์เก็ตแคป รั้งท็อป 10 แต่ขณะนั้นเป็นรองซานมิเกล 

ขึ้นแท่น บ.จดทะเบียนทำธุรกิจ F&B ใหญ่สุดอาเซียน

สำหรับประโยชน์จากการทำธุรกรรม เมื่อข้อเสนอแลกหุ้นเสร็จสมบูรณ์ จะเสริมแกร่งให้กับไทยเบฟเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพิจารณาจากรายได้ เมื่อบริษัทไม่มีการถือครองหุ้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกต่อไป อีกด้านไทยเบฟจะสามารถควบคุมและบริหารจัดการเอฟแอนด์เอ็นได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้ไทยเบฟสามารถขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์นม(Dairy)ซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงโอกาสในการสร้างรายได้ การบริหารต้นทุนและการดำเนินงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การลดต้นทุนด้านการจัดซื้อ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงนวัตกรรมผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ ไทยเบฟจะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความใส่ใจด้านสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น ผ่านกลุ่มผลิตภัณฑ์ของเอฟแอนด์เอ็นซึ่งแข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เช่น มีเครื่องดื่มเกลือแร่ (Isotonic) และผลิตภัณฑ์นม รวมถึงการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคในตลาดมาเลเซียและสิงคโปร์ ผ่านความเป็นผู้นำตลาดของเอฟแอนด์เอ็นด้วย

โอกาสทอง ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์นมโต

หากการแลกหุ้นเสร็จสมบูรณ์ ธุรกิจของไทยเบฟจะมีถูกขับเคลื่อนผ่าน 4 กลุ่ม ได้แก่ สุรา เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และธุรกิจอาหาร

จากนี้ไป จะเห็นไทยเบฟสร้างความสามารถใหม่ๆ ในการเข้าถึงธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นมมากยิ่งขึ้น สอดรับการเติบโตของตลาดอยู่ในระดับสูง รวมถึงเพิ่มความได้เปรียบด้านการแข่งขันด้วย

อย่างไรก็ตาม ไทยเบฟได้คาดการณ์การเติบโตของยอดขายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นมใน 4 ตลาดสำคัญตั้งแต่ปี 2567-2572(การเติบโตต่อปี) ได้แก่ ตลาดประเทศไทย คาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ จะเติบโต 6.21% ส่วนผลิตภัณฑ์นม เติบโต 6.03% ประเทศเวียดนาม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เติบโต 10.52% ส่วนผลิตภัณฑ์นม เติบโต 8.82% ประเทศมาเลเซีย เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เติบโต 5.96% ส่วนผลิตภัณฑ์นม เติบโต 5.67% และประเทศสิงคโปร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เติบโต 5.07% ส่วนผลิตภัณฑ์นม เติบโต 4.99%

พอร์ตโฟลิโอสินค้าเอฟแอนด์เอ็นผงาด

เอฟแอนด์เอ็น ถือเป็นผู้เล่นสำคัญของธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งมีฐานทัพในประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ขณะที่แบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอมีหลากหลายและแข็งแกร่ง โดยเฉพาะเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหรือฟังก์ชันนอลดริ้งค์ เครื่องดื่มเกลือแร่ โอกาสในการเสิร์ฟเครื่องดื่มน้ำตาลน้อย และผลิตภัณฑ์นม เช่น แบรนด์ฮันเดรดพลัส น้ำโซดา F&N ICE MOUNTAIN นมถั่วเหลือง F&N Nutri soy เอฟแอนด์เอ็น และผลิตภัณฑ์นมทีพอท(TEAPOT) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีบิ๊กโปรเจกต์ฟาร์มโคนม “AgriValley” ที่ประเทศมาเลเซีย เนื้อที่ 2,726 เฮกตาร์ หรือกว่า 17,000 ไร่ เพื่อเลี้ยงโคนม 20,000 ตัว สามารถผลิตนมสดได้ถึง 200 ล้านลิตรต่อปี โดยคาดว่าปี 2568 จะมีการรีดนมวัวครั้งแรกเพื่อตอบโจทย์การค้าต่อไป

ไทยเบฟ-เอฟแอนด์เอ็น รายได้แกร่ง 335,766 ล้านบาท

หากการแลกหุ้นเสร็จสมบูรณ์ อีกความแข็งแกร่งที่จะเกิดขึ้นคือ รายได้รวมของไทยเบฟ หลังจากถือหุ้นใหญ่ในเอฟแอนด์เอ็น จะอยู่ที่ 335,766 ล้านบาท จากปัจจุบัน(ผลประกอบการ ณ 31 มี.ค.2567 รอบ 12 เดือน )ไทยเบฟมีรายได้ 278,532 ล้านบาท ส่วนเอฟแอนด์เอ็น(สิงคโปร์)มี รายได้ 57,234 ล้านบาท ภาพรวมยังทิ้งห่างคู่แข่งอันดับ 2 อย่าง ซานมิเกล ฟู้ด แอนด์ เบเวอเรจหรือ San Miguel Food and Beverage (SMFB)ของประเทศฟิลิปปินส์ที่มีรายได้ 278,532 ล้านบาท

สำหรับ 6 ผู้เล่นสำคัญในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์นม และอาหาร ประกอบด้วย ไทยเบฟ ซานมิเกลฯ Indofood CBP จากอินโดนีเซีย มีรายได้ 157,343 ล้านบาท มีธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์นม และอาหาร มาซาน กรุ๊ป(Masan Group) จากเวียดนามมีรายได้ 114,731 ล้านบาท ซึ่งมีธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร โดยมาซาน กรุ๊ปนั้น สิงห์ หรือกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ ได้ทุ่มเงินราว 40,000 ล้านบาท ซื้อกิจการเมื่อปี 2558 และ Universal Robina จากฟิลิปปินส์ มีรายได้ 104,178 ล้านบาท จากธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร และเอฟแอนด์เอ็น จากสิงคโปร์

4 ฐานทัพยึดตลาดอาเซียน

หากการแลกหุ้นเสร็จสมบูรณ์ ฐานทัพธุรกิจของไทยเบฟใน 4 ประเทศจะมีความชัดเจนและมีความสมดุลมากขึ้น ทั้งประเทศไทย เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์

นอกจากนี้ จะเห็นสัดส่วนรายได้ธุรกิจไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเป็น 26.5% จากเดิม 14.2% เมื่อเจาะลึกสัดส่วนรายได้ ณ 31 มีนาคม 2567(ในรอบ 12 เดือน) โดยก่อนแลกหุ้น ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(สุราและเบียร์)สัดส่วน 85.8% ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 7.2% และอาหาร 7.0% หลังการแลกหุ้นสัดส่วนจะเป็น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 71.2% ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 20.7% อาหาร 5.8% และอื่นๆ 2.3%

แบ่งตลาดฐานทัพตลาด ก่อนแลกหุ้น สัดส่วนรายได้ในประเทศไทยอยู่ที่ 71.6% เวียดนาม 21.2% และอื่นๆ 7.2% หลังแลกหุ้นเสร็จสัดส่วนรายได้ประเทศไทยจะอยู่ที่ 64.8% เวียดนาม 17.6% มาเลเซีย 6.7% สิงคโปร์ 3.4% และอื่นๆ 7.5%

สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรก 2567 (ปีงบประมาณ ต.ค.66-ก.ย.67) สร้างรายได้จากการขาย 147,742 ล้านบาท ลดลง 0.4% มีกำไรสุทธิ 16,917 ล้านบาท ลดลง 4.9%

ไทยเบฟเวอเรจ เป็นอาณาจักรธุรกิจของมหาเศรษฐีเมืองไทย ผู้มีสมญานาม ราชันย์น้ำเมา “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เป็นผู้ครองอาณาจักร และมีทายาท "ฐาปน สิริวัฒนภักดี" เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มไทยเบฟ

ทั้งนี้ ปี 2555 ไทยเบฟ รุกคืบตลาดอาเซียนด้วยการทุ่มเงินแสนล้านบาทซื้อกิจการเอฟแอนด์เอ็น ขณะนั้นได้ทั้งพอร์ตโฟลิโอธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจสิ่งพิมพ์พ่วงมาด้วย

สำหรับความแข็งแกร่งของไทยเบฟ ปัจจุบันมีโรงงานผลิตสุรา 19 แห่ง โรงงานผลิตเบียร์ 3 แห่ง และโรงงานผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อีก 20 แห่งในประเทศไทย มีเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมจุดขายมากกว่า 500,000 จุดทั่วประเทศ และยังป้อนสินค้าครอบคลุมมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายโรงงานผลิตเบียร์ 26 แห่งในเวียดนาม ที่ผลิต Bia Saigon และ 333 ของซาเบโก้ โรงงานผลิตสุรา 5 แห่งในสกอตแลนด์ ซึ่งใช้ผลิตสุราซิงเกิ้ลมอลต์ มีโรงงาน 1 แห่งในฝรั่งเศส ผลิตสุราลาร์เซน คอนญัก โรงงานผลิตสุรา 1 แห่งในนิวซีแลนด์ และโรงงานผลิตสุรา 1 แห่งในจีนซึ่งสำหรับผลิตสุราอวี้หลินฉวน เป็นต้น

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...