ซีอีโอ ‘Panasonic’ เตือนพนักงาน! ตระหนัก ‘วิกฤติ’ ให้มาก พร้อมเร่งสร้างผลงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “ยูกิ คุซุมิ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ Panasonic) ของ “พานาโซนิค โฮลดิ้ง” (Panasonic Holdings) ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า แบตเตอรี่อีวีและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ แสดงความเห็นว่า ผู้จัดการบริษัทจำเป็นต้องมีความรู้สึกถึง “วิกฤติ” มากขึ้น เนื่องจากบริษัทกำลังเผชิญกำไรสุทธิในระดับต่ำ และพนักงานจะถูกประเมินผลงานตามนี้ 

คุซุมิกล่าวในบทสัมภาษณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า “ถ้าพนักงานไม่สามารถสร้างผลงาน พวกเขาก็จะต้องถูกแทนที่ เหตุผลที่ไม่สามารถสร้างผลงานได้ ก็เพราะขาดความรู้สึกถึงวิกฤติ”

คำกล่าวเหล่านี้ ถือเป็นการกระตุ้นที่รุนแรงผิดปกติสำหรับวัฒนธรรมองค์กรของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ Panasonic ซึ่งเคยยึดมั่นในแนวคิดของการจ้างงานตลอดชีวิตมาหลายปี

เมื่อสองเดือนที่แล้ว คุซุมิ ได้เตือนในระหว่างการสรุปกลยุทธ์ว่า บริษัทกำลังประสบปัญหาผลกำไรไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และเขาวางแผนที่จะลดจำนวน “ธุรกิจที่มีปัญหา” ให้เหลือศูนย์ภายในเดือนมีนาคม 2027

ราคาหุ้น Panasonic ลดลง 4% ในปีนี้ หลังจากที่เพิ่มขึ้น 26% เมื่อปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ก็พุ่งสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ

แม้ว่า Panasonic เคยเป็นผู้นำระดับโลกด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภค แต่ปัจจุบัน บริษัทฯ เป็นซัพพลายเออร์แบตเตอรี่รายสำคัญให้กับ Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐ และยังลงทุนด้านซอฟต์แวร์ ควบคู่ไปกับความพยายามรักษาความสำคัญในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อุตสาหกรรม โดยซีอีโอเผยว่า ภาวะความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อโรงงานแบตเตอรี่บางแห่งของบริษัท ซึ่งนำไปสู่การหยุดสายการผลิตบางส่วนที่โรงงาน Suminoe ในนครโอซาก้า

คุซุมิกล่าวว่า “สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดคือ ผลกำไรที่จำเป็นตามความคาดหวังของนักลงทุน ยังไม่บรรลุเป้าหมาย แม้ว่าราคาหุ้นในญี่ปุ่นจะสูงขึ้น แต่หุ้นของเราก็ยังคงอยู่ที่ประมาณ 1,300 เยน”

สำหรับอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (Price/Book Value) ของ Panasonic อยู่ที่ 0.7 เท่าในขณะนี้ ซึ่งถือว่าต่ำ เมื่อเทียบกับบริษัท Hitachi ซึ่งเป็นบริษัทกลุ่มเครื่องอิเล็กทรอนิกส์อีกแห่งที่เคยปรับโครงสร้างองค์กรและขายสินทรัพย์ออกไปนั้น มีอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชีที่ประมาณ 3 เท่า โดยถือว่าสูงกว่า Panasonic 

ตอนนี้ คุซุมิกำลังผลักดันให้มีการปรับปรุงผลกำไรของหน่วยธุรกิจที่ทำผลงานต่ำกว่าเป้าหมาย ภายในสองปีข้างหน้า ขณะเดียวกันก็กำลังพิจารณาว่า Panasonic เป็น “เจ้าของที่ดีที่สุด” สำหรับธุรกิจเหล่านั้นหรือไม่ แม้ว่าจะไม่ได้หมายความว่ามีเป้าหมายที่จะขายกิจการเหล่านี้ออกไปโดยตรง แต่ซีอีโอชี้แจงว่า พวกเขาจะต้องสามารถพึ่งพาตัวเองและอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง

หลังจากเข้ารับตำแหน่งซีอีโอในช่วงกลางปี 2021 คุซุมิพยายามที่จะหาเงินสดเพิ่มเติมเพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต เขาตั้งเป้าหมายที่จะให้ได้ผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น 10% หรือมากกว่านั้น และให้ได้กำไรจากการดำเนินงานสะสม 1.5 ล้านล้านเยน ภายในสองปีงบประมาณ จนถึงเดือนเมษายนของปีหน้า

คุซุมิ กล่าวว่า “ผู้บริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารระดับสูง เช่น ผู้จัดการฝ่ายต่างๆ และประธานของหน่วยธุรกิจ จำเป็นต้องมี 'ความรู้สึกถึงวิกฤติ' ให้มากเกี่ยวกับผลงานที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย”


อ้างอิง: bloomberg

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...