พิษปิดโรงงานทุบซ้ำกำลังซื้อ ส่อวิกฤติ! จี้รัฐเร่งมาตรการสางหนี้ครัวเรือน

นอกจากนี้ ยังถูกซ้ำเดิมในเวลานี้ด้วยข่าวร้าย “ปิดโรงงาน”  อีกทั้งยังไม่มีนโยบายใหม่ และแรงพอ! จากภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

สมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า จากการสำรวจบรรดาร้านค้ารายย่อย และร้านค้าตลาดสดในต่างจังหวัด พบว่า กลุ่มลูกค้าใช้จ่ายน้อยลง เป็นผลจากกำลังซื้อที่หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และ “ภาระหนี้” ที่สะสมมานาน เวลานี้ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตามอง ซึ่งน่ากังวลอย่างมากคือ “การปิดโรงงาน!!” ต่างๆ และในอนาคตยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะมีการปิดโรงงานอีกมากน้อยแค่ไหน ยิ่งซ้ำเดิมกำลังซื้อให้ถดถอยลงไปอีก

นอกจากนี้ สถานการณ์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ผลิตสินค้าเกษตรหลายกลุ่มที่มีปัญหาความสามารถทางการแข่งขันลดลง จากการเปิดเสรีทางการค้ากับต่างประเทศ ทำให้สินค้าราคาถูกทะลักเข้ามาในประเทศไทย กระทบการทำตลาดของเกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาอย่างต่อเนื่อง 

“หลายปัจจัยกระทบต่อเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะต่างจังหวัดประสบภาวะหนี้ซ้อนหนี้ จากการถูกเชิญชวนให้นำเงินในอนาคตมาใช้ การจ่ายผ่านบัตรต่างๆ เมื่อยิ่งส่งเสริมการใช้จ่าย ทำให้คนไทยเกิดปัญหาหนี้สะสมยาวนาน เงินในกระเป๋าลดลง ดังนั้นจะเห็นภาพค้าปลีกต่างจังหวัดส่วนใหญ่มีแต่คนเดิน แต่คนซื้ออาจไม่มากนัก หรือไม่มากเท่าเดิม”

อีกปัจจัยที่ต้องจับตามองคือ สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวเช่นกัน กำลังส่งผลกระทบต่อคนระดับกลางของประเทศแล้ว!

สภาวะดังกล่าวทำให้ภาพรวมร้านค้าโชห่วยทั่วประเทศจำนวนหลายแสนร้านค้า ยอดขายชะลอตัว 20-30%  โดยแนวทางที่อยากให้ภาครัฐเร่งผลักดัน นั่นคือ การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบาย ดิจิทัล วอลเล็ต ควรปรับให้เศรษฐกิจฐานรากได้รับผลประโยชน์มากที่สุด 

รวมถึงการมีมาตรการทางภาษีอย่างจริงจังสำหรับสินค้านำเข้า เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ ซึ่งประเทศไทย เศรษฐกิจหลักมาจากภาคเกษตรกร ปัจจุบันเผชิญการแข่งขันสูงมาก มีสินค้าเกษตรราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาชิงตลาด กระทบการขาย และรายได้ลดน้อยลง ทั้งยังกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ รัฐควรมีนโยบายส่งเสริมจ้างงานผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สอดรับกับประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เมื่อมีการจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นจะยิ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และภาครัฐไม่ต้องใช้งบประมาณไปอุดหนุนด้านนี้มากนัก

สินค้าจำเป็นยังขายได้-แฟชั่นแข่งแรง

เวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ร้านค้าในต่างจังหวัดมีการปิดตัวลง ซึ่งหากพิจารณารายละเอียดจะเห็นภาพการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมีความยากมากขึ้น ประสิทธิภาพในการทำธุรกิจสำคัญ รวมถึงวินัยทางการเงินด้วย

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ขายสินค้าอุปโภคบริโภคในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ยังอยู่ในทิศทางที่ดี เพราะผู้บริโภคจำเป็นต้องกิน และใช้ ทำให้ภาพรวมยอดขายของบริษัทไม่ตกลง 

ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลัง ซึ่งเข้าสู่ฤดูฝนเป็นโลว์ซีซันของการค้าขาย ถือเป็นเรื่องปกติที่จะมีผลต่อธุรกิจ ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรไม่ดี อาจเป็นตัวแปรที่ทำให้ผู้บริโภคมีเงินน้อยลงได้ ด้านหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ผู้บริโภคต้องบริหารจัดการ เช่น ซื้อรถ ซื้อมือถือน้อยลง เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายสินค้าจำเป็น เช่น รับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น

เวทิต โชควัฒนา

ด้าน สุรัตน์ วงศ์รัตนภัสสร กรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า สินค้าแฟชั่นเผชิญการแข่งขันสูงจากแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นระดับโลก พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เดินห้างค้าปลีกลดลง เศรษฐกิจโลก และไทยชะลอตัว ทำให้เงินในกระเป๋าผู้บริโภคลดลง หลายส่วนมองเป็นอุปสรรค แต่บริษัทมองเป็นโอกาสปรับตัว สร้างการเติบโต ทั้งเขย่าโครงสร้างธุรกิจ การนำนวัตกรรมมาใช้ การขยายช่องทางจำหน่าย

“แนวโน้มครึ่งปีหลังนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น สินค้าวาโก้ ลาคอสต์น่าจะขายดี และรัฐบาลจะมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้คนมีเงินจับจ่ายใช้สอย สินค้าอุปโภคบริโภคขายดีขึ้น อย่างผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่บริษัททำตลาดซึ่งมีความคุ้มค่าราคา”

หวังมาตรการรัฐ-แรงหนุนทัวริสต์

สมพล ตรีภพนารถ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของหลายฝ่ายนั้น เชื่อว่าหากภาครัฐสามารถขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ได้ตามแผน รวมถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต และแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากยุโรป และตะวันออกกลาง ที่ยังนิยมเข้ามาท่องเที่ยวไทย จะสร้างบรรยากาศการใช้จ่าย กระตุ้นธุรกิจต่างๆ ให้กลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้ง

สมพล ตรีภพนารถ

“ภาพรวมบริษัทยังสร้างการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และพาราไดซ์ พาร์ค ยอดทราฟิกเติบโต มีสัดส่วนลูกค้าเป็นคนไทย 60% ต่างชาติ 40%”

สำหรับแนวโน้มค้าปลีกมีทิศทางขยายตัวที่ดีขึ้นจากกลุ่มลูกค้าคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งบริษัทมุ่งจัดกิจกรรมเข้มข้นทุกสัปดาห์ ดึงแบรนด์ใหญ่เข้ามาเปิดในพื้นที่ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค อีก 2-3 แบรนด์ ร่วมสร้างบรรยากาศกระตุ้นลูกค้าหมุนเวียนมากขึ้น

เพิ่มความถี่ Easy e-Receipt เดินหน้าลงทุน

ชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย ได้นำเสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และกำลังซื้อต่อภาครัฐ ด้วยการเพิ่มความถี่มาตรการ Easy e-Receipt มากกว่า 1 ครั้งต่อปี เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งที่ผ่านมาเป็นมาตรการที่ได้ผลตอบรับดีมากสร้างเม็ดเงินสะพัดมากกว่า 50,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ สมาคมฯ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกศูนย์การค้า 12 ราย มุ่งเดินหน้าจัดแคมเปญ และอีเวนต์การตลาดต่อเนื่อง เพื่อสร้างบรรยากาศให้มีความคึกคัก พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี ให้มีช่องทางจำหน่ายสินค้า โดยศูนย์การค้าต่างๆ ได้เปิดพื้นที่ฟรีให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร และชุมชน เข้ามาจำหน่ายสินค้า สร้างการเติบโตไปพร้อมกัน

ในด้านการลงทุนสมาชิกมีแผนขยายโครงการศูนย์การค้าเพิ่ม 18 โครงการ ใน 7 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2573 รวมมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน และกระจายรายได้ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...