วิกฤติเศรษฐกิจลาม‘บิ๊กคอร์ป’ เร่งบาลานซ์ลงทุน คุมความเสี่ยงธุรกิจ

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงต่อเนื่อง ล่าสุดธนาคารโลกปรับลดหั่นประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงอีกครั้งเหลือ 2.4% หลังจากเพิ่งหั่นเหลือ 2.8% ในการอัปเดตเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการชัดเจน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบชัดเจนทั้งยอดขายที่ปรับตัวลง รวมถึงภาระหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น ไตรมาส 1 ปี 2567 พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องถึง 63.9% ทั้งจำนวนหนี้สินและภาระชำระหนี้ระดับสูง ความกังวลต่อภาคธุรกิจกำลังขยายไปสูงบริษัทขนาดใหญ่หรือ “บิ๊กคอร์ป

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน บางจากต้องสร้าง “บาร์ลานซ์” แผนลงทุน โดยการดำเนินธุรกิจของบางจากปกติจะดูแผนดำเนินการและมองเทรนด์ธุรกิจระยะยาวอยู่แล้ว 

ส่วนระยะสั้นจะดูปัจจัยที่มีผลให้เกิดความผันผวน เช่น ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่เคยอยู่ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปรับตัวขึ้นมาระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดังนั้น การดำเนินธุรกิจระยะสั้นบางจากต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา พร้อมมองแนวโน้มระยะยาวด้วยว่าจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ จะบาลานซ์การลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ในประเทศเดินหน้าลงทุนธุรกิจก่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนจากน้ำมันพืชใช้แล้ว (SAF) โดยบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด ร่วมทุนระหว่างบางจาก, บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด และบริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) ลงทุนเบื้องต้น 10,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายจะเสร็จต้นปี 2568

นายชัยวัฒน์ กล่าวถึง ทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง 2567 จะดีขึ้นจากครึ่งปีแรกผลจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า 7 เดือน และการเบิกจ่ายสะสมมาถึงปัจจุบัน ขณะนี้เริ่มเบิกจ่ายงบประมาณได้แล้วเชื่อว่าโมเมนตัมจะเปลี่ยนทิศทาง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ผ่านมามีเครื่องยนต์เศรษฐกิจ 2 ตัวหลักที่หายไป คือ 1.การลงทุน 2.การใช้จ่ายภาครัฐ 

ดังนั้น เมื่อเครื่องยนต์ 2 ตัวนี้ เติมเข้าระบบเศรษฐกิจ จึงคิดว่าโมเมนตัมครึ่งปีหลังจะดีขึ้น และเมื่อเกิดการลงทุนทั้ง 2 ส่วน จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และทำให้เศรษฐกิจทยอยปรับตัวดีขึ้น รวมถึงรัฐบาลมีนโยบายสร้างแรงกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจึงเชื่อว่าเศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้น

“สหวิทยา” ระมัดระวังบริหารธุรกิจ

นายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ ในฐานะรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากที่เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร กระทบต่อเอสเอ็มอีปัจจุบันต้องปิดโรงงานลงสหวิริยาฯ มองว่าผลกระทบดังกล่าวกระทบกลุ่มบริษัทฯ ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เนื่องจากเอสเอ็มอีเป็นลูกค้าบริษัทฯ โดยขณะนี้เอกชนได้หารืออย่างเข้มข้น เพราะมองว่าเศรษฐกิจไทยเปราะบาง แม้ยังเติบโตได้แต่อยู่ระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอาเซียน ดังนั้นจึงต้องการบริหารองค์กรอย่างระมัดระวัง

“การบริหารธุรกิจช่วงนี้ต้องบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวัง จากยอดการปิดโรงงานตามข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก แม้จะเปิดโรงงานใหม่เข้ามาเสริมก็ยังน่าเป็นห่วง แต่เชื่อวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่ถึงขั้นต้มยำกุ้ง ถ้าถึงขั้นนั้นจริงๆ จะตายกันหมดแน่” นายนาวา กล่าว

อีกตัวแปรสำคัญ คือ งบประมาณรัฐต้องเร่งเบิกจ่าย จะเห็นว่าเมื่อประเทศมีหนี้ครัวเรือนสูงมาก และยอดขายอสังหาริมทรัพย์ลดลง 10% ยอดขายรถยนต์ลดลง 20% ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่าอาจถึงขั้นวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยส่วนตัวหวังว่าจะไม่ถึงขั้นนั้นเพราะพื้นฐานไทยยังแข็งแกร่งและไม่ถึงกับแย่ 

แต่ที่น่าเป็นห่วงเฉพาะเอสเอ็มอียังเดือดร้อนการเข้าถึงแหล่งเงิน ซึ่งรัฐบาลพยายามช่วยเหลือทั้งอัตราดอกเบี้ยขณะที่ธนาคารไทยน่าจะเริ่มปรับตัวมากขึ้น และเห็นความสำคัญของลูกค้าชั้นดีหลายรายที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขมานาน

“อิมแพ็ค”ชูจุดแข็งฝ่าต้นทุนร้านอาหารพุ่ง

นายพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจของอิมแพ็คครึ่งแรกปีนี้โตตามเป้าหมาย เมื่อดูเฉพาะกลุ่มธุรกิจให้เช่าพื้นที่จัดงานไมซ์ (MICE: การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) งานจัดเลี้ยงและคอนเสิร์ต พบมีงานเข้ามาจัดจำนวนมาก ปัจจุบันมีอัตราการเช่าพื้นที่ 50%

ส่วนกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ได้รับผลกระทบจากต้นทุนปรับสูงขึ้น ต้องปรับกลยุทธ์หารายได้เพิ่ม รวมถึงแก้สูตรอาหารให้อร่อยถูกปากผู้บริโภค วางแผนงานครัว ยกระดับโปรดักต์ทั้งปัจจุบันและออกใหม่ รองรับตลาดบนเพื่อเพิ่มรายได้

แนะเอสเอ็มอีโฟกัสสิ่งที่แข็งแรง ทำได้ดี

สำหรับเอสเอ็มอี ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบหากมองในมุมผู้ประกอบการงานแสดงสินค้า พบว่า งานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ เช่น ไทยเฟ็กซ์เดือน พ.ค. มีผู้ออกบูธทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก เอสเอ็มอีมาออกงาน ดูงาน ดูนวัตกรรม เพื่อนำไปต่อยอดและพาธุรกิจไปรอด

“ในมุมบิ๊กคอร์ป มองว่ายุคที่เอสเอ็มอีเผชิญความท้าทายจากปัญหากำลังซื้อเศรษฐกิจฐานราก จำเป็นต้องโฟกัสสิ่งที่เราแข็งแรง อย่าทำเยอะหรือกระจัดกระจายเกินไป เพราะจะไปเจือจางความเอาใจใส่ ต้องมีความเฉพาะด้าน ทำตรงไหนแล้วทำได้ดี ขอให้โฟกัสตรงนั้นต่อไป”

“วีรันดา” อัดโปรฯ ตรึงกำลังซื้อคนไทย

นายภวัฒก์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่โต้ไปกับคลื่นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเดินทางเข้าไทยสะสมกว่า 17.5 ล้านคน จากเป้าหมายตลอดปีนี้ของภาครัฐตั้งไว้ไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน 

สำหรับโรงแรมเครือวีรันดา นอกเหนือจากฐานลูกค้าหลักอย่างจีน เกาหลี และยุโรปตะวันตกที่ขยายตัวดีแล้ว ยังเน้นเจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ กระจายความหลากหลายตลาด เช่น ยุโรปตะวันออก ไต้หวัน ออสเตรเลีย และอื่นๆ มั่นใจว่าจากหลายกลยุทธ์ที่ทำไปเมื่อปีที่แล้ว จะเริ่มตอบโจทย์ธุรกิจปีนี้โดยเฉพาะไฮซีซันไตรมาส 4 และต่อเนื่องไปถึงปีหน้า

ส่วนปัญหาเศรษฐกิจไทย อาจกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศบ้าง คนไทยเดินทางด้วยความถี่น้อยลง ทำให้โรงแรมในเครือต้องสร้างความแตกต่างในเชิงกิจกรรมทางการตลาด ล่าสุดมีโปรแกรมผ่อน 0% และคิดว่าน่าจะเป็นกลุ่มโรงแรมเดียวที่เสนอโปรโมชันแบบนี้ให้ลูกค้า เพื่อสนับสนุนกำลังซื้อคนไทยที่อยากเที่ยว แต่จ่ายไม่ไหว

เซ็นทรัลพัฒนาเดินหน้าลงทุน-ปลุกใช้จ่าย

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเซ็นทรัลพัฒนาได้สร้างโมเมนตัมร่วมปลุกเศรษฐกิจและกำลังซื้อตลอดปี ผ่านแคมเปญโปรโมชั่นและจัดอีเวนต์ใหญ่ เพื่อสร้างบรรยากาศในการใช้จ่ายของลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติ ประเมินไตรมาสสุดท้ายสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้น

ครึ่งปีหลังเตรียมทุ่มงบจัดบิ๊กอีเวนต์ระดับโลก อาทิ นิทรรศการ ฮิโรโนะ ครั้งแรกในกรุงเทพฯจากป๊อปมาร์ท, งานดิสนีย์ เอ็กซ์โป ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย ที่เซ็นทรัลเวิลด์ งานส่งเสริมเทศกาลสำคัญของจังหวัดทั้งในเมืองหลัก-เมืองรอง แคมเปญใหญ่ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ งานเคานต์ดาวน์ 2025

ซีพีเอ็กซ์ตร้ามองยาวเดินหน้าลงทุน

รายงานข่าวจาก บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง แม็คโคร-โลตัส ระบุว่า นโยบายบริษัทมุ่งลงทุนและขยายสาขาใหม่เพื่อสร้างเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ พร้อมส่งเสริมการจ้างงานใหม่ตามยุทธศาสตร์ระยะยาว ร่วมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแกร่ง

นายธนิศร์ เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจค้าส่งแม็คโคร ประเทศไทย เคยกล่าวว่า มั่นใจต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ที่มีแรงหนุนจากการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว การใช้จ่ายโดยรวมคึกคักตามไปด้วย แผนบริษัทยังลงทุนขยายสาขาใหม่ รีโนเวทสาขาให้สอดรับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการจ้างงานใหม่

ธุรกิจฐานรากอ่อนแอ ลามบิ๊กคอร์ป

นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT) กล่าวว่า เศรษฐกิจกำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัวกระทบต่อธุรกิจฐานราก เอสเอ็มอี แต่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่หรือบิ๊กคอร์ป ได้รับกระทบเช่นกัน หากข้อแตกต่าง คือ มีสายป่านที่ยาว แต่หากกิจการรายใหญ่ตั้งอยู่บนรากฐานที่ไม่แข็งแกร่ง อาจเผชิญความยากลำบากได้

ทั้งนี้ บิ๊กคอร์ปต้องช่วยส่งเสริมฐานราก มี 2 มิติ คือ ยักษ์ใหญ่ผนึกพันธมิตรไปลุยต่างประเทศ แต่สิ่งที่เห็น คือ บิ๊กคอร์ปไม่มีความร่วมมือกันเอง เพราะโมเดลธุรกิจใกล้กัน อยู่ในตลาดไทยเป็นเซ็กเตอร์เดียวกัน อีกด้านคือมีทีมไทยแลนด์ที่จับมือกัน ขยายตลาดต่างประเทศควรพ่วงเอสเอ็มอีไปด้วยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสเติบโต

แนะ “เปลี่ยน-นวัตกรรม” เสริมแกร่ง

นอกจากนี้ เพื่ออยู่รอด บิ๊กคอร์ปยังต้องทำ 2 อย่าง คือ 1.เปลี่ยนแปลงปรับตัว หรือ Change และ 2.ใช้นวัตกรรมเข้าเสริมแกร่ง รวมถึงทรานส์ฟอร์มสู่สิ่งที่อยากเป็น

“จะบริษัทเล็ก กลาง ใหญ่เชนจ์ และนำนวัตกรรมมาทรานส์ฟอร์มธุรกิจเป็นคัมภีร์สำคัญ ถ้าไม่มีนวัตกรรมจะไม่สามารถทำของใหม่ๆได้ เศรษฐกิจแบบนี้ควรทำเป็นกลุ่มด้วย”

เสนาฯ ผุดโมเดลเช่าออมบ้านช่วยลูกค้า

นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทยังคงโฟกัสตลาดราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท เพราะเป็นดีมานด์หลักของตลาดอสังหาริมทรัพย์ คนกลุ่มนี้มีรายได้ไม่ถึง 50,000 บาทต่อเดือนซึ่งปัจจุบันประสบปัญหากู้ไม่ผ่านกว่า 70% ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างมุ่งทำตลาดบ้านราคาแพงล่าสุดตลาดเริ่มเข้าสู่ภาวะโอเวอร์ซัพพลาย

ในฐานะผู้ประกอบการต้องปรับตัวต่อเนื่อง ทำโปรดักต์ Rent to Own หรือ เช่าออมบ้าน เปลี่ยนค่าเช่าลูกค้าเป็น “เงินออม” ใช้หักเงินต้นให้เข้ากับสถานการณ์และช่วยเหลือลูกค้าให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...