คุ้ย "งบสภาฯ" ค่าอาหาร “108ล้าน”  สวัสดิการ"ผู้ทรงเกียรติ”จัดเต็ม 

จากกรณีที่ดราม่ากลางโซเชียล ระหว่าง สส.ชาย จากพรรคภูมิใจไทย โพสต์ภาพลงสตอรี่อินสตาแกรม พร้อมข้อความว่า "พบเห็นอดีตดาราสาว นำลักลอบนำอาหารสภากลับบ้าน" เมื่อค่ำวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา

 

ต่อมา “หมิว” สิริลภัส กองตระการ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ออกมายอมรับว่าเป็นตนเอง พร้อมโพสต์ข้อความตอบโต้ว่า “อาหารที่เหลือมากมายหลังปิดประชุม หากไม่ห่อกลับบ้าน เจ้าหน้าที่ต้องแจกจ่ายอยู่แล้ว ซึ่งหมิวใช้สิทธิตามที่มี และเป็นคนที่อยู่จนเลิกประชุมทุกครั้ง”

 

พร้อมตั้งคำถามว่า “อาหารที่เตรียมไว้ให้ตามจำนวน สส. หากมี สส.เข้าประชุม อาหารจะเหลือแบบนี้หรือ?”

ทว่า เรื่องนี้ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นความไม่พอใจส่วนตัว หรือความไม่พอใจระหว่างพรรคการเมืองหรือไม่ และจะกลายเป็นประเด็น “จ้องเอาคืน” กันภายหลังหรือไม่

 

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ในการประชุมสภาฯ ช่วงเช้าวันที่ 7 ก.ย. “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาคนที่สอง ชี้แจงกับ สส.ที่หารือและตั้งคำถามถึงกฎระเบียบว่า “สส.ห่อข้าวสภา กลับบ้านทำได้หรือไม่”

 

คำตอบที่ “พิเชษฐ์” ให้ไว้และต้องถือเป็นบรรทัดฐานในครั้งต่อไปคือ “ไม่มีกฎหมายใดห้าม สามารถนำข้าวสภาฯ ที่เหลือหลังจากปิดประชุมห่อกลับบ้านได้ หรือนำไปแบ่งให้กับทีมงาน ผู้ช่วย ผู้ติดตาม สส.รับประทานได้ เพราะที่ผ่านมาเคยมีอาหารเหลือจนเน่ามาแล้ว”

อย่างไรก็ดี ปม “สส.นำข้าวสภากลับบ้าน” ใช่ว่าจะเกิดขึ้นในยุคนี้ เป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ ในสภาฯ ชุดที่ผ่านมา เคยมีกรณีที่ “สส.ห่อข้าวกลับบ้าน” เช่นกัน จนเจ้าแม่สภาฯ อย่าง “รังสิมา รอดรัศมี" อดีต สส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ต้องออกมาโวยหลายครั้ง หลังประชุมเสร็จแล้วไม่เหลืออะไรว่า “สส.ยังไม่ทันได้กิน ก็มีคนนำข้าวสภาใส่ถุงกลับบ้านแล้ว”

สำหรับการจัดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อรับรอง สส.ในวันที่มีประชุมสภาฯ และรับรองสมาชิกรัฐสภา ในวันที่มีประชุมร่วม อยู่ภายใต้การดำเนินการของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ โดย งบประมาณประจำปี 2566 จัดสรรค่าอาหารเลี้ยงรับรอง สส.ในวันประชุม รวม 72,031,000 บาท

 

สำหรับ “มื้อจัดเลี้ยง” นั้น ตามระเบียบสภาฯ กำหนดว่าต้องจัดเลี้ยงและรับรองอาหาร 2 มื้อ คือ อาหารกลางวัน อาหารเย็น และมีอาหารว่างช่วงเช้า นอกจากนั้น หากกรณีที่ประชุมสภาฯ เลิกหลัง 20.00 น.จะมีมื้อพิเศษคืออาหารค่ำและอาหารรอบดึก เพิ่มเติม

 

หากหารเฉลี่ยแล้ว สส.จะมีค่าอาหารต่อวัน 1,000 บาทต่อ 1 คน

นอกจากอาหารเลี้ยงรับรอง สส.ในวันประชุมสภาฯ แล้ว ตามงบประมาณปี 2566 ยังมีงบฯ เพื่อจัดหาอาหารเลี้ยงรับรอง “กรรมาธิการ" (กมธ.) ของสภาฯ ที่ได้รับจัดสรรอีก 34,846,100 บาท และอาหารรับรองคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน อีก 1,260,000 บาท

ดังนั้น หากวันประชุม สส.มีประชุม กมธ.ก็สามารถรับประทานอาหารได้ทั้ง “ห้องอาหาร“ และ "ห้อง กมธ.”

 

รวมเบ็ดเสร็จ "ค่าอาหารสภาฯ” ที่รวมทั้ง กมธ. วิปฝ่ายค้าน และ สส.ในวันประชุม ตลอดปีงบประมาณ 2566 มียอดรวมทั้งสิ้น 108,137,100 บาท 

 

ทว่า ขณะนี้การใช้จ่ายของสภาฯ  ชุดที่ 26 ถือว่าตกกรอบของปีงบประมาณ และยังไม่มีงบประมาณตัวใหม่ให้ใช้สอย ดังนั้น จึงต้องใช้เงินที่เหลือจากสภาฯ ชุดที่ผ่านมาไปก่อน

นอกจากค่าอาหารรับรองแล้ว สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ยังจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็น “สวัดิการ" ดูแล สส. อีกหลายรายการ ทั้งค่าเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่าพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล ประกอบด้วย

1.ค่าเบี้ยเลี้ยง เช่าที่พัก ค่าพาหนะของ สส.ปี 2566 จำนวน 81,531,400 บาท

2.ค่าเบี้ยเลี้ยง เช่าที่พัก ค่าพาหนะของ กมธ.ปี 2566 จำนวน 47,492,100 บาท

3.ค่ารับรองในตำแหน่งประธานรัฐสภา และรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง และคนที่สอง รวม 8 ล้านบาท

4.ค่ารับรองผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ รวม 2 ล้านบาท

5.ค่าเดินทางไปต่างประเทศของประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ รวม 4 ล้านบาท

6.ค่าเดินทางไปต่างประเทศของผู้นำฝ่ายค้าน 1 ล้านบาท

7.ค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการทำงานของ กมธ. จำนวน 52,500,000 บาท

8.ค่าจัดสัมมนาของ กมธ. 39,375,000 บาท

9.ค่าจัดสัมมนาของ กมธ.วิสามัญ 3,375,000 บาท

10.ค่าเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่ภายในประเทศของ กมธ. 31,500,000 บาท

11.ค่ารับรองปฏิบัติหน้าที่ในประเทศของ กมธ.วิสามัญ 12 ล้านบาท

12.ค่าดูงานต่างประเทศของ กมธ. 49,525,400 บาท

ส่วนค่ารักษาพยาบาล สส. สามารถเข้ารับบริการได้ทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน โดยมีเกณฑ์เบิกจ่าย อาทิ 

 

กรณีผู้ป่วยใน ได้ค่าห้องรวมค่าอาหาร 4,000 บาทต่อวัน แต่ไม่เกิน 31 วันต่อครั้ง ค่าห้องไอซียู 10,000 บาทต่อครั้ง สูงสุด 7 วันต่อครั้ง ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป 1 แสนบาทต่อครั้ง เป็นต้น 

 

กรณีผู้ป่วยนอก ค่ารักษาพยาบาลทั่วไปไม่เกิน 9 หมื่นบาทต่อปี อุบัติเหตุฉุกเฉินไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อครั้ง ค่าทันตกรรม 5,000 บาทต่อปี และยังมีค่าตรวจสุขภาพประจำปี ไม่เกิน 7,000 บาท

 

ขณะที่ อดีต สส. ยังมีสวัสดิการตามกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งงบประมาณปี 2566 ขอจัดสรรเงินอุดหนุนไว้รวม 157 ล้านบาท

 

ขณะที่เงินเดือน เงินเพิ่มของ สส.นั้น จะได้รับเดือนละ 113,560 บาท ส่วน สส.ที่มีตำแหน่งประธานสภาฯ จะได้เงินเดือนและเงินเพิ่ม รวม 125,590 บาทต่อเดือน รองประธานสภาฯ และผู้นำฝ่ายค้าน ได้รับ 115,740 บาทต่อเดือน

 

ส่วนเบี้ยเลี้ยงของ กมธ.นั้น ตามระเบียบของสภาฯ กำหนดให้ได้รับ 1,500 บาทต่อวัน หากเป็นการประชุมอนุ กมธ.จะได้รับ 800 บาทต่อวัน

 

ดังนั้น คนที่ลงเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็น สส.เข้ามาทำงานในสภาฯ จึงถูกคาดหวังว่าจะทำงานคุ้มค่าเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง และสวัสดิการ จากเงินภาษีของประชาชนที่ต้องจ่ายให้ผู้แทนราษฎรที่ทรงเกียรติ.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'นิคมโรจนะ'โซนอันตรายเหลือขายสูงสุดมูลค่า1.7หมื่นล้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจอุปทานโดยรวมภาคกลาง ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั...

ตลาดหุ้นสหรัฐแทบไม่ขยับ นักลงทุนชะลอซื้อหลังดัชนีพุ่งแรงวันก่อน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้น...

เจาะพอร์ต 5 เซียนชื่อดัง ถือหุ้นปันผลสูงเกิน 5% รวม 18 หลักทรัพย์

การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ในทุกปัจจัยอย่างละเอียด ซึ่งม...

น้ำนมดิบอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (...